Parallel // ขนาน: จักรวาล คณิตศาสตร์ สังคมการเมืองและศิลปะ

LONGTRUK: Openlab #11

บทความโดย ผิว มีมาลัย

  • Parallel // ขนาน คือหัวข้อที่กล่าวถึงในครั้งนี้ แต่ก่อนที่เราจะไปถึงรายละเอียดต่างๆในหัวข้อนั้น เรามาทำความเข้าใจร่วมกันว่า บทความต่อไปนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดการทดลอง การแสวงหาความรู้และการสร้างกระบวน การเรียนรู้ข้ามศาสตร์สำหรับนักศึกษาทัศนศิลป์ และในวงเล็บสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจพื้นที่คู่ขนานในสังคมร่วมสมัยอีกด้วย

โดยอาศัยวิธีวิทยาและแนวทางศึกษาจากผลงานของมิเซล ฟูโกต์ อันได้แก่ โบราณคดีแห่งความรู้ (The Archeology of Knowledge) และ วงศาวิทยา (Genealogy) เพื่อรื้อสร้าง เปิดโปง ลำดับชั้นทางความคิดที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และเผยให้เห็นกระบวนทัศน์เบื้องหลังการสถาปนาความจริง กรอบความคิดในลักษณะนี้ ต้องการอธิบายประวัติศาสตร์ของความคิด ความรู้ ว่าไม่ใช่การค้นพบความจริงเกี่ยวกับความรู้นั้นๆ หากเป็นเพียงการสะสมและการแตกหน่อ เป็นการแตกแขนงของชุดความรู้ที่ส่งต่อๆกันไปเหมือนการสืบสายทายาทวงศ์วาน ชุดความรู้หนึ่งจะถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานให้ชุดความรู้อีกชุดหนึ่งปรากฏเสมอ ความรู้จึงมิได้มีอยู่ด้วยตัวมันเองมันต้องอาศัยความรู้เดิมเป็นเชื้อเป็นหน่อให้มันเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์


ความรู้จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ปรากฏขึ้นและส่งต่อด้วยหลากหลายวิธี ฟูโกต์ชี้ว่าการทำความเข้าใจแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เรามองประวัติศาสตร์แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นประวัติศาสตร์ของ ฟูโกต์จึงมิใช้หลักฐานของการมีอยู่ของความจริงซึ่งเป็นผลผลิตของยุคเหตุผล หรือยุคแห่งการรู้แจ้งทางปัญญา(Enlightenment) ที่อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสร้างทฤษฏีของความจริง ดังนั้นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์จึงเป็นการวิเคราะห์อำนาจของวิทยาศาสตร์ที่บ่งการความจริงเท่านั้น และไม่มีความจริงใดๆ ที่ซ้อนอยู่ภายใต้ความรู้เนื่องจากความจริงเป็นเพียงผลผลิตของอำนาจที่ใช้สถาปนาความรู้ก็เท่านั้น และเป็นอำนาจที่พยายามทำให้เราเชื่อว่ามันเป็นธรรมชาติอันแท้ทรู

Parallel // ขนาน

ความหมายตามราชบัณฑิตยสถาน ขนาน ๑[ขะหฺนาน] น. หมู่ ลักษณะนามเรียกยาที่ปรุงขึ้น เช่น ยาขนานหนึ่ง ยา ๒ ขนาน.[ขะหฺนาน] ก. เรียงคู่กันไป เช่น เรือแล่นขนานกันไป วิ่งขนานกัน หรือเรียกเรือที่ผูกหรือตรึงติดเรียงคู่กันสำหรับข้ามฟาก ว่า เรือขนาน แพขนาน-ยนต์เรียก การตั้งชื่อ เช่น ขนานนาม ว่า ตั้งชื่อ. เช่นอิเหนาเมาหมัด น. เรียกเส้นตรงคู่ใด ๆ ซึ่งอยู่ห่างกันเป็นระยะเท่ากันโดยตลอด ว่า เส้นขนาน หรือเรียก ขฺนาน ว่า เทียบ

เมื่อพิจารณาคำว่า ขนาน ในเชิงภาษาจะพบว่า ขนาน บ่งชี้ถึงจำนวนที่มากกว่า 1 เสมอ ในคำคุณศัพท์ (adj) คำนาม (n.) และ กริยาที่ต้องการกรรม (Transitive Verbs) ขนานให้ความหมายว่า เท่าเทียมกัน เสมอกัน และการเปรียบเทียบ

  • parallel (adj.คุณศัพท์) ขนาน,เสมอ,เท่าเทียมกัน
  • parallel (n.นาม) เส้นขนาน,การเปรียบเทียบ
  • parallel (VT.กริยาต้องการกรรม) เสมอกัน,เปรียบเทียบ

คำว่า Parallel // ขนาน ถูกใช้อธิบายความรู้อย่างกว้างขวางในหลายสาขาวิชา นอกจากเพื่อขนานตัวมันเองแล้ว มันยังทำหน้าที่อธิบายจักรภพอีกเสียด้วย เช่น คำว่า parallel universe (จักรวาลขนาน) parallel universe นั้นถูกเรียกอีกอย่างว่า parallel dimension (มิติขนาน)


ในกรณีนี้ไม่ว่า dimension หรือ universe นั้นมีสิ่งขนานอยู่ไม่ว่าเราจะรับรู้มิติอื่นนอกเหนือการรับรู้ของมนุษย์หรือไม่ก็ตาม parallel universe (จักรวาลขนาน) ปรากฏในแนวคิดพุทธปรัชญาในมโนทัศน์เรื่องจักรวาลวิทยาจากคัมภีร์สุตตันตปิฎก มีการระบุถึงโลกธาตุอื่นๆ ว่ามีอยู่เป็นจำนวนมากในหมื่นจักรวาลนี้ พระพุทธเจ้าจะทรงเกิดขึ้นในประเทศส่วนกลางแห่งชมพู-ทวีป ในจักรวาลนี้เท่านั้น (มหาโควินทสูตร : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ – 84000 พระธรรมขันธ์) คำกล่าวที่ว่า “มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น” ได้ก้าวข้ามตอบคำถามที่ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ไปเรียบร้อยแล้ว

ภาพจักรวาลวิทยา ที่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

ปัจจุบันมีผู้ที่ให้ความสนใจศึกษา parallel universe (จักรวาลขนาน) อย่างจริงจังท่านหนึ่งคือ Brian Greene (b.1963-) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ทฤษฏี (theoretical physicist) นักคณิตศาสตร์(mathematician)และ นักทฤษฎีสตริง(string theorist) แห่งมหาวิยาลัย Columbia University, New York


Greene ขนานลักษณะการซ้อมทับของโลกธาตุที่คลอบคุมทั้งหมดของ พื้นที่ เวลา สะสาร พลังงาน ข้อมูล(information) กฎฟิสิกส์และค่าคงที่รวมกันว่า multiverse (เป็นการสมาสคำ 2 คำคือ Multi (uni)verse) ซึ่งอธิบายความมีอยู่ของโลกธาตุอื่นๆ ด้วยฟิสิกส์ทฤษฏีการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์

The Hidden Reality: Parallel Universes and the Deep Laws of the Cosmos

เมื่อพูดถึงนักฟิสิกส์ทฤษฏี โดยมากหลายๆคนรู้จักพวกเขาพอสมควร คือเมื่อเอ่ยชื่อขึ้นมาทุกคนต้องร้องอ๋อ… ตัวอย่าง 3 ท่าน เช่น Galileo Galilei (b.1564 – 1642) ใครชอบกินแอปเปิ้ลน่าจะรู้จักคนนี้ Isaac Newton (b.1643- 1727) และคนนี้สุดติ่งทุกคนรู้จักดีในภาพชายสูงวัยผมเผ้ากระเซิงและผูกเชือกรองเท้าไม่เป็น Albert Einstein (b.1879- 1955) ซึ่งลักษณะเช่นนี้พวกนักศึกษาศิลปะเรียกว่า “เซอร์

เราลองมาดูกันว่าทำไมนักฟิสิกส์ทฤษฏีจึงโหยหา Imagination กับคำกล่าวที่ว่า“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” วลีทองของ Einstein ได้ถูกบิดเบือนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะกับระบบการศึกษาด้านทัศน์ศิลป์ในประเทศไทย


ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ของการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยบางแห่ง ผู้เขียนเคยประสบกับตัวเองที่นักศึกษาพูดขึ้นว่า”โถ…จารย์ไม่เห็นต้องอ่านเลยหนังสือ…จินตนาการสำคัญกว่าความรู้นะจารย์” ต้องเข้าใจว่านักฟิสิกส์ทฤษฏีทุกคนเป็นนักคณิตศาสตร์


Galileo (b. 1564- 1642) กล่าวไว้ว่า “พระเจ้าเป็นนักคณิตศาสตร์” ดังนั้นมนุษย์จะเข้าใจธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างได้ก็โดยใช้คณิตศาสตร์เท่านั้น เนื่องจากคณิตศาสตร์ใช้ตรรกศาสตร์สัญลักษณ์และสัญกรณ์คณิตศาสตร์ ซึ่งทำให้กิจกรรมทุกอย่างกระทำผ่านทางขั้นตอนและแบบจำลองที่ชัดเจนสัมบูรณ์(Absolute) โดยไม่จำเป็นต้องมีการอ้างถึงใดๆ จากโลกภายนอก นักคณิตศาสตร์หลายคนจึงทำงานเพื่อเป้าหมายเชิงสุนทรียภาพเท่านั้น G. H. Hardy (b.1877- 1947) แห่งวิทยาลัย Trinity มหาวิทยาลัย Cambridge มองว่าคณิตศาสตร์เป็นศาสตร์เชิงศิลปะมากกว่าที่จะเป็นศาสตร์เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้


แรงผลักดันในการทำงานของนักคณิตศาสตร์มีลักษณะไม่ต่างไปจาก ศิลปิน กวีและนักปรัชญา แน่นอนว่าศิลปินย่อมขาดซึ่งจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานมิได้ ฟิสิกส์ทฤษฏีก็เช่นกันแม้พวกเขาจะมีความรู้ที่จะสามารถเข้าใจพระเจ้าได้ มันจะดูย้อนแย้งไปไหมหากให้เรามาลองจินตนาการดูว่า พวกนักฟิสิกส์ทฤษฏีปราศจากจินตนาการเสียแล้ว พวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้ามีหน้าตาเป็นอย่างไร หนังสือ A Mathematician’s Apology ของ Hardy แสดงให้เห็นถึงสุนทรีนยะภาพซึ่งคณิตศาสตร์ คือ ราชินีแห่งวิทยาศาสตร์และทฤษฏีจำนวน(Number theory) คือ ราชินีแห่งคณิตศาสตร์


หากใครอยากรู้จัก Hardy ให้ลองหาภาพยนตร์เรื่อง The Man Who Knew Infinity เรื่องราวของ Ramanujan (b. 1887-1920) หนุ่มชาวอินเดีย ผู้ไม่มีดีกรีการศึกษา ไม่มีฐานะร่ำรวย แต่เป็นผู้ชื่นชอบคณิตศาสตร์ ในช่วงปีค.ศ. 1914–18 ขณะทำงานวิจัยตีโจทษ์เกี่ยวกับทฤษฏีจำนวน และอนุกรมอนันต์(infinity) ที่มหาวิทยาลัย Cambridge มาดู

Ramanujan: Twelve Lectures on Subjects Suggested by his Life and Work ตีพิมพ์ในปี1940

ตอนนี้เรามาดู Parallel // ขนาน ในมิติทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม ผ่านแนวคิดของ อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci, b.1891- 1937) มาร์กซิสสายวัฒนธรรมกัน (Cultural Marxism) จะพบว่าในผลงานของ กรัมชี่ ปรากฏการใช้คำที่ให้ความหมายในลักษณะเดียวกับ Parallel // ขนาน ด้วยเช่นกัน

โดยกรัมชี่เลือกใช้คำว่า pairs หรือคู่ แทนคำว่าขนานเพื่อบ่งชี้ถึงจำนวนที่มากกว่า 1 เสมอ เช่นเดียวกัน หากพิจารณาเชิงคุณศัพท์ pairs หรือคู่ที่ กรัมชี่ ใช้แสดงให้เห็นว่า pairs หรือคู่นั้นมีคุณลักษณ์เท่าเทียมกันเสมอกัน


กรัมชี่ มักใช้คำนี้เพื่ออธิบายความสัมพันธ์เชื่อมกันตลอดเวลาระหว่างภาครัฐและประชาสังคม ตัวอย่างคำที่ใช้เป็น pairs หรือคู่ เช่น force-consent (การบังคับ-ยินยอมพร้อมใจ) authority-hegemony (อำนาจ-การครองอำนาจนำ) political society-civil society (สังคมการเมือง-การเมืองประชาสังคม) และอื่นๆ

กรัมชี่ เห็นว่าการปฏิวัติทางสังคมจะสำเร็จได้ต้องอาศัยแนวร่วมทางอุดมการณ์ที่ก่อตัวมาอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ นี้แหละ การเลือกใช้คำในงานเขียนของ กรัมชี่มีความน่าสนใจและเผยให้เห็นด้วยว่า แทบไม่มีมาร์กซิสคนใดก่อนหน้ากรัมชี่ ให้ความสนใจศึกษามิติที่เชื่อมโยงกันอยู่ระหว่างการเมืองและวัฒนธรรมเลย


ประวัติศาสตร์ขนาน ในงาน กรัมชี่ศึกษา (Gramsci study) กับขบวนการนักศึกษาในอดีตมันก็ Parallel // ขนาน และเชื่อมโยงอยู่กับปัจจุบัน มีบันทึกว่าผลงาน กรัมชี่ศึกษา เข้ามาสู่สังคมไทยครั้งแรกในนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปี 2516 ด้วยบทความเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของ Gramsci เขียนโดย สุรพงษ์ ชัยนาม


จากนั้นขนวนการเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา ที่มุ่งมั่นเดินทางลงพื้นที่ให้แสงสว่างกับคนชนบท และสนับสนุนให้เกิดการเรียกร้องกดดันให้รัฐแก้ความไม่ยุติธรรมทางกฎหมายและปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมาอย่างยาวนานหลังการรัฐประหาร (ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2516-2519) มีการรวมตัวกันประท้วงและเดินขบวนของกลุ่มคนชนบทและนักศึกษา


จนมาถึงฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การล้อมปราบ และเข่นฆ่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือข่าวแพร่สะพัดหรือสมัยนี้อาจเรียกว่า IO ว่า “มีคนใจร้ายจะเผาวัดบวรฯ” ขณะเดียวกับกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายขวาที่จัดตั้งแล้วเสร็จ เช่น กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนักเรียนช่าง และอื่นๆ รวมกันบุกเข้าต่อต้านขบวนการนักศึกษาจนเกิดการเผชิญหน้าทำร้ายนักศึกษาจนถึงขั้นเสียชีวิต และเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหลังจากที่นักศึกษาเข้าป่าการศึกษาพัฒนาทฤษฏีของ กรัมชี่ ได้ซบเซาตามไปด้วย


เหล่าปัญญาชนหัวก้าวหน้าไม่ได้ผลิตงานวิชาการที่ใช้แนวคิด/กรอบการศึกษาของ กรัมชี่ อย่างจริงจัง โดยส่วนมากจะให้สนใจมาร์กซิสในทฤษฎีของลัทธิเหมาและสตาลินมากกว่า เมื่อสมัยก่อนสัก 30 ปีที่แล้วการต้องอ่านมาร์กซิสทฤษฎีของลัทธิเหมาและสตาลิน ดูจะเป็นเรื่องน่าเบื่ออยู่พอสมควรหรือบ้างอาจรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว


การที่กรัมชี่เชื่อมโยงการเมืองและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน อธิบายให้เรามีความเข้าใจการเมืองได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมันถูกผลิตขึ้นซ้ำๆในชีวิตประจำวันของเราทุกคน

ในช่วง สองทศวรรษที่ผ่านมานี้ มีผลงานวิชาการไทยที่ใช้แนวคิด/กรอบการศึกษาของ กรัมชี่ มาประยุกต์ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม มากมายหลายชิ้นและน่าสนใจ เช่น ปีพ.ศ. 2541 ธเนศ วงศ์ยานนาวา เสนอบทความวิชาการเกี่ยวกับ กรัมชี่ โดยการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์นิยมของกรัมชี่ในแบบที่มนุษย์อย่างเราๆทุกคนเป็นผู้ที่สามารถสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ด้วยตนเองได้

ในปีพ.ศ. 2547 ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ เสนอผลงานวิทยานิพนธ์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ” เพื่ออธิบายการพยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำของชนชั้นนำไทย


ในปีพ.ศ. 2548 ประจักษ์ ก้องกีรติ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา โดยใช้แนวคิดการพยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำ เป็นหลักในการอธิบายการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในขณะนั้น

Art/Life: One-year performance, 1983-1984

ส่วน Parallel // ขนาน ในผลงานทางทัศน์ศิลป์ที่น่าสนใจและหยิบยกขึ้นมาชิ้นหนึ่งคือผลงานที่ชื่อ Art/Life: One year performance, 1983-1984 ศิลปินผู้สร้างผลงานคือ Tehching Hsieh (b. 1950-) ศิลปินแสดงสดชาวไต้หวันที่เข้าเมืองและพำนักสร้างผลงานที่นิวยอร์กโดยผิดกฏหมาย ทำงานศิลปะความร่วมมือกับศิลปินหญิงคือ Linda Montano โดยวิธีการเปิดรับสมัคร


ก่อนที่จะไปดูรายละเอียดในผลงานชิ้นนี้ เราลองมาทำความเข้าใจบริบทแวดล้อมของ Tehching Hsieh ในฐานะปรมจารย์ (master) ตัวจริงตามความหมายที่ Marina Abramovic ศิลปินแสดงสดผู้มีชื่อเสียงในแวดวงศิลปะแสดงสดให้การยอมรับโดยดุษฏี Hsieh คือศิลปินผู้ที่กำหนดให้เส้นขนานระหว่างชีวิตและศิลปะมาบรรจบกัน ด้วยวิถีแนวทางและชีวิตประจำวันอย่างเราๆท่านๆ


Hsieh สร้างสรรค์ชุดผลงานอย่างต่อเนื่องปีต่อปีตั้งแต่งค.ศ. 1978-1999 ติดต่อกันเป็นการแสดงที่เล่นกับระยะเวลาอันยาวนาน (durational performance) และศิลปะที่แลกมาด้วยความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด (endurance art) ผลงานศิลปะแสดงสดของ Hsieh นั้นประกอบสร้างขึ้นจากองค์ประกอบอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความมีวินัย การหมกมุ่น-ย้ำคิดย้ำทำ ดันทุรัง และความขบถทั้งในโลกศิลปะ โลกที่มีมนุษย์ผู้อื่นอาศัยอยู่และโลกจริงที่มีกฎหมายตีกรอบหวงห้ามเอาไว้ ผลงานการแสดงสดของเขาใช้ระยะเวลาในการแสดง 365 วันเต็มตลอดวันตลอดคืนแบบไม่มีการหยุดพัก และเขาได้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องเพียง 6 ชุดเท่านั้น ได้แก่

  • 1. One year performance 1978-79 (Cage Piece) การกักขัง 365 วัน
  • 2. One year performance 1980-81 (Time Clock Piece) การตอกบัตร 24 ชั่วโมง 365 วัน
  • 3. One year performance 1981-82 (Out Door Piece) การจรจัด 365 วัน
  • 4. Art/Life One year performance 1983-84 (Rope Piece) การตรึงและขนานกันไว้ 365 วัน
  • 5. One year performance 1985-86 (No Art Piece) การไม่ทำศิลป์ ไม่คุยศิลป์ ไม่ดูศิลป์ ไม่อ่านศิลป์ ไม่ไปงานแสดงศิลป์ 365 วัน
  • 6. Tehching Hsieh 1986-1999 ผลงานระยะยาว การกระทำศิลปะแต่ไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นเวลา 13 ปี

Art/Life One year performance 1983-84 (Rope Piece)

ในผลงานชุดเชือก(Rope Piece) Tehching Hsieh และ Linda Montano ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจนเมื่อทั้งสองลงนามในเอกสารความเห็นชอบโครงการร่วมกัน จากนั้นชายหญิงคู่หนึ่งได้อาศัยชีวิตประจำวันและพื้นที่เกาะแมนแฮตตัน (Manhattan) มหานครนิวยอร์กเป็นแบบจำลองเชิงปฏิบัติการใช้ชีวิตร่วมกัน 24 ชั่วโมง ตลอด 365 วัน


โดยมีเชือกความยาว 2.40 เมตร ผูกเอวทั้งสองไว้พร้อมข้อห้ามถูกเนื้อต้องตัว แน่นอนว่าผลงานชิ้นนี้ลุล่วงไปได้แม้ต้องพบอุปสรรคจากความแตกต่างระหว่างปัจเจก Hsieh ยอมรับว่าในฐานะผลงานศิลปะ Rope Piece ประสบความสำเร็จและได้รับความชื่นชมยินดีอย่างมาก แต่มันกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในฐานะมนุษย์และความร่วมมือซึ่งมีความแตกต่างอย่างสุดขั้ว


Parallel // ขนาน ในผลงาน Art/Life One year performance 1983-84 (Rope Piece) เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ผลงานชิ้นนี้สมาสพื้นที่ทางศิลปะและพื้นที่ชีวิตของเส้นขนานให้มาบรรจบกันที่ Vanishing Point


แม้ในความรู้สึกของเขาทั้งสองจะบอบช้ำเพียงใด หากเรามองในเชิงเทคนิคการบำเพ็ญเพียรหรือตบะอย่างเข้มข้นและวินัยแบบสุดติ่งบนข้อตกลงทางศิลปะร่วมกัน คือเครื่องมือและกระบวนการในการผลิตและสร้างสรรค์ผลงาน และชีวิตประจำวันก็คือวัสดุที่ศิลปินนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานนั้นเอง


การขุดคุ้ยและสืบค้นประวัติศาสตร์ของความรู้เช่นนี้ได้เผยให้เห็นภาพของ Parallel // ขนาน ในหลากหลายมิติไม่มากก็น้อย จะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางปัญญาของมนุษย์หลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทำให้เส้นหรือแม้แต่สิ่งที่ Parallel // ขนาน กันมาบรรจบกันได้

เอกสารอ้างอิง

(1) A Physicist Explains Why Parallel Universes May Exist https://www.npr.org/2011/01/24/132932268/a-physicist-explains-why-parallel-universes-may-exist
 (2) การศึกษาเชิงวิเคราะห์ความคิดเรื่อง จักรวาลวิทยาในพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก, เพ็ญแข กิตติศักดิ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บัณฑิตวิทยาลัย 2529
 http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21509
 (3) ทำไมต้องฟิสิกส์ทฤษฏี สิขรินทร์ อยู่คง (Sikarin Yoo-Kong) 24 March 2016
 https://medium.com/@sikarinyookong/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8F%E0%B8%B5-why-theoretical-physics-1707196a12db
 (4)อันโตนิโอ กรัมชี่ : มาร์กซิสเชิงวัฒนธรรมกับการศึกษาโครงสร้างส่วนบน
 บทความวิชาการTagged การศึกษาโครงสร้างส่วนบน, มาร์กซิสเชิงวัฒนธรรม ผู้เขียน วรวิทย์ ไชยทอง, อันโตนิโอ กรัมชี่ 28 พฤศจิกายน 2013
 https://armworawit.wordpress.com/2013/11/28/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%AD-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81/
 (5)กรัมชีกับการเมืองไทย: อำนาจเก่ากำลังจะตาย อำนาจใหม่ยังไม่สถาปนา
 ประชาไท / ข่าว
 https://prachatai.com/journal/2014/06/54315
 (6)บทบาทและความสำคัญของคณิตศาสตร์ในวิทยาศาสตร์
 2 ธันวาคม 2554 ผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน
 https://mgronline.com/science/detail/9540000149053
 (7)รามานุจัน’ อัจฉริยะเบื้องหลัง ‘อินฟินิตี้ มติชนรายวัน ผู้เขียน วจนา วรรลยางกูร, 17 พฤษภาคม 2559
 https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_139390
 (8)NYC-Based Artist Tehching Hsieh: When Life Becomes A Performance
 https://theculturetrip.com/north-america/usa/new-york/new-york-city/articles/tehching-hsieh-when-life-becomes-a-performance/
 (9)Tehching Hsieh
 https://www.tehchinghsieh.com/artlife-oneyearperformance1983-1984
 (10)ศิลปะบำเพ็ญทุกข์ขั้นสุดของ Tehching Hsieh ศิลปินไต้หวัน ผู้เป็นมาสเตอร์ของ Abramović
 4 January 2018 Wassachol Sirichanthanun, LIFEMATTERS
 https://thematter.co/life/tehching-hsieh-people-you-should-know/42892

   

Leave a Comment