How to use peace as a weapon?

เมื่อพูดถึง ‘อาวุธ’ ในความคิดแรกที่ปรากฏขึ้นมาในหัว คงเป็นภาพของปืน มีดผาหน้าไม้ ไปยันระเบิดนิวเคลียร์ หรือวัตถุใดก็ตามที่สามารถทำร้ายผู้อื่นให้บาดเจ็บได้ อาวุธจึงเป็นภาพจำที่ควบคู่กับความรุนแรงอยู่เสมอ เมื่ออาวุธมาพร้อมกับรูปธรรมและฉลากติดคุณสมบัติที่ชัดเจน แม้เราจะยังพอนึกถึงอาวุธที่มีความเป็นนามธรรมได้แต่ก็ยากที่จะเชื่อว่าอาวุธนั้นจะมีประสิทธิภาพมากพอที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างแรงสั่นสะเทือนได้

เชื่อว่าทุกคนคงมีสิ่งเหล่านี้ติดตัวอยู่เสมอ สิ่งที่มันจะคงอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตโดยไม่มีสิ่งใดสามารถมายื้อแย่งไปได้อย่างชอบธรรม นั่นคือ ความคิด,ร่างกาย และภาษา เราอาจจะไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอาวุธที่ทรงพลังและมีความพิเศษเฉพาะตัวในแต่ละร่างกายที่ต่างกันออกไป เมื่อใดที่ร่างกายใช้พลังในการถ่ายทอดความคิดผ่านภาษาออกมา ไม่ว่าจะเป็นแบบปัจเจกหรือเป็นการสร้างร่วมกัน แต่นั่นเป็นหนึ่งอาวุธที่มั่นใจได้ว่ามันจะไม่สร้างความสูญเสียจนถึงแก่ความตาย แต่มันจะสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมและนำไปสู่การขับเคลื่อนได้เป็นแน่

เราลองคิดถึงคำที่ดูตรงข้ามกันสุดขั้วอย่าง อาวุธ กับ สันติวิธี ดูกัน สองคำนี้ฟังดูไม่สอดคล้องกันเท่าใดนัก แต่เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมาย จะเห็นว่าสองคำนี้มีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อต้องการหยุดการกระทำบางอย่างให้จบลงด้วยวิธีที่มีอยู่อย่างหลากหลาย สันติวิธี จึงเป็นหนึ่งวิธีที่สามารถเป็นอาวุธรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน สันติวิธีนั้นไม่ได้หมายถึงการนิ่งสงบ การเกี่ยวพันทางศีลธรรม หรือการกราบขอขมาบูชาเพียงเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นอะไรคือสันติวิธี แล้วสันติวิธีจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรกัน?

นักวิชาการท่านหนึ่งนามว่า ‘ยีน ชาร์ป (Gene Sharp)’ ได้ให้อิทธิพลทางด้านความคิดเกี่ยวกับแนวทางในการใช้สันติวิธีเป็นอาวุธซึ่งสามารถเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ ในความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับสันติวิธีของมนุษย์นั้น สันติวิธี เป็นแนวทางปฏิบัติของคนดีและความสงบสุข แต่ชาร์ปได้ให้แนวทางว่า สันติวิธีที่ดูจะเป็นขั้วตรงข้ามกับความรุนแรงนั้นแท้จริงแล้วสิ่งที่เป็นด้านตรงข้ามคือ การนิ่งเฉยไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกับอำนาจหรือไม่ทำสิ่งใด สันติวิธีเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบไม่ใช่สิ่งที่คนใช้เพราะต้องการเป็นคนดี แต่ใช้เพื่อการไม่ยอมจำนนต่ออำนาจและไม่ยอมตกอยู่ภายใต้การควบคุม และสันติวิธีได้ดำเนินไปมิใช่เพราะหลีกเลี่ยงการปะทะอย่างรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม แต่สันติวิธีมาจากการประเมินแล้วว่าถ้าต่อสู้ด้วยความรุนแรงก็มักนำมาซึ่งผลเสียและการสูญเสียชีวิต เนื่องจากฝ่ายที่ทีอำนาจมากกว่าย่อมมีประสิทธิภาพในด้านกองกำลังมากกว่าเช่นกัน

สันติวิธีจึงเป็นหนึ่ง เทคนิคอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ ที่มิได้ยึดโยงอยู่เพียงกับเรื่องศีลธรรมและความดีงาม แต่สันติวิธีจะช่วยปลดวาทกรรมที่ยึดโยงว่า ผู้ที่ใช้จะต้องเป็นคนดีหรือผู้ทรงศีล ซึ่งเป็นคนหมู่น้อย แต่ชาร์ปชี้ให้เห็นว่าใครๆก็สามารถใช้สันติวิธีได้แม้เขาจะไม่ได้เป็นคนดีก็ตาม เขาได้เสนอว่าการที่ผู้มีอำนาจจะมีอำนาจได้เพราะมีผู้ที่อยู่ใต้อำนาจให้ควบคุมและเชื่อฟัง ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการใช้สันติวิธีเพื่อต่อสู้กับอำนาจจึงเป็นการหยุดเชื่อฟังแต่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้มีอำนาจ เท่ากับว่าชาร์ปได้บอกเราว่า เราที่อยู่ภายใต้อำนาจที่ปกครองจะทำอย่างไรให้ผู้ปกครองอยู่ในอำนาจนั้นไม่ได้

ชาร์ปยังได้เสนออีกว่าสันติวิธีจะประสบผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติการหรือผู้เคลื่อนไหวนั้นมีแนวทางและเป้าหมายกลยุทธ์ที่ชัดเจน ต้องเห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนทั้งฝ่ายตนเองและฝ่ายตรงข้าม มองให้เห็นว่าใครเป็นผู้ที่สนับสนุนอำนาจอยู่และจะมีวิธีการใดที่จะปรับเปลี่ยนการสนับสนุนเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อสู้ หรือการทำให้คนของฝ่ายเขาเข้ามาเป็นคนของฝ่ายเราให้ได้ ถ้าเกิดฝ่ายผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ เราจะต้องมีวิธีเคลื่อนไหวที่ไม่ยอมไหลไปตามกระแสของความรุนแรงและไม่โต้ตอบกลับไปด้วยวิธีเดียวกัน แต่ตอบโต้ไปด้วยเครื่องมือทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งการหยิบเครื่องมือแต่ละอย่างมาใช้นั้นก็ต้องผ่านการวางแผนมาอย่างเป็นระบบ และพยายามทำให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมองเห็นปัญหามาเข้าร่วมในปฏิการสันติวิธีนี้

สิ่งที่รัฐกลัว คือ การกระทำที่ไม่มีความหมายและสิ่งที่ออกนอกคอก การกระทำที่ประชาชนผู้อยู่ใต้อำนาจการปกครองนั้นไม่เชื่อฟังและแตกแถวของการควบคุม สิ่งนี้จะกัดกินอำนาจของเผด็จการและเริ่มสั่นคลอนความมั่นใจของพวกเขา แม้ในวันนี้เราอาจจะยังไม่สามารถโค่นล้มเผด็จการให้หายไปได้อย่างฉับพลัน แต่การค่อยๆกัดเซาะอำนาจนั้นสามารถเป็นไปได้จากความขบถแบบดื้อรั้นของประชาชน และเมื่อวันหนึ่งที่ปราศจากผู้สนับสนุนในอำนาจรัฐอย่างหมดจด ในวันนั้นเราทุกคนจะพบกันในห้องที่ไร้ความมืด แสงสว่างสาดส่องไปทั่วทุกพื้นที่ ทุกซอกทุกมุม…

หากสนใจปฏิบัติการแบบสันติวิธีของ Gene Sharp ขณะนี้มีหนังสือที่ถูกแปลเป็นภาษาไทย

• Against The Coup – Gene Sharp โดยใช้ชื่อภาษาไทยว่า ‘คู่มือต้านรัฐประหาร’

• From Dictatorship to Democracy : A Concept Framework for Liberation – Gene Sharp โดยใช้ชื่อภาษาไทยว่า ‘จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย: แผนการสู่อิสรภาพ’

—————————————————————————————————

เอกสารข้อมูลอ้างอิงและเรียบเรียงจาก

 • Janjira Sombatpoonsiri. 2018. ยีน ชาร์ป กับ “สันติวิธีของคนดื้อ” . [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.the101.world/gene-sharp/. (4 กันยายน 2563)
 • Prachatai. 2018. มรณกรรมของ 'ยีน ชาร์ป' นักสันติวิธีผู้สั่นสะเทือนเผด็จการทั่วโลก. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://prachatai.com/journal/2018/02/75266. (4 กันยายน 2563)
 • Mark Engler. 2013. The Machiavelli of Nonviolence: Gene Sharp and the Battle Against Corporate Rule. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.dissentmagazine.org/.../the-machiavelli-of.... (3 กันยายน 2563)
 • Matichon Online. 2020. เปิดเล่มชวนอ่าน”จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : แผนการสู่อิสรภาพ”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1999702
 • สำนักพิมพ์สมมติ. 2020. 1984 | 5 ประโยคจากที่เป็นอันตรายต่อรัฐ. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.sm-thaipublishing.com/content/5617/1984-5-ประโยคจากที่เป็นอันตรายต่อรัฐ (8 กันยายน 2563) 

Leave a Comment