โศกนาฏกรรม ความปกติใหม่ (หรือไม่?)

Longtruk News #1: บทความโดย ภาอรุณ

  • บรรณาธิการ : ภาอรุณ ชูประเสริฐ x สุพิชญา ขุนชำนิ
  • Artist: SURF LAB COLLECTIVE

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ได้เกิดปัญหามากมายขึ้น กลุ่มบุคคล องค์กร หรือ กลุ่มบุคคลที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ต่างไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการร่วมมือกันแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ หรือปัญหาทางด้านสังคม อย่างเต็มกำลังความสามารถของตน ในแต่ละกลุ่มบุคคลนั้นต่างก็มีวิธีในการช่วยเหลือ แสดงความคิดเห็นตามแนวทางของตน รวมไปถึงในกลุ่มบุคคลที่ทำงานศิลปะก็ได้มีการนำเสนอถึงปัญหา ผลิตซ้ำข่าว เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขในอย่างต่อเนื่อง

ในผลงาน ‘ THE TRAGEDY OF THE ERA ’ ของกลุ่มศิลปิน SURF LAB COLLECTIVE ได้นำเสนอผลงาน เพื่อชี้ให้บุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ศิลปินเลือกใช้วิธีการรวบรวมภาพข่าวการฆ่าตัวตายที่ถูกนำเสนอให้เห็นอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน และมีการลำดับจัดวางภาพคล้ายคลึงกับภาพสถิติ แสดงถึงการฆ่าตัวตายในหลากหลายรูปแบบ หากแต่รูปแบบวิธีการฆ่าตัวตายนั้นถูกเปลี่ยนให้เป็นภาพ หรือสัญลักษณ์ที่ไม่รุนแรง เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปของบุคคลในภาพข่าวที่ถูกนำมาเผยแพร่เป็นประจำในทุก ๆ วัน เป็นการสร้างความตระหนักว่ายังมีผู้คนอีกมากมายที่ต้องการจบชีวิตลงเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือจากพิษโควิดที่ไม่สามารถแบกรับได้

ผลงาน THE TRAGEDY OF THE ERA โดย SURF LAB COLLECTIVE

ประเด็นที่น่าสนใจจากผลงานของกลุ่ม SURF LAB COLLECTIVE ไม่ได้เป็นเพียงแค่การนำเสนอรูปแบบหรือวิธีการฆ่าตัวตายที่สามารถเป็นไปได้อย่างหลากหลายเท่านั้น แต่การที่บุคคลหนึ่งตัดสินใจในการจบชีวิตของตนขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล ตามสภาพการใช้ชีวิต ตามบริบทสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ผู้ตายไม่ได้มองว่าวิธีไหนเป็นวิธีที่ดีที่สุด และในบางกรณีวิธีในการฆ่าตัวตายก็มิได้มาจากการที่ผู้ตายนั้นเป็นคนเลือกกระทำเอง ปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้ชีวิตหนึ่งต้องจบลงจากการฆ่าตัวตาย จึงไม่ได้มีผลเพียงมาจากความเครียดส่วนตัวเป็นแน่ หากแต่ผลกระทบจากสถานการณ์ในปัจจุบันได้ชี้นำทางออกในแบบที่ผู้ตายไม่ต้องการที่จะเลือกเสียด้วยซ้ำ

ภาพข่าวที่ปรากฎในสื่อ : กระบวนการสร้างสรรค์งาน THE TRAGEDY OF THE ERA

หากมองย้อนไปในช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 โดยระงับการเปิดสถานประกอบการและกิจการหลายแห่ง ทำให้ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ แรงงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ต้องหยุดชะลอการทำงานลง ประชาชนจึงขาดรายได้อย่างต่อเนื่องสวนทางกับรายจ่ายภายในครัวเรือนที่ยังเท่าเดิม การขาดรายได้ของบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงหนึ่งชีวิตของตนเองเท่านั้น แต่รวมไปถึงสมาชิกในครอบครัวที่ต้องดูแลด้วย รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเพื่อเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยการจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานนอกระบบตามมาตรา 39 และ 40 ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบ รายละ 5,000 บาท แต่เมื่อได้เปิดให้มีการลงทะเบียนนั้นกลับกลายเป็นว่าประชาชนหลายคนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์การได้รับเงินจำนวนนี้ได้ ทั้งที่ตนเองขาดรายได้และได้รับผลกระทบอย่างสาหัสเช่นเดียวกัน

อันที่จริงแล้วปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มที่แย่ลงตั้งแต่ก่อนจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส covid-19 เสียอีก เมื่อประกอบความสิ้นหวังจากมาตรการเยียวยา ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความเครียดสูงและหมดความหวังในการใช้ชีวิต สภาพเศรษฐกิจมิได้นำพาให้ตนเองนั้นสามารถอยู่รอดได้ ประชาชนจึงมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ทางออกหนึ่งของปัญหาที่ประชาชนบางกลุ่มตัดสินใจนั้น เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตามพาดหัวข่าวประจำวันบ่อยครั้ง นั่นคือ ‘การฆ่าตัวตาย’ วิธีหนึ่งที่สามารถจบชีวิตของตนเองลงเพื่อให้รอดพ้นจากพิษเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส

จากข้างต้นที่กล่าวมานั้น ในบทความหนึ่งที่ชื่อว่า Thailand’s economic ‘death by a thousand cuts’ sows desperation Suicides rise as debts, drought and coronavirus hit the country hard (พิษเศรษฐกิจ-ภัยแล้ง-โควิดมรสุมกระหน่ำไทยทำคนเครียดฆ่าตัวตายต่อเนื่อง) โดยสำนักข่าว Nikkei Asian Review ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับปัญหาพิษเศรษฐกิจตกต่ำและการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ซึ่งส่งผลต่อการฆ่าตัวตายของคนไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ ภายในบทความนี้มีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของผู้ประกอบการรายหนึ่งในจังหวัดนครปฐมที่ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างที่ตัดสินใจจบชีวิตของตนเองด้วยการ ‘รมควัน’ ภายในบ้านพัก เนื่องจากมีหนี้สินติดค้างเป็นจำนวนมาก หรือ แม่ค้ารายหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ขับรถเก๋งไปจอดหลัง รพ. ในเมืองนครปฐมพร้อมติดเครื่องยนต์และจุดเตาอั้งโล่รมควันตัวเองเสียชีวิตภายในรถ ซึ่งคาดว่าสาเหตุที่ตัดสินใจนั้นเป็นผลจากการค้าขายที่แย่ลง กล่าวได้ว่าการตายของบุคคลเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากปัญหาทางการเงินที่รู้สึกกลายเป็นเรื่องที่ชาชินของคนไทย รวมไปถึงหลากหลายข่าวที่เกิดขึ้นนั้นก็ถูกลืมเลือนและจางหายไปตามกาลเวลา

นอกจากนี้ในสำนักข่าวนิเคอิ ยังกล่าวถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น ได้ส่งผลต่อคนในชนชั้นกลางและชนชั้นรากหญ้าที่ต้องเผชิญมรสุมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนี้สินภายในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น กำลังการซื้อที่อ่อนแอลง และราคาสินค้าที่ตกต่ำลง รวมไปถึง ปัญหาไวรัสโควิด-19 ทั้งยังมีการให้ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในประเทศไทยโดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) ว่า มีอัตราการฆ่าตัวตาย 1.44 ล้านคนต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดในกลุ่มประชาคมอาเซียนและนักเศรษฐศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์ถึงการขยายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ เป็นเสมือนการสึกกร่อนอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจและเป็นความตายทางเศรษฐกิจราวกับการถูกคมดาบฟันซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กราฟสถิติแสดงความยากจนในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2558-2561

ปัจจุบัน กระแสสื่อสังคมออนไลน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นของการฆ่าตัวตาย จากคำแถลงการณ์ของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัวโควิด-19 ประจำวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2563 จากการตอบคำถามต่อสื่อในประเด็นที่กล่าวว่า

“คนฆ่าตัวตายไม่เหนือความคาดหมาย”

“สถิติฆ่าตัวตายตอนนี้ยังน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง”

คำพูดประโยคนี้ของ นพ.ทวีศิลป์ ได้สร้างความไม่พอใจแก่หลายกลุ่มถึงการไม่เห็นในคุณค่าและศักดิ์ศรีของประชาชน สิ่งที่สะท้อนจากคำพูดนี้ทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่า รัฐได้มีการประเมินหรือคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะมีผู้ที่จะฆ่าตัวตายจากสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจนี้ และมีกลุ่มที่มองการกระทำนี้ว่า รัฐยังละเลยต่อกระบวนการในการช่วยเหลือเยียวยาในระยะยาว ยังไม่ได้พยายามหาแนวทางอื่น ๆ ในการป้องกันคนฆ่าตัวตาย หรือผู้ที่รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้

การฆ่าตัวตายนั้น กล่าวได้ว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่เกิดจากการมีความเครียดสูงที่สะสมอยู่ภายในตัวบุคคล ตลอดจนเกิดจากปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจซึ่งควรได้รับการแก้ไขและเยียวยา ทั้งสุขภาพจิตของผู้ประสบปัญหา และแก้ไขปัญหาที่สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากคำพูดของ นพ.ทวีศิลป์ แล้วนั้น อาจมองได้อีกแง่มุมหนึ่งว่า หรือแท้จริงแล้ว รัฐหรือผู้ที่มีอำนาจได้มองประชาชนเป็นตัวเลข สถิติ หรือวิทยาศาสตร์มากเกินไป จนละเลยความเป็นปัจเจกของประชาชนในฐานะความเป็นมนุษย์ และการที่รัฐแสดงให้เห็นว่า ประชาชนควรแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยกำลังของตน ประชาชนทุกคนควรมีการป้องกันตนเองตามที่รัฐแนะนำ ผู้ที่แข็งแรงกว่าควรช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า หรือผู้ที่มีโอกาสรอดชีวิตต่ำคือผู้ที่ฝ่าฝืน/ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐนั้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการนำทฤษฎีของ ‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ มาใช้มองและจัดการปัญหาการอยู่รอดหรือการลดการสูญเสียของชีวิต

ภาพคำพูดของชาร์ลส์ ดาร์วิน ในทฤษฎี ‘Natural Selection’

กล่าวคือ ในทฤษฎีของดาร์วินที่กล่าวว่า ‘ธรรมชาติจะคัดสรรผู้อยู่รอด’ (Natural Selection) ผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดได้ นั้น ทฤษฎีนี้ เป็นการอธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ มิใช่การอยู่รอดของสังคมมนุษย์ เพราะมนุษย์มีการสร้างระเบียบแบบแผนในจินตนาการ ซึ่งธรรมชาติมิได้เป็นผู้สร้างขึ้นมา

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเกิดการตั้งคำถามว่า การนำชุดความรู้ที่ใช้ตัดสินความเป็นไปของธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่รอดได้นั้น เป็นเพราะมีสาเหตุมาจากการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีข้อได้-เสียเปรียบ หรือมีการปรับตัวได้เร็วและหรือได้ดีกว่า มาใช้คัดเลือกหรือพิจารณาสาเหตุของการมีชีวิตอยู่รอดของมนุษย์นั้น กลายเป็นเป็นสิ่งที่เป็นปกติธรรมดาไปแล้วหรือ? หรือแท้จริงแล้ว ท่ามกลางสังคมที่ได้มีการสร้างการปกครองหรือชนชั้นใด ๆ ขึ้นมาแล้วนั้น พื้นฐานที่มนุษย์ควรมีในปัจจุบันคือ ความเห็นอกเห็นใจ ความร่วมมือกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ต่างมีข้อจำกัดหรือปัจจัยที่แตกต่างกันไปตามบริบททางสังคม มิใช่การละเลยหรือชาชินกับการมองว่า การอยู่รอดของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่คาดว่าจะต้องเกิดอยู่แล้ว หรือเป็นปัญหามีปัจจัยอันเกิดขึ้นตามธรรมชาติเท่านั้น ในการจัดการหรือแก้ไขปัญหาจึงควรพิจารณาถึงความปัจเจกของมนุษย์ร่วมด้วย เป็นแนวทางที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อหาแนวทางที่หลากหลายในการลดการสูญเสียของเพื่อมนุษย์ให้ได้มากที่สุด

บทความและภาพอ้างอิง

 (1)     กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG, ขอให้ปลด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน (โฆษก ศบค.) เพื่อแสดงความรับผิดชอบคำพูด และการกระทำ ที่ไม่เห็นค่าของชีวิต และศักดิ์ศรีของประชาชน, เข้าถึงเมื่อ 12 พ.ค. 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/democracyrestoration/photos/p.2726415447487955/2726415447487955/?type=1&theater
 (2)      สื่อญี่ปุ่นเผย'พิษศก.-ภัยแล้ง-โควิด'มรสุมกระหน่ำไทย ทำคนเครียดฆ่าตัวตายต่อเนื่อง, เข้าถึงเมื่อ 29 เม.ย. 2563, เข้าถึงได้จากhttps://www.naewna.com/inter/479785
 (3)      บีบีซี, โควิด-19 : นพ.ทวีศิลป์แจงไม่ได้ละเลยปัญหาคนฆ่าตัวตาย ศบค. หาทางช่วยเหลือ, เข้าถึงเมื่อ 12 พ.ค. 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-52498742
 (4)      ผู้จัดการออนไลน์ม, ถอดคำต่อคำ “หมอทวีศิลป์” กับประเด็น “คนฆ่าตัวตายไม่เกินความคาดหมาย” ไม่เห็นค่า ปชช.จริงหรือ ?, เข้าถึงเมื่อ 12 พ.ค. 2563, เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000045900
 (5)      สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ, ทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน บอกว่า ธรรมชาติจะคัดสรรผู้อยู่รอดสำหรับสังคมพัฒนาแล้ว จริงไหม???, เข้าถึงเมื่อ 12 พ.ค. 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.sarakadee.com/2020/04/17/evolution-darwin-explain/
  MARWAAN MACAN-MARKAR, Thailand's economic 'death by a thousand cuts' sows desperation, เข้าถึงเมื่อ 29 เม.ย. 2563, เข้าถึงได้จาก https://asia.nikkei.com/Spotlight/Asia-Insight/Thailand-s-economic-death-by-a-thousand-cuts-sows-desperation


Leave a Comment