เห็ด กระบองเพชร [และ] ประตูสู่การรับรู้: จากโฮโมเซเปียนส์ถึงบุพผาชน | Mushrooms Cactus [and] The Doors of Perception: From Homo Sapiens to hippie

หลายคนที่เคยกินเห็ด เคยเลี้ยงกระบองเพชร แต่มันเกี่ยวกับประตูที่ว่านั้นอย่างไร หนังสือสามเล่มที่มหาลัย’ล่องตรึก หยิบยกมาในครั้งนี้สามารถอ่านได้หลายแง่มุม ทั้งมิติทางพฤกษศาสตร์ ประสาทวิทยา มานุษยวิทยา-นวนิยาย หรือแม้แต่บันทึกอันละเมียดเชิงปรัชญาความเรียง การออกทริปขณะเสพแผ่นกระดาษมหัศจรรย์ การใช้ LSD (Lysergic acid diethylamide) เพื่อศึกษาประสบการณ์ภายในของมนุษย์ ศิลปะและพระผู้เป็นเจ้า การเสพเห็ดไซโลไซบิน (psilocybin) และพืชจำพวกกระบองเพชรที่เรียกว่าเปโยติ (peyote) ในเชิงพิธีกรรมของหมอผี (shaman) จากหนังสือ Food of the Gods เขียนโดย Terence McKenna ตีพิมพ์ปี 1992, หนังสือ The Jouney  to Ixtlan: Lessons of Don Juan เขียนโดย Carlos Castaneda ตีพิมพ์ปี 1972 และหนังสือ The Doors of Perception: Heaven and Hell เขียนโดย Aldous Huxley ตีพิมพ์ในปี 1954 ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแค่ฤทธิ์ต่อจิตประสาท(หลอน)เท่านั้นแต่มันเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับโลกบรรพกาล การรับรู้อันแจ่มชัดของโลกคู่ขนาน และความรู้อันละเอียดภายใต้สภาวะจิตตามที่ระบุในหนังสือทั้งสามเล่ม และผู้เขียนได้เคยล่องไปกับประสบการณ์การอ่านและลิ้มรส

Food of the Gods, The Jouney  to Ixtlan: Lessons of Don Juan, The Doors of Perception: Heaven and Hell

เห็ด

ต้นทศวรรษที่ 1990 เทอร์เรนซ์ แมคเคนนา (Terence McKenna 1946–2000) นักชาติพันธุ์วิทยา นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotany) ผู้สนใจศึกษาการใช้พืชท้องถิ่นของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรม (indigenous plants) เขียนหนังสือ Food of the Gods เพื่อนำเสนอรากฐานทางประวัติศาสตร์ของพืช สารเสพติด และวิวัฒนาการด้านสมองหรือความคิดที่พัฒนาสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดของ โฮโมเซเปียนส์ (Homo Sapiens) จนมาเป็นเราในวันนี้ สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้มุ่งประเด็นไปที่ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ร่วมกับไซคีเดลิก และการที่เราอาจสามารถรื้อฟื้นการสื่อสารกับธรรมชาติได้

ใน Food of the Gods แมคเคนนา สืบค้นลงลึกถึงความเป็นไปได้เพื่อเผยทัศคติของชุมชนดึกดำบรรพ์ กาลก่อนการใช้เครื่องมือในขบวนการผลิตและก่อนมีตัวอักษร และธรรมชาติที่ช่วยให้บรรพบุรุษชนเผ่าเร่ร่อนยุคก่อนประวัติศาสตร์สามารถดำรงชีวิตสืบเนื่องต่อมาจวบจนปัจจุบัน ก่อนที่เราจะมีวัฒนธรรมอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ หนังสือเล่นนี้ระบุไว้ว่าเห็ดสกุลไซโลไซบิน (psilocybin mushrooms) ซึ่งมีสารเมสคาลีน (mescaline) เป็นหนึ่งในตัวเร่งปฏิกิริยาพัฒนาการในสมองของมนุษย์ และตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ที่พืชในสกุลที่สามารถกระตุ้นทางจิตซึ่งมีผลต่อมนุษย์และเราอาจจะฟื้นฟูสภาพบุคคล สังคม และความสมดุลของระบบนิเวศในโลกได้อย่างไร

psilocybin mushrooms: ที่มาของภาพ  https://hub.jhu.edu/2018/09/26/psilocybin-scheduling-magic-mushrooms/

งานวิจัยที่เกี่ยวกับมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ของแมคเคนนา สัมพันธ์กับการใช้เคมีเพื่อเปิดประตูไปสู่โลกของพระผู้เป็นเจ้า และบางทีมันอาจเป็นช่องทางที่จะปกป้องรักษาเยียวยาปัญหาในโลกของเรา แมคเคนนาชี้ให้เราทบทวนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสิ่งเสพติดทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก จากเครื่องเทศโบราณ ไปจนถึงกัญชา โคเคน และสารสังเคราะห์ แม้แต่ความปรารถนาของมนุษย์ใน food of the gods  พลังการลบปรามาสของสิ่งเสพติดโดยหมอผี คือการสร้างให้เกิดความเข้าใจ ความเคารพต่อธรรมชาติ ความเป็นชุมชนและการเพิ่มการตระหนักรู้ในตนเอง

Terence McKenna 1946–2000: ที่มาของภาพ
http://www.mckennite.com/articles/terence-mckennas-true-hallucinations

แมคเคนนา เสนอว่าการกินเห็ดวิเศษ (Magic mushroom) หรือเห็ดเมา เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์โฮมินิดส์ (Hominids)  ซึ่งเป็นสายพันธุ์บรรพบุรุษของมนุษย์รุ่นแรกๆ ที่แยกออกมาจากลิงไม่มีหางเมื่อประมาณ 7–5 ล้านปีมาแล้ว และพัฒนาพฤติกรรมทางวัฒนธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนต่อมากลายเป็นสายพันธุ์ที่เรียกว่า โฮโม (Homo) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ สมองใหญ่ รู้จักใช้เครื่องมือหิน และมีวิวัฒนาการกลายเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์รุ่นใหม่ในเวลาต่อมา. เห็ดวิเศษนั้นมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาท และการพัฒนาอื่นๆ มันมีผลเข้าไปกระตุ้นและก่อให้เกิดวิวัฒนาการที่ทำให้สมองของมนุษย์วานรในยุคโบราณโตขึ้น 3 เท่าภายใน 2 ล้านปีได้สำเร็จ ขณะที่สัตว์ตระกูลไพรเมทต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการล่าสัตว์เข้าไปในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมอันสมบูรณ์ของการงอกงามของเห็ดดังกล่าว ในปัจจุบันทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ให้ความสนใจต่อการใช้เห็ดเมาและตีพิมพ์ผลการศึกษาไซโลไซบินจากเห็ดเมาเพื่อเป็นสารหล่อลื่นทางจิตประสาทที่ทำให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากวงจรการเกิดอาการซึมเศร้าได้

กระบองเพชร

ในปี 1976 หลังจากหนังสือของ คาร์ลอส คาสตาเนด้า (Carlos Castaneda 1925-1998) ถูกวางจำหน่ายและกลายเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขาย แท้จริงแล้วเขาต้องการเป็นศิลปินแต่ท้ายที่สุดกลายเป็นนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับหมอผีที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ความเคลือบแคลงของนักมานุษยวิทยา อย่าง Richard de Mille และ Jane Holden Kelley ได้ตั้งคำถามถึงความถูกต้องในการใช้คำศัพท์ต่างๆ ในผลงานของ คาสตาเนด้า ว่าเป็นสิ่งที่อุปโลกน์ขึ้น และมากไปกว่านั้นหนังสือของเขาคือส่วนหนึ่งของผลงานวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แท้จริงแล้วเขาเป็นนักมานุษยวิทยา นักชาติพันธ์วิทยาหรือเป็นเพียงนักเขียนนิยายผู้ได้รับปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจากนิยายลวงโลก คาสตาเนด้าอ้างว่าหนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยาที่อธิบายถึงการฝึกงานของตัวเขากับหมอผีผู้รู้แจ้งที่ชื่อดอน ฮวน มาตุส (Don Juan Matus) ซึ่งถูกระบุว่าเป็นชาวอินเดียนแดงเผ่ายากี (Yaqui) ในมลรัฐซอในร่า ทางตอนเหนือของเม็กซิโก แม้จะมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับผลงานและตัวเขา แต่ถึงกระนั้นผลงานของเขาก็ได้รับคำชมว่าเป็นงานวรรณศิลป์ที่ทรงอิทธิพลต่อขบวนการเคลื่อนไหวของเหล่าบุพผาชน

อินเดียนแดงเผ่ายากี Yaqui: ที่มาของภาพบน https://tucson.com/news/blogs/big-jim/big-jim-yaqui-easter/article_ea359e74-c2a2-11e3-a4d1-001a4bcf887a.html
Carlos Castaneda ภาพล่าง https://laprensatexas.com/carlos-castaneda/

เรื่องราวของคาสตาเนด้า ไม่เฉพาะด้านงานวิจัยที่ยังเป็นข้อถกเถียงถึงปัจจุบัน แม้ประวัติชีวิตของเขาก็ยังกำกวมอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปีเกิด สถานที่เกิดอันแน่ชัด เขาได้อ้างกฎข้อหนึ่งที่เรียนรู้จากดอน ฮวน ที่ว่าด้วย “การลบประวัติส่วนตัวทิ้งไปเสีย” นี้อาจเป็นความตั้งใจของเขาต่อสาธารณะที่ต้องการเป็นผู้ที่ไม่มีใครหยั่งถึงได้ หลายครั้งเขาปฏิเสธและหลบเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ บางรายงานระบุว่าเขาเกิดในเปรูหรือไม่ก็บราซิลและย้ายมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ในช่วงทศรรษที่ 1960-1971 คาสตาเนด้า เดินทางไปยังชุมชนชาวอินเดียนแดงเผ่ายากี ขณะทำวิจัยในงานวิทยานิพนธ์ด้วยความสนใจเรื่องพืชสมุนไพรจำพวกกระบองเพชรที่เรียกว่าเปโยติ (peyote)  ซึ่งเป็นที่เชื่อกันในหมู่ชาวอินเดียนแดงถึงสภาวะหลอนจิต คือประตูแห่งการรับรู้ที่เปิดออกและก้าวสู่ความหลุดพ้น

หลังจากที่ คาสตาเนด้า ได้พบกันดอนฮวนและกลายเป็นศิษย์ เขาเรียนรู้ที่จะเป็นหมอผีผู้เข้าใจถึงพลังและการหยุดโลกด้วยการเสพเปโยตี กระบองเพชรชนิดหนึ่งที่คนในวงการแคคตัสเรียกว่า โพโลแคคตัส ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า lophophora williamsii คำว่าเปโยติ มีรากศัพท์มาจากภาษาพื้นเมืองทางตอนเหนือของเม็กซิโก มีความหมายว่า “แสงอันเจิดจรัส-ระยิบระยับ” หรืออาจหมายถึงผู้นำจิตวิญญาณ ชนพื้นเมืองของเม็กซิโกรู้จักการเสพเปโยติสำหรับรักษาอาการรูมาติกส์ โรคเบาหวาน และอื่นๆ มานับพันปี และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาลัทธิเมสคาลิโต (Meacalito) ซึ่งเป็นชื่อเทพผู้รู้แจ้งองค์หนึ่งของชาวอินเดียนแดงเพื่อนำจิตวิญญาณไปสู่พระเจ้า “เมสคาลิโต” ในภาษาท้องถิ่นหรือเมสคาลีน (Meacaline) ในเปโยติมีสารกระตุ้นการรับรู้ทางกายภาพและการเห็นภาพหลอน (visual hallucination) ให้เกิดการรับรู้ทางภาพ สี และแสงมากกว่าปกติ ชนพื้นเมืองนำเปโยติมาเคี้ยวกินหรือชงเป็นน้ำชาดื่มในพิธีกรรมทั้งในเม็กซิโก สหรัฐอเมริกาและแคนนาดา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองในการเข้าสู่ภวังค์ ผู้ที่เข้าร่วมเสพเปโยติจะต้องเป็นบุคคลที่เลือกแล้วด้วยจุดมุ่งหมายพิเศษและเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์

peyote ที่มาของภาพ https://www.medicalnewstoday.com/articles/peyote#origins

23 มิถุนายน 1961 คาสตาเนด้า ระบุในบันทึกว่าเขาโพล่งคำถามไปที่ดอนฮวนเป็นครั้งแรก “คุณจะสอนผมเกี่ยวกับการใช้เปโยติหรือไม่” ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม ดอนฮวนได้เปลี่ยนยุทธวิธีในการฝึกฝนเพื่อยอมรับให้พลังเข้าถึงตัวโดยให้เขาเสพเปโยติ ขณะที่คาสตาเนด้าเมาอยู่นั้นเขาได้เล่นกับหมาตัวหนึ่ง ระหว่างนั้นดอนฮวนแปลปฏิกิริยาอันพิเศษขณะที่เขาตกอยู่ในอำนาจของพลัง เนื่องจากหมาตัวนั้นได้กลายเป็นอวตารของเมสคาลิโต พลังของเทพเจ้าที่มีอยู่ในสมุนไพรเปโยติ ดอนฮวนกล่าวกับเขาว่า “คุณคือผู้ถูกเลือก” เนื่องจากเมสคาลิโตยอมประสิทธิ์ประสาทความรู้อันลึกลับให้แก่เขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ประหลาดอย่างมากเพราะเขาไม่ได้เป็นชาวอินเดียนแดง นอกจากเมสคาลิโตจะยอมให้เขาเป็นผู้มีพลังเข้าถึงได้แล้ว คาสตาเนด้า ต้องจัดการกับความฝันให้มีพลังและเป็นจริง เรียนรู้ความเป็นนักรบ การไม่-กระทำ การประลองยุทธ์ของพลัง การเรียนรู้วงแหวนของพลัง และท้ายที่สุดเขาต้อง “หยุดโลก” ให้ได้เพื่อจะได้สัมผัสกับโลกในแบบที่ต่างออกไป เป็นการสัมผัสตรงไปที่แก่นแท้ของสรรพสิ่งตามแนวทางคำสอนของดอนฮวน

ประตูแห่งการรับรู้

ในโลกนี้มีสิ่งที่เรารับรู้ได้และมีสิ่งที่ไม่อาจรับรู้ได้ ระหว่างทั้งสองสิ่งนั้นคือประตูแห่งการรับรู้ อัลดัส ฮักซ์ลีย์(Aldous Huxley 1894-1963) พยายามค้นหาความสามารถทางสมองและระบบประสาท โดยบันทึกอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวภายใต้อิทธิพลการเสพแผ่นกระดาษมหัศจรรย์ที่จุ่มลงในสาร lysergic acid diethylamide (LSD) เดือนพฤษภาคม ปี 1954 ฮักซ์ลีย์ เล่าถึงข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยงกับ “สุนทรียะอันหมดจด” ไปจนถึง “วิสัยทัศน์อันศักดิ์สิทธิ์” และสะท้อนให้เห็นถึงผลทางปรัชญาและจิตวิทยา รวมถึงความหมายในเชิงศิลปะและศาสนาไว้ในหนังสือ The Doors of Perception ต่อมาในปี 1956 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Heaven and Hell ซึ่งเป็นบทความที่อธิบายถึงการไตร่ตรองในรายละเอียดเพิ่มเติมของผลงานทั้งสองชุด และได้รับการตีพิมพ์รวมกันเป็นเล่มเดียว โดยรับแรงบันดาลใจจากบทกวีของ วิลเลียม เบลค (William Blake 1757–1827) จากหนังสือ The Marriage of Heaven and Hell ตีพิมพ์ในปี 1793 ซึ่งแสดงถึงความรู้สึกการรับรู้ที่จำกัดของมนุษยชาติเกี่ยวกับความเป็นจริงรอบตัว เบลค กล่าวว่าหากเราสามารถเปิดประตูแห่งการรับรู้ได้หรือได้รับการชำระล้าง ทุกสิ่งก็จะปรากฏแก่มนุษย์ตามที่เป็นจริงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่เนื่องจากมนุษย์ได้ปิดกั้นตัวเองจึงส่งผลให้การมองเห็นทุกสิ่งอยู่ในโพรงแคบ ๆ ของตนเองเท่านั้น

The Marriage of Heaven and Hell ที่มาของภาพ: https://www.mutualart.com/Artwork/The-Marriage-of-Heaven-and-Hell–NUMBER-/E6B7EBCA5CE5C4B9 The Doors of Perception: Heaven and Hell https://www.depop.com/products/lonesometigress-the-doors-of-perception/

ฮักซ์ลีย์ เป็นนักเขียนนวนิยาย ความเรียง เรื่องสั้น บทกวี นักเขียนบทภาพยนตร์ฮอลลีวูด  ชาวอังกฤษที่อพยพไปลอสแองเจลิส ในปี 1937  เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวรรณคดีอังกฤษ จาก Balliol College มหาวิทยาลัย Oxford เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเก้าครั้ง และได้รับเลือกให้เป็นบัณฑิตแห่งวรรณกรรมจากราชสมาคมวรรณกรรมในปี 1962 เขามีแนวคิดวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ขนบธรรมเนียม ค่านิยม และแนวคิดเสียดสีสังคม รวมถึงการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ผ่านงานเขียน หลายคนมองว่าเขาเป็นนักมนุษย์นิยม แต่ที่สุดแล้วเขากลับสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวทางจิตวิญญาณหรือจิตวิทยาเหนือคำอธิบาย และปรัชญาที่วางอยู่บนรากฐานของความเชื่อทางจิตวิญญาณ

ช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 เขาเริ่มให้ความสนใจในคำสอนทางจิตวิญญาณของคัมภีร์อุปนิษัท และการฝึกนั่งสมาธิด้วยยอมรับถึงจุดร่วมของวิทยาศาสตร์และศาสนาตะวันออก โดยระบุว่าผลกระทบทางจริยธรรมและปรัชญาของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มีความเป็นพุทธมากกว่าคริสเตียน นอกจากนั้นฮักซ์ลีย์ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้เปโยติในพิธีกรรมชนพื้นเมืองอเมริกันในนิวเม็กซิโก หลังจากย้ายมาอยู่แคลิฟอร์เนียได้ไม่นานความสนใจของเขาต่อสมุนไพรหลอนจิตกระตุ้นเร้าความสงสัยให้อยากทดลองหลังจากอ่านบทความของ ฮัมฟรี ออสมอนด์ (Humphry Osmond 1917-2004) นักจิตแพทย์ชาวอังกฤษผู้บัญญัติคำว่า “ไซคีเดลิก” (psychedelic) ในที่สุดเดือนเมษายน ปี 1952 เขาได้เขียนจดหมายถึง ออสมอนด์ เพื่อเชิญเข้าร่วมการประชุมสมาคมจิตแพทย์อเมริกันและเชิญมาที่บ้านในย่านเบเวอร์ลีฮิลส์โดยร้องขอให้ตัวเขาเป็นผู้ทดลองเสพเมสคาลีน โดยที่ ออสมอนด์ เป็นผู้ดูแลประสบการณ์ที่ตามมาระหว่างใช้สารดังกล่าว และนี่คือที่มาของหนังสือจากความกระตือรือร้นที่ชื่อว่า “ประตูของการรับรู้” (The Door of Perception) ซึ่งเป็นปรัชญาความเรียง (philosophical essay) เล่มสำคัญที่สุดของเขา

Aldous Huxley ที่มาภาพขวา https://www.thevintagenews.com/2018/08/09/aldous-huxley-lsd/ Humphry Osmond ภาพซ้าย https://thewalrus.ca/the-untapped-promise-of-lsd/

หนังสือเล่มนี้คือการตอบสนองของ ฮักซ์ลีย์ ในขณะล่องไปภายใต้อิทธิพลของเมสคาลีน โดยมีแรงจูงใจอยู่บนรากฐานความคิดที่ว่าสมองมีช่องเปิดปิดทางความรู้สึกที่จำกัด สติสัมปชัญญะและอาการเมาที่เกิดจากเมสคาลีนจะช่วยให้เข้าถึงการรับรู้ได้มากขึ้น ฮักซ์ลีย์ ตระหนักว่าวิธีการตรัสรู้มีมากมายรวมถึงการสวดมนต์และการทำสมาธิ เขาหวังว่าสารเมสคาลีน อาจทำลายอุปสรรคจากอัตตาและดึงเขาเข้าใกล้การรู้แจ้งทางจิตวิญญาณมากขึ้น และตอบสนองเขาในฐานะผู้แสวงหาความรู้ได้ ในเดือนพฤษภาคม ปี 1953 ที่บ้านพักของ ฮักซ์ลีย์ เมื่อ ออสมอนด์มาถึง เขาบันทึกว่า ”ฮักซ์ลีย์ เป็นคนในแบบอุดมคติและเป็นคนฉลาดตรงประเด็น” ส่วนมาเรียภรรยาของเขาก็มีความเด่นชัดเป็นเหตุและผล โดยภาพรวมแล้วพวกเขาและเพื่อนๆ ดูชอบพอกันดีซึ่งมีความสำคัญมากในการบริหารการใช้สารเมสคาลีน มันออกฤทธิ์ช้าแต่ออสมอนด์สังเกตเห็นว่าหลังจากนั้นสองชั่วโมงครึ่งยาก็ออกฤทธิ์ และหลังจากนั้นสามชั่วโมง ฮักซ์ลีย์ ก็ตอบสนองได้ดี ประสบการณ์นี้กินเวลาแปดชั่วโมงและ ออสมอนด์ยังคงอยู่กับเขาตลอด

แผ่นกระดาษมหัศจรรย์ LSD ที่มาของภาพ https://snacksafely.com/2021/07/lsd-to-treat-food-allergies-company-receives-patent-despite-zero-evidence/

เช้าที่สดใสของเดือนพฤษภาคม เวลา 11.00 น. ปี 1953 ฮักซ์ลีย์ ใช้สารเมสคาลีนในปริมาณ 4/10 กรัม นั่งลงและเฝ้าสังเกตดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น เมื่อเขาลืมตาขึ้นพบว่าทุกสิ่งตั้งแต่ดอกไม้ในแจกันไปจนถึงรอยยับย่นบนกางเกงของเขาแปรเปลี่ยนรูปไปแล้ว กิ่งก้านของดอกไม้ระยับแสงด้วยตัวของมันเอง ความสลับซับซ้อนไม่รู้จบกำลังเผยตัวออกมา “ใช่…มันทำให้ฉันนึกถึงการมองเห็นของ Adam ในแรกเริ่มของเช้าวันที่โลกถูกสร้างขึ้นโดยพระผู้เป็นเจ้า มันคือความมหัศจรรย์อันเปลือยเปล่าของการมีอยู่จากชั่วขณะไปสู่ชั่วขณะหนึ่ง”

พวกเรานั่งฟังเพลงกินข้าวและเดินเล่นในสวน เพื่อนอีกสามคนเดินไปที่เนินเขาซึ่งมองเห็นเมืองด้านล่าง ในวันนั้นฮักซ์ลีย์ เล่าว่าเขาหวังจะได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพจิตใจที่ไม่ธรรมดา และคาดว่าจะได้เห็นความสดใส ทิวทัศน์ที่มีสีสัน เห็นแสงและรูปร่าง ความเร้นลับในการเห็นสีเท่าทวีคูณทั้งในเชิงกายภาพและความรู้สึกและประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการรับรู้โลกภายนอก เวลา 12.30 น. แจกันตรงหน้าที่ดำรงอยู่อย่างเปลือยเปล่าถูกพรรณนาเมื่อเทียบกับ Being ของเพลโตและสภาวะการกลายสู่ (Becoming) ความเป็นฉัน แต่ไม่ใช่-ฉัน ทดแทนความหมายและการดำรงอยู่กับความสัมพันธ์เชิงพื้นที่และเวลาได้ถูกแทนที่ด้วยปัจจุบันขณะ เก้าอี้ไม้ไผ่ 4 ตัวที่วางอยู่กลางห้องให้ความรู้สึกเหนือคำบรรยาย ทำให้มองเห็นความเป็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะความเข้าใจในแง่มุมศิลปะ

              ดอกไม้คือดอกไม้และเป็นดอกไม้ แต่ขาเก้าอี้เป็นขาเก้าอี้เป็นเซนต์ Michael และเป็นนางฟ้าทั้งหลาย สี่หรือห้าชั่วโมงหลังจากนั้นเมื่อปฏิกิริยาเซลสมองเริ่มขาดน้ำตาล ฮักซ์ลีย์ ออกจากบ้านไปในเมืองเพื่อแวะที่ร้านยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่นั้นมีทั้งของเล่น การ์ด หนังสือคอมมิคและศิลปะ เขาหยิบหนังสือที่ใกล้มือขึ้นมาเล่มหนึ่ง “Van Gogh” ซึ่งเปิดอยู่ที่หน้า The Chair ภาพที่จิตรกรมองเห็นและพยายามป้ายมันลงบนผืนผ้าใบ เก้าอี้ของ Van Gogh เป็นเหมือนแก่นแท้ของเก้าอี้ที่ ฮักซ์ลีย์ มองเห็นและดูเหมือนมันจะเป็นจริงยิ่งกว่าเก้าอี้ธรรมดาที่เรารับรู้กันทั่วไป เก้าอี้ในภาพนั้นทำให้เห็นถึงความไม่ธรรมดาของการสำแดงออกทางสัญลักษณ์แห่งความเป็นจริง มันคือความเป็นจริงของความเป็นเช่นนั้นเอง

The Chair, Van Gogh ที่มาของภาพ: https://www.vincentvangogh.org/gauguins-chair.jsp https://rosioldenburgfineart.com/product/van-gogh-chair/

ฮักซ์ลีย์ พยายามทำความเข้าใจกับความรู้หลายต่อหลายอย่าง ขณะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสารเมสคาลีน ประสบการณ์การทดลองของเขามีค่าเป็นทวีคูณ เพราะมันช่วยให้เขาสัมผัสเข้าใจตัวเองและโลกได้ดีขึ้น มันช่วยให้เขามีชีวิตที่เอาแต่ใจตัวเองน้อยลงและสร้างสรรค์มากขึ้น หนังสือเล่มนี้จบลงด้วยการไตร่ตรองครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับความหมายของประสบการณ์ของเขา ประการแรกคือความต้องการที่จะก้าวข้ามอัตตาความเป็นตัวตน โดยให้เหตุผลว่า “ประตู” ที่ดีต่อสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าแอลกอฮอล์และยาสูบ อาการเมามีข้อดีคือไม่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในผู้รับสาร แต่ผลของมันคือใช้เวลานานไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้บางคนที่อาจมีปฏิกิริยาเชิงลบ เขาสรุปว่าสิ่งมอมเมาไม่ใช่การรู้แจ้งหรือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนแต่เป็นคุณที่ให้เปล่า มันไม่จำเป็นแต่ก็เป็นประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีปัญญา แม้ว่าการให้เหตุผลอย่างเป็นระบบจะมีความสำคัญ แต่การรับรู้โดยตรงก็มีคุณค่าที่แท้จริงเช่นกัน สุดท้าย ฮักซ์ลีย์ ยืนยันว่าบุคคลที่มีประสบการณ์นี้จะได้รับผลการเปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยจิตใจของเราจะถูกปลูกฝังศิลปะแห่งการเปิดกว้างที่บริสุทธิ์หากคุณไม่เจอ Bad Trip เสียก่อน

หนังสือทั้งสามเล่มนี้จะพาคุณล่องไปกับวิวัฒนาการของมนุษย์จากโฮโมเซเปียนส์ถึงจุดหมายของเหล่าบุพผาชน

เอกสารอ้างอิง: Aldous Huxley, the Door of Perception: Heaven and Hell, Flamingo 1994. หยุดโลก บทเรียนชีวิตจากดอนฮวน, คาร์ลอส คาสตาเนด้า, พยับแดด แปล, สำนักพิมพ์เคล็ดไทย 2538. https://www.bbc.com/thai/international-41619943, https://bit.ly/3gzqyGi
https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=33&chap=4&page=t33-4-infodetail09.html, https://www.blockdit.com/posts/5d9b8367d736e02ce90617ca, https://hmong.in.th/wiki/Carlos_Castaneda, https://journalist-nsk.ru/th/dom-kvartira/kastaneda-imya-chem-opasen-karlos-kastaneda-podlinnaya-istoriya.html, https://voicetv.co.th/read/4efZ55Dmx, https://cads.in.th/cads/content?id=79, https://www.gotoknow.org/posts/234401, https://www.nateliason.com/notes/food-of-the-gods-by-terence-mckenna, https://hmong.in.th/wiki/Humphrey_Osmond, https://hmong.in.th/wiki/Aldous_Huxley,https://www.goodreads.com/book/show/3188964-the-doors-of-perception

Leave a Comment