บทความโดย คมกฤช มาลี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกำลังกัดเซาะทุกวงการและทุกสถาบันของประเทศนี้ไปทั่วทุกหย่อมหญ้า
แต่ก็ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ผู้เขียนอยากยกขึ้นมาพูดซ้ำ คือเรื่องผลกระทบทางด้านการศึกษา สืบเนื่องจากรายการ Inhereyes[i] ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 คำผกา (พิธีกร) ได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตในระยะยาวของวงการการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะลามไปถึงอนาคตของวงการวิชาการในประเทศไทยอีกด้วย ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอชี้แจงออกเป็นสองส่วน คือส่วนของนักเรียน และส่วนของสถาบันอุดมศึกษา
สำหรับส่วนของนักเรียน นอกจากเรื่องของคุณภาพการศึกษาของนักเรียนที่เป็นผลมาจากนโยบายที่ผันผวนไร้ความแน่นอน อีกจุดหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นคือภายในสิ้นปีพ.ศ.2564 จะมีเด็กจำนวนมากมายที่เข้าข่ายคาดว่ากำลังจะหลุดออกจากการศึกษากว่า 65,000 คน[ii] เนื่องด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศนี้ที่พังทลาย ไม่ว่าจะมาจากการประกาศล็อกดาวน์ประเทศเมื่อปีพ.ศ.2563 และการปล่อยปละละเลยของรัฐบาลจนก่อให้คลัสเตอร์การแพร่ระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า ที่มักตามมาด้วยการแก้ปัญหาแบบขอไปทีของรัฐบาล ทั้งการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน การสั่งปิดกิจการอย่างเช่นสถานบันเทิง ร้านนวด หรือการสั่งร้านอาหารให้ยกเว้นการนั่งทานและต้องเปลี่ยนเป็นการนำอาหารกลับบ้านอย่างไร้เหตุผล มาตรการเหล่านี้เป็นไปอย่างกะทันหันและยังไร้ซึ่งการจ่ายเงินเยียวยา นานวันเข้าเมื่อประชาชนไม่สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินกิจการของตัวเองต่อไปได้ พวกเขาขาดรายได้ และนั่นส่งผลให้ครอบครัวของเด็กนักเรียนจำนวนมากต้องตกอยู่ในสถานะยากจนอย่างฉับพลัน
เมื่อครอบครัวของเด็กไม่เหลือทุน จึงไม่สามารถลงทุนทางการศึกษาให้กับเด็กได้อีกต่อไป นั่นหมายความว่าจะต้องมีเด็กจำนวนมากที่ถึงแม้มีความสามารถมากพอและสามารถสอบผ่านเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ผู้ปกครองของเด็กๆ กลุ่มนี้ก็ไม่กำลังทรัพย์มากพอจะส่งเสียให้พวกเขาเรียนได้ หากประเทศไทยยังขืนรับมือกับโควิดอย่างถูลู่ถูกังเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ปีต่อปี ประเทศนี้ก็จะต้องสูญเสียโอกาสในการสร้างทรัพยากรคนรุ่นใหม่ไปอย่างน่าเสียดาย
มาดูทางฝั่งของมหาวิทยาลัยกันบ้าง นับตั้งแต่ล็อคดาวน์เมื่อปีที่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยเอกชนเองก็เริ่มส่งสัญญานหนีตาย ผ่านการเปิดสงครามลดราคาดึงดูดให้เด็กสมัครกันเข้ามาเรียน ทั้งลดเงินค่าเทอม จ่ายค่าครองชีพให้เพิ่ม[iii] หรือบางมหาวิทยาลัย ถ้าสมัครเรียนกันเป็นแก๊งค์ได้ส่วนลดเพิ่มขึ้นไปอีก[iv]
อันที่จริง ปัญหาเรื่องมหาวิทยาลัยเอกชนขาดนักศึกษานั้นก็เป็นปัญหาเรื้อรังก่อนหน้าวิฤตการณ์โควิดมาก่อนแล้วพักใหญ่ ๆ ด้วยเป็นผลมาจากแนวโน้มประชากรของประเทศนี้ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ[v] จำนวนเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงส่งผลให้ให้จำนวนนักเรียนมัธยมมีน้อยลง จำนวนนักเรียนที่น้อยลงก็ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาใหม่ที่สมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมีจำนวนน้อยลงตามไปด้วย และแถมในจำนวนเด็กนักเรียนที่มีน้อยอยู่แล้วนั้น มหาวิทยาลัยเอกชนยังต้องแย่งชิงเด็กกับมหาลัยของรัฐ รวมไปถึงสถาบันอาชีวศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีอีกด้วย
จากสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีอยู่แล้ว เมื่อมาเจอกับสถานการณ์ของโควิด เลยเป็นเหมือนการเร่งความเร็วให้ทุกอย่างยิ่งฉิบหายลงไปอีก ในขณะที่มหาลัยเอกชนมีเก้าอี้ที่ว่างสำหรับนักศึกษาเหลืออื้อ แต่ตลกร้ายที่ครอบครัวของเด็กจำนวนมากไม่มีกำลังทรัพย์สินพอจะจ่าย ‘ค่าเทอม’ ให้เด็กได้เรียนต่อ
“เงินหมดกันทั้งคู่”
มหาวิทยาลัยเอกชนกำลังตกอยู่ในสภาวะขาดทุนอย่างหนัก และหนทางเดียวที่จะหนุนให้มหาลัยวิทยาลัยยังคงเปิดกิจการต่อไปได้คือการค่อยๆ ยุบสายวิชาที่ถูกมองว่าเมื่อจบออกมาแล้วไม่สามารถทำเงินได้อย่างสายวิชามนุษยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ศิลปะ ศาสนา ปรัชญา ฯลฯ
ซึ่งการปิดตัวของสายวิชาเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวอาจารย์ที่สอนเองด้วย คือเมื่อสายวิชาถูกทำให้ชะงักลง เหล่าอาจารย์ที่อยู่ในสถานะลูกจ้างของมหาวิทยาลัยก็จะไม่สามารถผลิตงานวิจัยเพื่อขอรับตำแหน่งทางวิชาการได้ทันตามสัญญาจ้างกำหนด[vi] (ที่ส่วนใหญ่มีเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น) เมื่อไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการของตัวเองได้ พวกเขาเหล่านี้ก็จะต้องสิ้นสภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัย และกลายเป็นคนตกงานในที่สุด
มองต่อไปในระยะยาว หากสถานการณ์ยังคงรันอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากจะต้องตกงาน ประการหนึ่งมันแสดงให้เห็นว่าวิกฤตการณ์โควิดได้สร้างความบอบช้ำทางเศรษฐกิจจนถึงขั้นที่แม้แต่คนจบปริญญาโทปริญญาเอกก็ยังไม่มีงานทำได้ ภาวะตกงานจะไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่มีต้นทุนทางการศึกษาน้อยอีกต่อไป กับอีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้มองต่อ ว่าถ้าหากนักวิชาการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสังคมศาสตร์) เหล่านี้ไม่ได้หน้าที่ของพวกเขาอีกต่อไป หากนักวิชาการจำนวนมากไม่ได้นำความรู้ที่ตัวเองสั่งสมร่ำเรียนมาใช้ตั้งคำถามต่อสังคมและผลิตงานวิจัยออกมา สังคมจะเกิดอะไรขึ้น?
“มองไปในระยะยาว เราจะไม่มีธนาคารทางความรู้และสติปัญญาที่สะสมไว้ในสังคมเราเองเลย”
“ถ้าคุณไม่สามารถหล่อเลี้ยงธนาคารทางปัญญาไว้ให้กับสังคมไทยได้ มันก็จะเป็นสังคมที่ไม่มีอนาคต”
คำผกา ได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายเอาไว้เช่นนั้น…
โปรดติดตามตอนต่อไป
[i] VOICE TV. (16 มิถุนายน 2563). #inhereyes ประเทศนี้เน้นนายพล ไม่เน้นนักวิชาการ – YouTube. เข้าถึงได้จาก www.youtube.com: https://www.youtube.com/watch?v=ZjEKXnkh5Bc&list=PLvZq8jaJUgA1cPqRSjSnp4e2Npyz3_a1E&index=74
[ii] กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (17 มิถุนายน 2564). กสศ.สำรวจสถานการณ์เด็กหลุดออกนอกระบบหลังเปิดเทอมใหม่. เข้าถึงได้จาก www.eef.or.th: https://www.eef.or.th/news-eef-explore-children-falling-out-of-system-after-new-semester/
[iii] ประชาชาติธุรกิจ. (16 เมษายน 2563). ม.เอกชนโหนกระแสโควิดดึงนักศึกษา ลดค่าเทอม-หอพักฟรี-ทุน1แสน. เข้าถึงได้จาก www.prachachat.net: https://www.prachachat.net/education/news-450490
[iv] ประชาชาติธุรกิจ. (6 มิถุนายน 2563). ม.เอกชนแข่งดุส่อเจ๊งระนาว เรียนฟรี-มาเป็นแก๊งได้ลดเพิ่ม. เข้าถึงได้จาก www.prachachat.net: https://www.prachachat.net/education/news-474099
[v] ประชาชาติธุรกิจ. (28 พฤษภาคม 2561). ม.เอกชนส่อปิดตัวสูง หลังนักศึกษาลดฮวบ ! เข้าถึงได้จาก www.prachachat.net: https://www.prachachat.net/education/news-165748
[vi] PIRAPORN WITOORUT. (18 พฤศจิกายน 2562). อยากได้ผลลัพธ์แบบเวิลด์คลาส แต่สวัสดิการยังไปไม่ถึง : อาจารย์มหา’ลัยไทยใต้ความกดดัน. เข้าถึงได้จาก thematter.co: https://thematter.co/social/university-teachers-are-suffering/90996