Becomings Nonplace

Becomings nonplace

บทความโดย ผิว มีมาลัย

พื้นที่-สถานที่ในทางสาธารณะหลายแห่งมีลักษณะไร้สถานที่หรืออสถานที่ (Non-place or nonplace) ในขณะเดียวกันพื้นที่หรือสถานที่สาธารณะบางแห่งนั้นมีความหมายต่อผู้คนจำนวนมาก เช่นพื้นที่หรือสถานที่สาธารณะทางประวัติศาสตร์ความทรงจำซึ่งมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก ลักษณะของพื้นที่ที่ไร้สถานที่กลับถูกตรึงเอาความทรงจำและประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ฝังรากรอยแผลที่ใครหลายคนอยากลืมกลับจำ

ในโลกสมัยใหม่มนุษย์แทบทุกหมู่ย่อมมีประสบการณ์ในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย สถานที่หลายๆแห่งได้ถูกประทับคิดนึกในความรู้สึกของมนุษย์ หากในความเป็นจริงสถานที่อีกหลายแห่งกลับไม่ก่อเกิดความรู้สึกแม้สถานที่นั้นๆ จะเป็นสถานที่ที่มีความจำเป็นในวิถีการดำรงอยู่และมีประโยชน์ใช้สอยแก่มนุษย์อย่างยากหลีกเลี่ยง  

นักมานุษยวิทยา นักภูมิศาสตร์มนุษย์และนักจิตวิทยาสังคมพยายามศึกษาว่าความรู้สึกของสถานที่นั้นพัฒนาขึ้นอย่างไร เราจะพบว่าปัจจุบันโลกถูกเชื่อมโยงและเกิดการบีบอัดด้านเวลา-พื้นที่ (time-space compression) ประหนึ่งว่าโลกใบเล็กลง และนำพาให้มนุษย์ได้สัมผัสมิติใหม่ของการรับรู้ที่ซับซ้อนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พวกเขาได้เห็นพื้นที่ที่ไม่เคยเห็น รู้สึกกับพื้นที่แม้จะไม่เคยไป ด้วยการลดทอนปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับมนุษย์ในขั้นปฐมภูมิให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์ ภาพหรือเครื่องหมายเท่านั้น

มนุษย์ต้องปรับตัวให้ “ทัน” กับเวลาที่ล่วงไป
และแยกตนเองออกจากพื้นที่-สถานที่

ความทันสมัยจึงกลายเป็นเพียงวาทกรรมที่ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวให้ “ทัน” กับเวลาที่ล่วงไปและแยกตนเองออกจากพื้นที่-สถานที่ หรือไม่มีความเกี่ยวพันเชิงอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคลในความหมายที่ Marc Augé (1935-) นักชาติพันธุ์วิทยาและมานุษยวิทยาฝรั่งเศสที่สนใจศึกษาสังคมเมือง ได้เขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อ ”อสถานที่” (nonplace) เพื่อขุดค้นลงลึกในความหมายของการเคลื่อนที่ การเคลื่อนย้ายของมนุษย์และสภาวะชั่วขณะที่เกิดขึ้นกันสถานที่นั้นๆ โดยอ้างถึงช่องว่างที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของมนุษย์ที่ถูกลบออกไปจาสถานที่  โดยเขาได้อธิบายถึงความไร้สถานที่ (Non-places) หรือพื้นที่ที่ขาด “ความรู้สึกของสถานที่”  ความไร้สถานที่ได้แยกมนุษย์กับสิ่งที่แวดล้อมออกจากกันด้วยประดิษฐ์กรรมที่เรียกว่า Supermodernity  ซึ่งอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพื้นที่ในสถานการณ์ความล้นเกินด้านข้อมูลและความล้นเกินด้านพื้นที่ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ที่มาของภาพ: https://smboneva.wordpress.com/2016/10/16/marc-auge-non-places-introduction-to-an-anthropology-of-supermodernity/

Augé เสนอให้เรากลับไปมองเห็นความสำคัญของคำว่าพรมแดนเสียใหม่ ในฐานะที่มันคือทางผ่านไม่ใช่ทางตัน ไม่ว่าโลกโลกาภิวัตน์จะดำเนินหรือหมุนรุดหน้าไปไกลสักเพียงใด คำว่าพรมแดนก็ยังคงดำรงอยู่ และเราไม่สามารถปฏิเสธถึงการดำรงอยู่ของมันได้ ด้วยเหตุที่เขาสนใจเรื่องของการเคลื่อนไหวของมนุษย์  Augé ได้ผลิตผลงานทางมานุษยวิทยาที่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่แสดงถึงความเป็นพลวัตรอยู่ตลอดเวลาในตัวของมนุษย์ แม้แต่งานเขียนเรื่องการขี่จักรยาน (Éloge de la bicyclette, 2008) สำหรับ Augé แล้วเขาสามารถอธิบายมันได้ในเชิงมายาคติและการเมือง เขายังศึกษาชีวิตชาวปารีสที่ใช้รถไฟใต้ดิน โดยเอาแนวคิดเรื่องความเป็นจริงทางสังคมของ Marcel Mauss (1872 –1950) นักสังคมวิทยาฝรั่งเศส มาอธิบายว่ารถไฟใต้ดินในปารีสนั้นเป็นพื้นที่ที่แสดงความเป็นจริงทางสังคมอย่างหนึ่งที่สามารถแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคม ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยร่วมสมัยทางมานุษยวิทยาที่น่าสนใจ

ในแนวคิด ‘supermodernity’ ได้อธิบายตรรกะที่ล้นเกินด้านข้อมูลและพื้นที่ในทางมานุษยวิทยา โดยแสดงความต่างระหว่างสถานที่ในทางประวัติศาสตร์และชีวิตทางสังคมที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น และอสถานที่ที่ปัจเจกบุคคลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องตามแบบพฤติกรรมมนุษย์ กับสถานที่ซึ่งชีวิตทางสังคมไม่สามารถงอกเงยก่อเกิดปฏิสัมพันธ์ใดๆ ความคิดนี้แตกต่างจากแนวคิดสมัยใหม่สกุล Baudelaire (Charles Pierre Baudelaire 1821 –1867) ที่อธิบายว่าสิ่งเก่าและใหม่จะสอดประสานเข้าด้วยกัน ดังนั้น supermodernity จึงเป็นเพียงการรวมกันแบบสองมิติระหว่าง motorway หรือ aircraft  ความเป็นท้องถิ่นหรือความแปลกใหม่ (exotic) ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสวนสนุก

หาก Supermodernity ตามความหมายของ Auge  นั้นหมายถึงการรายล้อมของสถานที่ที่ปรากฏแสดงภายนอกความไร้สถานที่ และมีแนวโน้มในการสร้างตัวตนขึ้นใหม่ภายในตัวของมันเอง เขาโต้แย้งแนวคิดดังกล่าวโดยระบุว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นอสถานที่มากยิ่งขึ้นในทุกขณะในเวลานี้ เป็นบทสรุปในช่องว่างของความโดดเดียวที่มีขนาดมหึมาซึ่งกลายเป็นเนื้อหาทางมานุษยวิทยาโดยตัวมันเอง เนื่องจากสถานที่ต่างๆ ที่ตอบสนองการดำรงชีวิตของมนุษย์กำลังกลายสู่ความเป็นสถานที่ที่ไร้ความรู้สึก อ้างว้างและว้าเหว่

ที่มาของภาพ: https://www.tokyofotoawards.jp/winners/social/2018/Non-Place/

Augé เป็นนักมานุษยวิทยาพื้นที่ที่อธิบายถึงสภาวะความไม่ถาวรของสถานที่ ความไร้สถานที่หรืออสถานที่ (Non-place or nonplace) ที่มีผลต่อมนุษย์ในการปรากฏแสดงของปัจเจกบุคคลโดยปราศจากความมีอยู่ (beings) หรือสภาพไร้ตัวตน (anonymous) เขาระบุว่าสถานที่เหล่านั้นจะมีลักษณะเป็นพื้นที่ที่มนุษย์มิได้อาศัยอยู่ภายใน เป็นสถานที่ที่มิได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระดับพื้นฐานร่วมกันทางสังคม และก่อให้เกิดความโดดเดี่ยวในมุมมองทางชาติพันธุ์วรรณา ในตัวอย่างพื้นที่-สถานที่ เช่น ซุปเปอร์มาร์เกต ทางด่วน  ห้องพักในโรงแรม โรงพยาบาล โรงหนัง สนามบิน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และจอคอมพิวเตอร์-ทีวี แม้กระทั่งตู้กดเงิน ATM ฯ

“คุณจะถูกจับจ้องและให้ปฏิบัติตามมาตราการณ์ที่กำหนดเท่านั้น”

อสถานที่ ดังกล่าวโดยมากมีลักษณะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความแข็งแรง ระบบจะตรวจสอบเมื่อคุณก้าวเข้าไปภายใน หนังสือเดินทางจะถูกประทับ การรับเอาเอกสารเพื่อรับรองผ่านทาง กระเป๋าจะต้องถือติดตัวเสมอ มิเช่นนั้นหน่วยรักษาความปลอดภัยจะนำไปตรวจสอบฯ ในพื้นที่เช่นนี้คุณจะถูกจับจ้องและให้ปฏิบัติตามมาตราการณ์ที่กำหนดเท่านั้น การสังเกตได้โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพียงคนเดียวจากห้องควบคุมที่เรียกว่า Panoptic เกิดขึ้นโดยคุณไม่รู้ตัว

Auge ตั้งคำถามเกี่ยวกับอสถานที่ว่าอะไรที่ “ไม่มีในความไร้สถานที่” โดยเขากล่าวว่าสิ่งที่ขาดหายไปในความไร้สถานที่ ได้แก่เรื่องของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในเชิงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ทั้งด้านสังคมและปัจเจกบุคคล มันเป็นที่ๆ เกิดการปะทุขึ้นจากรูปแบบของเหตุการณ์ในพื้นที่หรือสถานที่จำเพาะ (site-specific event) และภูมิทัศน์ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกประสบการณ์ที่มนุษย์ถือกำเนิดมา จากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาดำรงอยู่

ที่มาของภาพ: https://www.tokyofotoawards.jp/winners/social/2018/Non-Place/

พื้นที่(space) นั้นมีความเป็นนามธรรมมากกว่าสถานที่(place) และมีความสำคัญต่อมนุษย์มากกว่าการระบุตำแหน่ง มันให้ความหมายทางสังคมที่ซ้อนเร้นด้วยการกระทำของมนุษย์ พื้นที่กลายเป็นตำนาน กลายเป็นที่ลี้ลับ ก็ด้วยกิจกรรมทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้น การผลิตสร้างความหมายของพื้นที่ (production of space) ทั้งทางกายภาพ ทางความคิดและทางสังคม คือความสัมพันธ์(spatial relationship) ที่ซ่อนนัยทางอำนาจ และความหมายแฝงเชิงพื้นที่ลงไปในสถานที่นั้นๆ 

สถานที่จึงเป็นฐานลองรับทางจิตวิทยาที่มีต่อพัฒนาการของปัจเจกบุคคล คุณสมบัติของสถานที่เป็นเหตุเป็นผลและมีแนวโน้มต่อการที่มนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน การเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากประสบการณ์ตรงในสถานที่มีลักษณะเช่นเดียวกับบทบาทของครอบครัว วัฒนธรรม และชุมชน ความผูกพันพิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กกับสภาพแวดล้อมถูกเรียกว่า “ภูมิปฐมภูมิ” คืออัตลักษณ์ของบุคคลและถือเป็นจุดสำคัญในการเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาสถานที่อื่นในชีวิตเมื่อผู้คนมีการเคลื่อนที่หรือโยกย้ายถิ่นฐาน เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขามักจะพิจารณาสถานที่ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์พื้นฐานที่เคยมีประสบการณ์ในวัยเด็กเสมอ

ที่มาของภาพ: https://www.advisato.it/blog/nonluoghi/

ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่-สถานที่ถูกผูกโยงติดกับมนุษย์           ซึ่งมีการปฏิสัมพันธ์ เลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภายใต้กระบวนการกลายสู่และเปลี่ยนผ่าน (becoming or transformation) ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม มิติปัญหาต่างๆในทางสังคมจึงมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างเเละสถานที่เสมอ ในทัศนะของ Foucault มันคือพื้นที่ที่ไม่ปกติหรือพื้นที่ว่างอื่นๆ (Other Space) ที่เรียกว่า เฮเทอโรโทเปีย (Heterotopias) เป็นพื้นที่ที่คู่ขนานไปกับพื้นที่สมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริง เป็นพื้นที่ของการปฏิเสธภาวะทางสังคมหรือพื้นที่ของอำนาจที่มีผลกระทบทางสังคม มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับสภาวะความเป็นจริงของชีวิตซึ่งมีความขัดแย้งดำรงอยู่ การสร้างหรือนำเสนอพื้นที่แบบเฮเทอโรโทเปีย (Heterotopias) เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าผลที่ปรากฏจะเป็นการปฏิเสธสังคมหรือด้วยความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นก็ตาม

การสร้างพื้นที่-สถานที่ ภายใต้บริบทซึ่งอยู่ในสภาวะของกระบวนการกลายสู่ (becoming) นั้น มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่ตายตัว ตอกย้ำความคิดที่ว่าความรู้สึกต่อสถานที่และสภาวะไร้สถานที่ (placeness and placelessness) คือกุญแจสำคัญในการประกอบสร้างสถานที่ขึ้นมา (sense of placeness and the placelessness as key in the constitution of the place) แม้ non-place และ place จะเป็นสิ่งเดียวกันก็ตาม แต่มันไม่เคยปรากฏเป็นรูปเป็นร่างที่สามารถจับต้อง สถานที่กำลังสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่จากภายในตัวมันเอง ซึ่งจริงๆ แล้วมันมิได้มีอยู่ก่อนที่จะมีร่างกายปรากฏขึ้น มันเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอย่างเป็นระบบระเบียบและมีการจัดการมาเป็นอย่างดี สถานที่จึงเกิดขึ้นควบคู่ไปกับร่างกายในลักษณะเป็นส่วนขยายของมนุษย์ โดยมีสะพานเชื่อมระหว่างกันและกัน

ที่มาของภาพ: http://www.michelapozzi.net/en/works/non-luogo-interiore

การเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่เป็นสถานที่ เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในปัจเจกบุคคลและบริบทที่ต่างกัน  มันสร้างความรู้สึกถึงการเป็นคนใน (insider) หรืออาจผลักให้กลายเป็นคนนอก (outsider) กระบวนการกลายเป็นสถานที่มักเกิดจากความผูกพัน หรือมีความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมา มันคือแหล่งสะสมของประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา ประสบการณ์ที่ว่านี้มิได้แผ่ขยายออกในทางราบ แต่เป็นการซ้อนทับกลับไปกลับมาที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก

“สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอื่นที่ทุกคนสามารถรู้สึกได้ถึงความเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน”

ในกรณีที่สถานที่นั้นไม่ใช่สถานที่ หรือเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามจากสถานที่ที่มนุษย์มีความสัมพันธ์ มีประวัติศาสตร์ร่วมและเกี่ยวข้องในเชิงอัตลักษณ์ ความย้อนแย้งของอสถานที่ในแง่มุมของ Augé เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้สึกถึงความเป็นบ้าน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอื่นที่ทุกคนสามารถรู้สึกได้ถึงความเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน ในความหมายที่เหมือนกับการที่เราเดินทางท่องเที่ยวไปในต่างแดน ที่ซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างจากเราหรือแม้แต่ภายในประเทศเดียวกันที่ๆ ผู้มีอำนาจมีวัฒนธรรมและชุดความคิดคนละชุดกับเรา  ความเป็นสากลต่อสถานะของความเป็นคนไร้บ้านจะปรากฏขึ้น มันคือสภาวะความไร้สถานที่ที่แวดล้อมเราอยู่แม้เราจะเคลื่อนไหวอยู่ภายในนั้นก็ตาม

จากทัศนะดังกล่าวเราลองจินตนาการผ่านภูมิทัศน์ทางสังคมการเมืองดูกันว่า เมื่อภาพพื้นที่-สถานที่ถูกขยายให้กว้างขึ้นโดยเปรียบสถานที่ในฐานะพื้นที่พรมแดนความเป็นรัฐ และปัจเจกบุคคลในฐานะพลเมืองที่ตกอยู่ใต้การกำกับควบคุมโดยอำนาจจากภาครัฐ ความสำคัญของพรมแดนระหว่างรัฐและพื้นที่ของปัจเจกบุคคล อยู่ที่ความเป็นพลวัตรของการเรียกร้องทวงคืนความเป็นเจ้าของพื้นที่-สถานที่โดยนัยที่พลเมืองหรือปัจเจกบุคคลรวมตัวกันเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนเพื่อไม่ปล่อยให้พื้นที่หรือประเทศในฐานะสถานที่แห่งหนึ่งที่มีรูปทรงขวานกลายเป็นอสถานที่ต่อผู้เห็นต่างในวันข้างหน้า

_______________________________________

เอกสารอ้างอิง

1. Marc Augé, Non-places. Introduction to an Anthropology of Supermodernity, New York-London, Verso,1995, pp-77-96 (ed. or. Non-Lieux, Introduction à une anthropologie de Ia surmodernité, Paris, Seuil, 1992)

2.Kevin Donovan, Building Supermodernity: The Architecture of Supermodernism,  Jan 1, 2009

3. นราธร สายเส็ง, ธรรมชาติมนุษย์กับมุมมองเชิงพื้นที่, ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ

ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – เมษายน 2560

4. ศุภมณฑา สุภานันท์, พื้นที่เวลา อัตลักษณ์และการสร้างความหมายทางสังคม, 186…Journal of Communication Arts Vol. 29 No. 3 2011 Faculty of Communication Art, Chulalongkorn University

5. ฐานิดา บุญวรรโณ, มานุษยวิทยาสำนักฝรั่งเศส, http://thanidab.blogspot.com/2013/01/blog-post.html

6. https://searchworks.stanford.edu/view/3003009

7. https://www.tokyofotoawards.jp/winners/social/2018/Non-Place/

8. https://smboneva.wordpress.com/2016/10/16/marc-auge-non-places-introduction-to-an-anthropology-of-supermodernity/

9. https://www.oxfordreference.com/view/10.1093/oi/authority.20110803100237780

10.https://smboneva.wordpress.com/2016/10/16/marc-auge-non-places-introduction-to-an-anthropology-of-supermodernity/

Leave a Comment