-The Practice of Everyday Life-

Tab Title 1

Add Your content here

Tab Title 2

Add Your content here

Add Your Heading Text Here

LONGTRUK: Openlab #7

เรียบเรียงบทความ: ภาอรุณ

ช่วงนี้ข่าวการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนได้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายท่ามกลางความร้อนระอุของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย

รูปแบบการแสดงออกที่ใช้ในการประท้วงเป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก ในแง่ของความสร้างสรรค์ที่มีการใช้เทคนิคหลากหลายแปลกใหม่ นำสัญลักษณ์ต่างๆ มาใช้สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้แต่ละการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการต่อบทหนังหอแต๋วแตก การเสกคาถาแฮร์รี่พอตเตอร์ หรือการวิ่ง-ร้องเพลงแฮมทาโร่ การนำเพลงสันทนาการมาร้องกับเนื้อหาใหม่ในการชุมนุม หรือการนำกิจกรรมหรือวาทกรรมที่คนรุ่นก่อนสร้างมาผลิตซ้ำและเปลี่ยนความหมายหรือช่วงชิงพื้นที่ตามบริบทของสถานการณ์ ทั้งหมดนี้เป็นการนำความเป็น Pop Culture มาใช้ ประกอบกับธรรมชาติของคนไทย ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นบางทีดูแล้วก็รู้สึกว่า มันอะไรกัน? แต่ขณะเดียวกัน พฤติกรรมดังกล่าวก็ดูเป็นการขบถที่มีความสร้างสรรค์ และสามารถนำพาข่าวที่อยู่ภายในประเทศออกสู่สายตาชาวโลกได้ด้วยการหยิบยืมและปรับใช้ระหว่างวัฒนธรรม

  • ทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า Practice of the Everyday Life สามารถอธิบายถึงสถานการณ์ของการสร้างสรรค์รูปแบบชุมนุมในตอนนี้ได้ดี รวมไปถึงสามารถปรับใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบของตัวเอง

ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นโดยบาทหลวงและนักวิชาการชาวฝรั่งเศสชื่อว่า มิเชล เดอร์ แชร์โท (Michel De Certeau : 1925-1986) ว่าด้วยประเด็นของการต่อรองในชีวิตประจำวัน การกระทำของผู้คนที่ใช้สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทำการต่อรองกับข้อจำกัดที่กดทับผู้คนเหล่านั้นไว้ ซึ่งในทุกๆ พื้นที่ของการใช้ชีวิตมีอำนาจ การครอบงำ และการกดทับอยู่ตลอดเวลา ทั้งกรอบทางสังคม เศรษฐกิจ กฎระเบียบต่างๆ และเมื่อมีอำนาจที่กดทับย่อมต้องมีการต่อสู้ ตอบโต้กลับเกิดขึ้นอยู่เสมอ การต่อรองนั้นเป็นการทำให้อำนาจที่กดทับอยู่สะดุดลงไม่ใช่การทำลายอำนาจที่กดทับนั้นแต่อย่างใด (ไชยรัตน์,2516) เพราะในโลกที่พื้นที่ทางวัฒนธรรมถูกอุดมการณ์ครอบงำมาเป็นระยะเวลานานภายใต้โครงสร้างที่สลับซับซ้อน ผ่านวาทกรรมขนาดใหญ่ หรือค่านิยมที่ปลูกฝังมาอย่างยาวนาน รวมไปถึงความเชื่อต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่ยึดพื้นที่ทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไว้เท่านั้น แต่ยังเข้ามาครอบงำความคิดและจิตใจของผู้คนด้วย จึงเป็นการยากที่ประชาชนคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาต่อสู้หรือทำการต่อรองได้ง่ายๆ เพราะการรวมกลุ่มเพื่อเกิดเป็นกระบอกเสียงในการต่อรองนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้อย่างบ่อยครั้ง

มิเชล เดอร์ แชร์โท (Michel De Certeau : 1925-1986)

อย่างไรก็ตามการต่อรองก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นการต่อสู้แบบเล็กๆน้อยๆ ผ่านปัจเจกบุคคล เนื่องจากชนชั้นที่ถูกปกครองนั้นไม่สามารถเอื้อมมือไปแตะที่สายพานแห่งการผลิตได้โดยตรง แต่ในขั้นตอนของการบริโภคนั้นเราสามารถรับมาแก้ไข ดัดแปลง ผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบโดยอาศัยข้อจำกัดที่มี ทว่าการเริ่มต้นจากการต่อรองเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน บางกิจกรรมอาจดูเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ทว่าการไร้ความหมายกลับหมายถึงการมีความหมายด้วยเช่นกัน เราจะค่อยๆ ค้นพบช่องทางสู่ความเป็นอิสระ ซึ่งอันที่จริงแล้วกรอบนี้ถูกเรียกว่า กลยุทธ (Tactic) เพื่อความอยู่รอดของผู้คนในสังคมที่เต็มไปด้วยอำนาจ หรือที่ เดอ แซร์โต เรียกว่า ‘วิธีใช้พลังอำนาจที่อ่อนแอเผชิญกับความเข้มแข็ง’

อย่างใน ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ กลวิธีที่ผู้ชุมนุมใช้คือ การต่อบทหนัง ซึ่งเป็นการนำบทพูดบางส่วนในบทภาพยนตร์ ‘หอแต๋วแตก’ กำกับโดย พจน์ อานนท์ มาใช้กลยุทธคือ ประสบการณ์ร่วมที่ผู้คนเคยดูหนังเรื่องหอแต๋วแตก ร่วมกันดัดแปลงเนื้อหาที่อยู่ในบทหนัง ถ่ายทอดเรื่องราวเนื้อหาใหม่ออกมาให้เชื่อมโยงกับข้อเรียกร้องประชาธิปไตย เราจึงเห็นได้ว่า การใช้กลวิธีนั้นไม่มีรูปแบบที่ตายตัวหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการรับใช้ส่วนต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น การแสดงออกที่ไร้แบบแผนหรือรูปแบบที่เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวใดๆ

ด้วยชีวิตประจำวันของมนุษย์สมัยใหม่ได้ถูกจัดระบบโครงสร้างที่แน่นอนเอาไว้ และถูกใช้เป็นปัจจัยในการผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดโครงสร้างสังคม ดังนั้นหากเราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราอาจจะเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงในระดับชีวิตประจำวันเป็นอันดับแรก การเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันจะเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้แสดงศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง เมื่อความสัมพันธ์ของการบริโภคเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคจึงไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ (object) อีกต่อไป แต่ผู้บริโภคมีวิธีการ (way of operating) ที่มีความสัมพันธ์กับอำนาจ การศึกษาชีวิตประจำวันจึงสามารถเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งได้ สิ่งที่ เดอ แซร์โตพยายามชี้ให้เราเห็น คือ การที่อำนาจไม่อาจครอบครองชีวิตประจำวันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราสามารถค้นหาเครื่องมือที่ใช้ในการต่อรองได้จากความเป็นไปในชีวิตประจำวัน หาวิธีการที่สามารถสะท้อนความหลากหลายอันไม่ปะติดปะต่อกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมากจากการผสมผสานด้วยวิธีการอันหลากหลาย อีกทั้งเราสามารถสร้างพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือวาทกรรมเพื่อทำให้เกิดกระบวนการที่จะเข้าใจในความจริงต่างๆ ได้ด้วยการใช้สิ่งเล็กๆน้อยๆ เป็นจุดเริ่มต้นของพลังอันยิ่งใหญ่

บางทีการที่พวกเราต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่และฝังรากลึก อาจต้องเริ่มเปลี่ยนจากการกระทำเล็กๆในชีวิตประจำวันของเรา ตระหนักรู้ว่าเรากำลังทำสิ่งใดอยู่ จนเกิดการค้นพบว่า ตัวเรา หรือ ร่างกาย สามารถสร้างสิ่งใดได้บ้าง แค่อาจเริ่มจากการ ‘เปลี่ยนตัวเราเอง’ แล้วซักวันหนึ่งสิ่งที่อ่อนแอจะกลายเป็นความเข้มแข็งที่ดำเนินอยู่ร่วมกับความเข้มแข็งได้ในที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1] บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากบทวิจัยเรื่อง การศึกษาความเชื่อมโยงของสื่อ สังคมและอุดมการณ์ชาตินิยม กระแสหลักผ่านสื่อละครโทรทัศน์เรื่อง “ทวภิพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 2] ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.2563. ทฤษฎี Practice of the Everyday Life ของ Michel de Certeau. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา หนังสือรวมบทความประกอบการประชุม (E-Proceeding) DWELLING BELONGING & BECOMING “อยู่ กลืน กลาย”

Leave a Comment