บางกอกหลอกชั้น [Exhibition review] Part.1

LONGTRUK: Openlab #8

[Interdisciplinary art]

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย

  • จะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯในปัจจุบันหากการปฏิวัติยึดอำนาจในปี ค.ศ. 1688 ไม่เป็นผลสำเร็จ และป้อมบางกอกสร้างเสร็จตามวัตถุประสงค์ได้เปิดใช้งาน

  • ช่วงเวลาแห่งปฐมบทเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) ฝั่งตะวันออกกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแต่ก็ต้องเลื่อนออกไปอีกเกือบร้อยปีจนถึงเมื่อต้นราชวงศ์จักรีในปีค.ศ. 1782

  • ภาพสะท้อนเมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯ ที่ทุกคนรู้จักอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมันเชื่อมโยงไปสู่การเมืองการปกครองของผู้มีอำนาจนำ สำหรับคนที่ถูกกล่าวหาว่าชังชาติหรือแม้แต่พวกคลั่งชาติด้วยเช่นกัน

ลองจินตนาการดูกันว่า ต้องใช้กระจกเงากี่บานนับไม่ถ้วนเพื่อจะสะท้อนภูมิเมือง (topography) ของกรุงเทพมหานครฯ ให้ได้เพียงภาพเดียว ถึงแม้กระจกเงาจะมีความสามารถในการสะท้อนภาพได้ชัดคม แต่มันก็เป็นวัสดุที่เปราะบางเกินกว่าขนาดของมันที่ต้องมีความใหญ่โตมโหฬารมากพอ จึงจะสะท้อนภาพมหานครอย่างกรุงเทพฯในฐานะองค์ประธานได้ในภาพคราวเดียว


ด้วยเหตุที่บริบททางประวัติศาสตร์ สังคม-วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครองของเมืองอย่างกรุงเทพมหานครฯ มีรายละเอียดของเนื้อหาขนาดมหึมา ยากต่อการศึกษาทำความเข้าใจด้วยระบบวิธีวิทยาของศาสตร์ความรู้แขนงใดแขนงหนึ่งโดยเฉพาะ


ยังผลให้ผู้สนใจศึกษาจำเป็นต้องอาศัยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ประกอบการพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูล และโดยการทำให้พื้นที่ศึกษากลายเป็นชายขอบ เพื่อให้ความสงสัยใคร่รู้ของบุคคลไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกรอบความรู้เดิม และทำให้ข้อกังขาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ด้วยเหตุที่ภาพสะท้อนจากกระจกเงาซึ่งปรากฏแก่เราก็มิใช่ตัวความจริงของสิ่งที่ถูกสะท้อนเสียทีเดียว ดังนั้นสนามทางสหวิทยาการศิลป์จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจในประเด็นศึกษา กรณีศึกษาภาพสะท้อนกรุงเทพมหานครฯ โดยมีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดจินตนาภาพและเปิดพื้นที่โต้แย้งอย่างสร้างสรรค์


บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers) คือ ชื่อนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Topography of Mirror Cities บริหารและดำเนินโครงการฯโดย Sandy Hsiu-chih Lo ภัณฑารักษ์กลาง (Chief Curator) จากประเทศไต้หวัน โดยทุนสนับสนุนจาก National Culture and Arts Foundation กระทรวงวัฒนธรรม รัฐบาลไต้หวัน


Lo ได้เชื้อเชิญภัณฑารักษ์จาก 6 ประเทศร่วมนำเสนอภาพสะท้อนของสถานที่ในแต่ละเมืองสำคัญในภูมิภาค ให้กลายเป็นพื้นที่ของการศึกษาผ่านสนามทางทัศนศิลป์และรูปแบบนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย โดยมีภัณฑารักษ์จาก 6 ประเทศนำเสนอภาพสะท้อนในบริบทที่แตกต่างกันไปตามแต่ละนคร


ภัณฑารักษ์ทั้ง 6 ประกอบ ด้วย Lian Heng Yoehประเทศมาเลเชีย นำเสนอโครงการ History-Community-Identityที่กรุงกัวลาลัมเปอร์Vuth Lyno, Pen Sereypagnaประเทศกัมพูชา นำเสนอโครงการ Geo-bodyที่กรุงพนมเปญ Ade Darmawanประเทศอินโดนีเชีย นำเสนอโครงการ Mass Rapid Mobilityที่กรุงจาการ์ตา, Mahbubur Rahmanประเทศบังกลาเทศ นำเสนอโครงการ City of the Bookที่กรุงธากาและManray Hsuสาธารณรัฐไต้หวัน นำเสนอโครงการ Herbal Urbanismที่กรุงไทเป และ Jiandyin ประเทศไทย นำเสนอโครงการบางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers)ที่กรุงเทพฯ


นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers: Contemporary Art Exhibition)จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครฯ ดำเนินการโดยบ้านนอกความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม ภัณฑารักษ์ Jiandyinได้เชื้อเชิญศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาโดยรวมเอาสหวิทยาการ เช่น นักอักษรศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักโบราณคดี นักดาราศาสตร์ นักนิรุกติศาสตร์การออกแบบ นักออกแบบกราฟิกสถาปัตย์ และศิลปินเข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงานได้แก่ หงจัง หลิน(PhD.), อวิกา สมัครสมาน, เซบาสเตียง ทายัค(PhD.),อนุพงศ์ เจริญมิตร, แก่นสาร รัตนสมฤกษ์นารีมัส เจะและ(PhD.),จิรวรรณ เกียรติโพธาสุพจน์ คุณานุคุณราชันย์ กล่อมเกลี้ยงวราวุธ ศรีโสภาคพชร ไชยเรืองกิตติ และ สาวิตรี เปรมกมล เพื่อแสดงออกถึงพลวัตรในภาพสะท้อนเมืองหลวงของไทย

Bangkok Layers publication

  • บางกอกหลอกชั้น : แนวคิดวิธีวิทยาภัณฑารักษ์

กรอบความรู้หรือโครงสร้างทางความคิดของแต่ละยุคสมัย คือ กรอบที่กำกับวิธีคิด ความเชื่อ และวิธีเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ของมนุษย์เรา แหล่งอ้างอิงเช่น บันทึกจดหมายเหตุ ข้อเขียนบทความ หรือแม้แต่คำพูดทั้งหลายได้ไหลเวียนเผยแพร่ออกไปในสังคมของแต่ละยุคสมัย

เป็นแหล่งอ้างอิงที่ทรงพลังสำหรับใช้ขุดค้นเพื่อหาความหมายและให้คุณค่าแก่สรรพสิ่ง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault 1926-1984) เรียกมันว่า “วาทกรรม หรือ Discourse” หากแต่วาทกรรมเช่นนี้มิได้หมายถึงตัวภาษาโดยตรงแต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วในสังคมด้วยอาศัยภาษาซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญะ


วาทกรรมดังกล่าวสามารถชี้นำให้เราเข้าถึงชุดความหมายนั้นๆได้[1] ฟูโกต์ได้ขยายความแนวคิดเรื่องนี้อย่างละเอียดในหนังสือ The Order of Things: An Archeology of the Human Sciences (ถ้อยคำกับสรรพสิ่ง: โบราณคดีแห่งศาสตร์ที่ว่าด้วยมนุษย์) ซึ่งนำเสนอแนวคิดในการขุดค้นและสำรวจลึกลงไปในเอกสารชั้นต่างๆ

The Order of Things: An Archeology of the Human Sciences

เพื่อค้นหาโครงสร้างทางความคิดของแต่ละยุคสมัย โครงสร้างที่ว่านี้ คือ กรอบความรู้ซึ่งเป็นเสมือนขอบฟ้าทางความคิดที่ครอบผู้คนในยุคนั้นๆ เอาไว้ จะเห็นได้ว่าสังคมแต่ละยุคสมัยล้วนอุปโลกน์ชุดความรู้ของตนเองขึ้นเป็นสัจธรรม [2] ตัวอย่างเช่น กรอบความรู้ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 อ้างอิงถึงความคล้ายคลึงกันของสรรพสิ่ง


ต่อมาในยุคการปฏิวัติทางปัญญาระหว่างศตวรรษที่ 17-18 กรอบความรู้ได้หันเหไปเน้นการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสรรพสิ่งโดยการชั่ง ตวง วัด และจัดประเภทสิ่งต่างๆ ตามคุณสมบัติเฉพาะอัตลักษณ์ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างโปร่งใสด้วยภาษา

กรุงเทพก็ม้าอ๋า, พชร ไชยเรืองกิตติ, วีดิโอ, สี, 3.10 min., 2 หูฟัง, วน

เมื่อถึงยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กรอบความรู้ได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญต่อสาเหตุของสรรพสิ่งที่ว่าอะไรกำหนดให้เกิดอะไร ด้วยพัฒนาการของกรอบความรู้ดังกล่าวส่งผลให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นกรอบแม่บทของความรู้ทั้งปวงในฐานะคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุ[3] คือต้นตอหรือที่มาของกรอบความรู้ที่สัมพันธ์กับเราในปัจจุบันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


เมื่อเรานำ “ประวัติศาสตร์ความคิด” จากข้อเสนอของฟูโกต์มาวิเคราะห์สิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของปัจเจกบุคคลที่คิด ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจข้อจำกัดการคิดของคนเรา ซึ่งข้อจำกัดเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นกับผู้เขียนประวัติศาสตร์เช่นกัน

ความสนใจต่อโครงสร้างที่เป็นบริบทการคิดของคนเราว่าอะไรที่ทำให้คิดและเป็นเช่นนั้น คือที่มาของการทำให้องค์ประธานเป็นชายขอบนั้นเอง [4]


เหตุที่กรอบความรู้เช่นนี้มิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ ในความคิดหรือสำนึกของมนุษย์ มันได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นและมีอำนาจกำหนดหรือมีอิทธิผลต่อพฤติกรรมชีวิตของมนุษย์เราในแง่มุมต่างๆ ตัวอย่างเช่น กรอบความรู้ที่ว่า “ชาติเกิดจากการที่บรรพบุรุษแต่โบราณได้สร้างและเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษา


ส่งผลต่อแนวคิดและการแสดงออกของผู้ที่เชื่อในกรอบความรู้เรื่องนี้ผ่านภาษา และรูปแบบวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับความเชื่อในกรอบความรู้นั้น [5] หากจะพิจารณาระบบการสร้าง กรอบความรู้หรือวาทกรรมในแบบเปิด (openness) ที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวเป็นมายาภาพตัวแทน

ศูนย์กาล, นารีมัส เจะและ (PhD.), วีดิโอ, สี, 56 sec., วน

ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนหรือถูกแทนด้วยกรอบความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการรื้อสร้างตัวแทนตามทัศนะของ ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida ค.ศ. 1930-2004) เป็นไปได้หรือไม่ที่ภาพตัวแทนเหล่านั้นจะสามารถสร้างกรอบความรู้กรอบหนึ่งภายนอกตัวของมันเอง


การค้นหาร่องรอยของแบบแผนภายใต้กรอบความรู้และการเชื่อมโยงบรรดาข้อความต่างๆ ตามหนังสือตำราวิชาการ งานวรรณคดี และวรรณกรรมพื้นบ้าน บันทึกเรื่องเล่า แผนผัง ภาพวาด ภาพถ่าย ฯลฯ เอกสารหรือจดหมายเหตุเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นหลักฐานพยานแห่งวาทกรรมในมิติของการใคร่ครวญเชิงทฤษฎีและการวิเคราะห์ตัวบท (theoretical speculation and textual analysis)


โดยให้ความสำคัญแก่การขุดค้นและทำความเข้าใจต่อบริบททางประวัติศาสตร์แบบจำเฉพาะ (history as a single collective narrative) จะสามารถเชื่อมโยงตัวเราจากอดีตสู่กรอบความรู้ของปัจจุบันได้หรือไม่

แสดงสดขับร้องเพลงปรบไก่(ฉบับพิเศษ) บางกอกหลอกชั้น ประพันธ์คำร้อง-ขับร้องโดย อาจารย์ จินตนา กล้ายประยงค์

บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers) คือ บทภัณฑารักษ์ที่อาศัยการสืบค้นข้อมูลข้ามกาลเทศะและประวัติศาสตร์ ด้วยแนวทางการนำเสนอนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่แสดงออกเชิงสัมพันธภาพทางตรงระหว่างข้อมูลกับบุคคล โดยอาศัยการถอดรหัสตีความและการตั้งคำถามปลายเปิดต่อข้อเท็จจริงในข้อมูลต่างๆ หลายระดับชั้น

เพื่อเผยส่วนที่ซุกซ่อนหรือปกปิดไว้ภายใต้ผืนพรมขนาดใหญ่ที่สังคมถักทอขึ้น และกดทับบางส่วนบางตอนไว้ไม่ให้ปรากฏเพื่อเป้าหมายบางประการทางสังคมการเมือง ผลงานหลากหลายสื่อทัศนศิลป์ของศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาในนิทรรศการ ต่างให้ความสนใจต่อการตีความที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างศิลปะร่วมสมัย สังคม การเมืองและประวัติศาสตร์


โดยการประเมินคุณค่าพื้นฐานทางทัศนศิลป์จากแนวคิดและพลวัตรในการนำเสนอกระบวนการสร้างสรรค์นิทรรศการ เป็นการเชื่อมโยงบุคคลกับกรอบความรู้ทางสังคมด้วยการ ให้คุณค่าและความหมายกับสมมติสถาน-การสืบค้นประวัติความเป็นมาของสถานที่หรือเทศะหนึ่งใด


แม้แต่เทศะเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งได้ถูกทำลายไปแล้ว แนววิธีวิทยาเช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้และทำความเข้าใจของปัจเจกชนที่มีต่อปรากฏการณ์วิทยาและสังคมแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ


ตัวนิทรรศการฯมุ่งพิจารณาและตีความข้ามกรอบความรู้ทางปรากฏการณ์วิทยาด้านสังคมศาสตร์ ที่เกี่ยวโยงกับกาล-เทศะและประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งมีความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างอดีต ปัจจุบัน และการคาดการณ์อนาคต ผ่านการปฏิบัติและสนามทางศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบของการศึกษาค้นคว้า


เพื่อสะท้อนแนวทางการสร้างกรอบความรู้ใหม่ขึ้นมาแทนที่กรอบความรู้เดิม ด้วยการสร้างบทสนทนาในนิทรรศการฯผ่านการตั้งคำถามตามหรือคำถามแย้ง ที่ท้าทายความคาดหวังทั้งจากผู้ชมและศิลปิน/ผู้เชี่ยวชาญที่สร้างผลงาน นำเสนอทัศนะและทัศนียภาพองค์รวมที่มีความหลากหลายในรูปแบบและวิธีวิทยาตามประเด็นที่กำหนด


เพื่อสร้างประสบการณ์การรับรู้ การส่องสว่าง และเปิดช่องที่ซ้อนทับกันหลายเชิงชั้นของความหมายในกรอบความรู้กระแสหลักและเป้าหมายในการแสวงหาโครงสร้างความคิดในระดับจุลภาคของสังคม ด้วยการสร้างนิยามใหม่ในพื้นที่ทางทัศนศิลป์เชิงสหวิทยาการประสานเข้ากับศาสตร์ความรู้อื่นๆ ในฐานะของงานสร้างสรรค์[6]

บางกอก-ป้อมปราการฝั่งตะวันออก ,สาวิตรี เปรมกมล,วีดิโอ, สี, เงียบ, 4.9 min., วน/ แบบร่างป้อมบางกอกโดยโดย สิเยอร์ เดอ ลามาร์


และตัวเร่งปฏิกิริยาที่ยังผลให้เกิดการตีความทางสังคม[7] อันเป็นกรอบความรู้ที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงแปรรูปไปตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งมีพัฒนาการแบบไม่ต่อเนื่องต่างจากสายโซ่ที่ร้อยต่อเชื่อมกันโดยไม่ขาดห้วง ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ในปรากฏการณ์จึงมีคุณค่าอย่างมากสำหรับการศึกษา


โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของแรงกระทำซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจตรรกะที่ดำรงอยู่ในปรากฏการณ์นั้นได้โดยตรง[8] การสนับสนุนและสร้างความเข้าใจที่เปิดกว้างนั้นสามารถเพิ่มศักยภาพต่อการตีความ ซึ่งบ่อยครั้งเปิดโอกาสให้ศิลปิน/ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชมมีส่วนร่วมกันสร้างแบบแผนการบรรเทาความคลาดเคลื่อน ที่มักเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาด้านสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาแบบโครงสร้างนิยมซึ่งยึดถือกรอบความรู้ที่แข็งขืนลดทอนและปฏิเสธความเป็นอื่น

  • บางกอก: สถานที่-เทศะ (Bangkok: place-space)

Place today is taken to mean a combination of experiences, memories and other living interactions that include humans relative to spaces – Tim Cresswell

จากบทภัณฑารักษ์กลาง Sandy Hsiu-chih Lo (Chief Curator) ได้ยกตัวอย่างจุดยืนหรือมุมมองที่น่าสนใจผ่านการเฝ้ามองภาพผลงานจิตรกรรมประเพณีนิยมแนวภูมิทัศน์ โดยอ้างถึงแนวคิดของ Fredric Jameson (b. 1934-) ในฐานะเป็นกำลังเสริมซึ่งทำให้บุคคลทำความเข้าใจแนวคิดใหม่เกี่ยวกับสถานที่หรือเทศะ (place-space) ได้อย่างน่าสนใจ


ด้วยการนำเสนอความสัมพันธ์ของจินตนาการระหว่างบุคคลและสถานการณ์จริง ยังผลให้จุดกำเนิดหรือจุดเริ่มต้นกลายมาเป็นจุดยืนหรือมุมมองที่มีต่อสถานที่หรือเทศะหนึ่งใด ที่แสดงถึงตำแหน่งแห่งหนของเมืองหลวงอันเป็นเนื้อหาหลักในโครงการฯ


โดยมีรากฐานความจริงประกอบสร้างขึ้น และด้วยแนวคิดดังกล่าว Lo ให้ข้อสรุปถึงความสำคัญของสถานที่ในฐานะเป็นหนทางในการมองเห็น การสร้างความรู้และการทำความเข้าใจต่อโลกที่แวดล้อมเราอยู่


หากพิจารณาสถานที่หรือเทศะในลักษณะสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ที่มีส่วนทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารถึงกันและบ่งบอกว่าตนเองเป็นใคร ซึ่ง Casey D. Allen และ John Agnew ระบุในหนังสือเรื่อง Humanistic Geography และ Space and Place โดยอธิบายว่า “ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มนุษย์ต่างมีชีวิตในแบบของตัวเองที่สัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่นั้น” [9]


โดยแนวคิดทางภูมิศาสตร์แนวมนุษยนิยม (Humanistic geography)[10] การศึกษาประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสถานที่หรือเทศะอย่างกรุงเทพฯ เมืองมหานครซึ่งมีขอบเขตหรือขนาดพื้นที่เปิดรับประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์วรรณนา เศรษฐกิจ สังคม -วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ฯลฯ


อาจเป็นเรื่องที่มีเนื้อหากว้างใหญ่เกินจากกรอบระยะเวลาและพื้นที่ที่กำหนดในนิทรรศการฯครั้งนี้ ด้วยเหตุที่สถานที่หรือเทศะอย่างกรุงเทพมหานครฯเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่มีการทับซ้อนขยายตัวและเป็นแม่เหล็กดูดดึงผู้คนจากทั่วสารทิศ ให้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยทำมาหากินมานานนับจากอดีต และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคต

กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มา: https://twitter.com/playground_9/status/1126156625813708800?lang=sv https://taejai.com/en/d/phathnaachumchnkhlngetydwybrikaarthngethiiywyangyuuen/


ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีประชากรทั้งหมด 5,605,672 คน เมื่อรวมเข้ากับพื้นที่เขตปริมณฑล 4 จังหวัดจะมีประชากรสูงถึง 10,765,226 คน หากคิดพื้นที่ของกรุงเทพมหานครฯเป็นพื้นที่ต่อคนต่อตารางกิโลเมตร จะพบว่าในทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตรมีคนอยู่จำนวน 3,616.64 คน


แนวคิดเรื่องการศึกษาภาพตัวแทนหรือการศึกษาแบบจำลองของสถานที่หรือเทศะหนึ่งใด จึงอาจเป็นทางเลือกที่นำพาผู้ชมให้เข้าถึงข้อมูลหลักฐาน เอกสาร จดหมาย แผนที่ แผนผัง วัตถุสิ่งของ ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมข้อเท็จจริงแห่งประเด็นศึกษา โดยเปิดพื้นที่ในรูปแบบกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของผู้กระทำการที่สามารถยึดครองเทศะ จัดการเทศะ


การสร้างสรรค์สถานที่ด้วยวิสัยทัศน์และโครงการจำเพาะทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ภายใต้กรอบบริบทซึ่งอยู่ในสภาวะของสิ่งที่กำลังจะมาถึง (becoming) มากกว่าจะเป็นบางสิ่งที่ ”ตายตัว” เช่น แม่น้ำลำคลอง การตีความ จินตนาการ และทำความเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์ของการกลายเป็นสถานที่สำคัญอย่างเมืองหลวงแห่งนี้ ผ่านโครงสร้างความคิดระบบระเบียบทางสังคมที่เราสังกัดอยู่


รวมทั้งปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนมีที่มาจากความเป็นจริงเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น กระแสของปรัชญาปรากฏการณ์(Phenomenology) ได้ตอกย้ำถึงการที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่แวดล้อมอย่างแยกไม่ออก แนวคิดนี้ให้ความสนใจเริ่มต้นการศึกษาจากจุดเล็กๆ ธรรมดาที่เป็นจริง แล้วค่อยๆ ขบคิดปัญหาต่อๆ ไปด้วยการสำนึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่หรือเทศะ


กรณีศึกษาจากการเฝ้าสังเกตสิ่งธรรมดาสามัญ อาทิเช่นเสาไฟฟ้าริมถนนหรือคนขายปลาที่ท่าเรือ[12] ธรรมดาแห่งปรากฏการณ์วิทยาของ Maurice Merleau Ponty (b.1908-1961) ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเทศะกับตัวเราอย่างตั้งใจในฐานะที่ “ตัวฉันเข้าใจได้มากกว่าที่ฉันคิด


ด้วยเหตุที่เทศะทางร่างกายของเรานั้นเป็นสิ่งที่มีความสลับซับซ้อนและสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ กล่าวโดยสรุปก็คือร่างกายของเรามิได้เพียงตั้งอยู่ภายในเทศะหรือสถานที่ หากแต่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ภายในนั้น[13]


สถานที่หรือเทศะ” ในทัศนะของ Tim Cresswell จึงมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากมีบทบาทในลักษณะเป็นกรอบพื้นฐานหรือธรรมนูญทางสังคม-วัฒนธรรม[14] การให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับความนึกคิดของผู้คน สิ่งต่างๆ และการกระทำของบุคคลผู้เกี่ยวข้องและมีผลต่อสถานที่หรือพื้นที่หนึ่งใดนั้น ยอมเผยให้เห็นสิ่งตรงข้ามกันเสมอ

Bangkok Layer exhibition overview, photo by Anupong Charoenmitr


หากเรามองประเด็นนี้ในเชิงตรรกะอาจพูดได้ว่า การล่วงละเมิดสภาวะอันเป็นปกติของสถานที่หรือเทศะนั้น โดยมากจะถูกระบุให้เกิดขึ้นจากความเป็นอื่นคนอื่นสิ่งอื่นและการกระทำอื่นๆ ที่อยู่นอกขอบเขตตัวมัน Cresswell เสนอว่า “ประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสถานที่หรือเทศะ คือสิ่งที่สร้างอัตลักษณ์และความสำคัญโดยตรงให้แก่ตัวมัน”[15]

พูดอีกอย่างก็คือ จิตวิญญาณของสถานที่เกิดจากพฤติกรรมและการปฏิบัติของมนุษย์เรานั่นเอง อะไรคือหนทางที่ทำให้ผู้คนสัมผัสและคิดเกี่ยวกับเทศะได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่ารูปแบบของเทศะนั้นคือบ้าน ชุมชน หรือความเป็นชาติ มนุษย์เรามีความรู้สึกต่อสถานที่และเทศะซึ่งสะท้อนผ่านกาลได้อย่างไร


ในกรณีเช่นนี้ Yi-Fu Tuan (b.1930-) ได้เสนอนิยามเรื่องสถานที่และเทศะไว้น่าสนใจในสองลักษณะ กล่าวคือสถานที่ (Place) แสดงออกถึงความมั่นคงปลอดภัย และเทศะ (Space) แสดงออกถึงเสรีภาพ ไม่ว่ามนุษย์จะคำนึงถึงพื้นที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และอคติ เทศะหรือสถานที่แห่งมายาคติ เวลาในพื้นที่แห่งประสบการณ์ หรือความเกี่ยวโยงทางวัฒนธรรมที่มีต่อเทศะ Tuan มองว่ามนุษย์เราจะยึดโยงตนเองเข้ากับสิ่งหนึ่งและถวิลหาอีกสิ่งหนึ่งเสมอ


ติดตามตอนต่อไป

เอกสารอ้างอิง

 1 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, บรรณาธิการ, ข้ามขอบฟ้าความคิด (เชียงใหม่: ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560), 43.
 2 Fredric Jameson (b. 1934-) ให้ทัศนะเรื่องมโนทัศน์เกี่ยวกับสัจธรรมความจริงแท้อันเป็นสากลนั้นไม่มี ความจริงที่ว่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของอภิปรัชญา ซึ่งแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) ได้ค้นหาหนทางละทิ้งเสีย ดูรายละเอียดใน: Charles Harrison & Paul Wood, editor, Art in Theory 1900-2000: An Anthology of Changing Ideas (UK: Blackwell Publishing, 2003), 1049.
 3 นพพร ประชากุล, บรรณาธิการ, ร่างกายภายใต้บงการ (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547), 10.
 4 ฟูโกต์: ความรู้ฉบับพกพา, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่งเฮาส์, 2558), 65.
 5 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, ข้ามขอบฟ้าความคิด, 44. สายพิณ ศุพุทธมงคล แปล, ฟูโกต์
 6 ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เสนอว่าการสร้างสรรค์คือการสร้างและระดมศักยภาพของความคิดและการสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตสร้างความรู้แบบใหม่ที่ทำให้ผู้รับรู้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการมองโลก ดังนั้นการสร้างสรรค์จึงเป็นการท้าทายความคิดและความรู้เดิมเพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่หรือความรู้ใหม่ให้กับคนในสังคม ดูรายละเอียดใน: โพ้นพรมแดนความรู้ (เชียงใหม่:ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560), 56.
 7 Arnd Schneider and Christopher Wright, editor, Between Art and Anthropology: Contemporary Ethnographic Practice, (UK: Berg, 2010), 114.
 8 นพพร ประชากุล, บรรณาธิการ, ร่างกายภายใต้บงการ, 21.
 9 http://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/69
 10 Yi-Fu Tuan (b.1930-) ให้เหตุผลว่าร่างกายมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่โดยตรง พื้นที่ปรากฏและอยู่ร่วมไปพร้อมๆ กับสติภายในร่างกายของมนุษย์เรา ความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมเช่นนี้ปรากฏแสดงผ่านระบบการทำงานในตัวเรา ก่อนที่จะสนองตอบเราในฐานะเป็นเครื่องมือของจิตสำนึกทางการเลือกสรรและการมุ่งหมายในทัศนะการรับรู้, สัมผัส, การเคลื่อนไหวและการหลอมรวมทางความคิดซึ่งสร้างการรับรู้คุณลักษณะของพื้นที่ขึ้นมา (https://tcatf.hypotheses.org/177)
 11 จิตติภัทร พูนขำ แปล, ภูมิรัฐศาสตร์: ความรู้ฉบับพกพา, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560), 30.
 12 ธีรยุทธ บุญมี, การปฏิวัติสัญศาสตร์ของโซซูร์: เส้นทางสู่โพสต์โมเดอร์นิสม์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2551), 28.
 13 https://plato.stanford.edu/entries/merleau-ponty/
 14 https://pure.royalholloway.ac.uk/portal/en/persons/tim-cresswell(7d41a2c8-6df1-413f-9b67-892b73b00697).html
 15 https://pure.royalholloway.ac.uk/portal/en/persons/tim-cresswell(7d41a2c8-6df1-413f-9b67-892b73b00697).html 

Leave a Comment