เขียนและเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย
หัวข้อ Mechanic Assemblages of Desire ของการประชุมเสวนานานาชาติครั้งที่ 3 ในประเด็น Deleuze และงานวิจัยทางทัศนศิลป์ ซึ่งจัดขึ้นที่ Orpheus Institute เมือง Ghent ประเทศ Belgium เมื่อวันที่ 9–11 พฤศจิกายน 2019 ถือได้ว่าเป็นเวทีเสวนาที่รวบรวมนักวิจัยที่รับอิทธิพลแนวคิดหลังโครงสร้างนิยมจากทุกมุมโลก เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยของแต่ละท่านในแง่มุมต่างๆ และสนามในการศึกษา(field study) ที่หลากหลายทั้งด้านศิลปะและวรรณกรรม โดยเริ่มจากประเด็นการศึกษาวิจัยปรัชญาเชิงนิเวศสมดุล (Ecosophy) ของ กัตตารี และต่อด้วยงานศึกษาวิจัยด้านวรรณกรรม การแสดงดนตรี การเขียนแผนที่ ทัศนศิลป์ การแสดงสด ดนตรี-เสียง และสถาปัตยกรรม
ไฮไลท์ในงานเสวนาครั้งนี้ปิดท้ายด้วยภาพยนตร์ที่ตอกย้ำแนวคิดปรัชญาของจิลล์ เดอเลิซ และ เฟลิกซ์ กัตตารี (Gilles Deleuze and Félix Guattari) ในค่ำคืนที่เรียกว่า Deleuzoguattarian film Night ภัณฑารักษ์ของกิจกรรมนี้รับหน้าที่โดย Ilona Hongisto (PhD.) ศาสตราจารย์ในสาขาภาพยนตร์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Norwegian (NTNU) ประเทศนอร์เวย์ และ Tero Nauha (PhD.) ศิลปินแสดงสดซึ่งเป็น ศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาศิลปะและการแสดงสดศึกษา (LAPS) ที่ Theatre Academy แห่งมหาวิทยาลัยศิลปะเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฏีการรวมสิ่งต่างๆ (assemblage) โดยมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันอย่างลื่นไหล หรือทฤษฎีการประกอบ-กำหนดกรอบความซับซ้อนทางสังคมโดยเน้นที่ความลื่นไหล ความสามารถในการแลกเปลี่ยน และฟังก์ชันที่หลากหลายผ่านสิ่งของ-วัตถุหรือกลุ่มก้อนที่สร้างการเชื่อมต่อซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการของการเข้ารหัส การแบ่งชั้นโดยใช้รูปแบบเฉพาะ และการสร้างอาณาเขตในกระบวนการแบ่งชั้นทฤษฏี Assemblage หรือการรวมตัวจึงเป็นการเชื่อมต่อระหว่างแนวคิดที่เฉพาะเจาะจงและการจัดเรียงแนวคิดเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ให้ความหมายหรือในทางกลับกัน Assemblage สามารถอธิบายได้ว่าเป็นการรวมและเชื่อมโยงของแนวคิดซึ่งเป็นทั้งการเชื่อมต่อ และการเตรียมการเชื่อมต่อที่ให้บริบทสำหรับความหมายที่กำหนด[1] เพราะว่าวิธีวิทยาของ Assemblage นั้นแม้จะอยู่ในจุดที่แตกต่างกันแต่มีเป็นหมายเดียวกันคือ ทำงานเป็นส่วนๆ และสามารถผสานรวมเข้ากับส่วนอื่นๆ เสมอ (Manuel DeLanda 2007: 8)
แนวคิดนี้ได้กลายเป็นแก่นกลางของเครื่องมือที่ถูกพูดถึง เพื่อใช้ตอบคำถามด้านความมั่นคง ความไร้เสถียรภาพ ข้อกำหนดต่างๆและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของการปฏิวัติแบบใหม่รวมถึงปรากฏการณ์และประโยชน์ทางด้านปรัชญา วัฒนธรรมการเมืองและสุนทรียศาสตร์ (aesthetic-political function) สองด้านของเหรียญระหว่าง Deleuze และ Guattari ซึ่งปรากฏในหนังสือที่ร่วมกันเขียนที่ชื่อ Kafka: Towards a Minor Literature ในปี 1975 ได้ขยายทฤษฏี Assemblage ไปสู่ตัวบทในหนังสือที่ชื่อ A Thousand Plateaus ในปี 1980 และจากงานชุด Capitalism and Schizophrenia ซึ่งอธิบายแนวคิดเรื่องไรโซม (rhizome) การต่อต้าน (insurrection) การปฏิวัติในระดับโมเลกุล (molecular revolution) และการเมืองแบบเอกพจน์ (singularity politics) ซึ่งเป็นแนวทางการเมืองของขบวนการทางสังคมรูปแบบใหม่ (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2558: 18)
ในเชิงอุปลักษณ์ (Metaphor) ของไรโซมนั้นเป็นการทำความเข้าใจสังคมจากพืชชนิดที่ต่างไปจากต้นไม้ทั่วไป เพราะมันไร้รากแก้วแต่แพร่ขยายตัวเป็นไปได้ทุกทิศทาง มันเป็นพืชที่อาศัยและเคลื่อนที่ในแนวระนาบ โดยที่รากของมันมีมากมายหลากหลาย และเกี่ยวพันกับรากอื่นๆ อยู่ใต้ดินซึ่งเราไม่สามารถแยกได้ว่ารากไหนคือรากหลักหรือรากแก้ว แต่ต้นไม้ทุกต้นจะเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่กระจายตัวออกไปทั่ว และสามารถแตกตัวออกไปได้ทุกจุดของความสัมพันธ์ โดยไม่มีศูนย์กลางและขอบเขตที่ชัดเจน การแตกตัวจึงเป็นการวิ่งออกไปทุกทิศทางจากตัวมันเอง (line of flight) (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2558: 22) เช่นเดียวกับสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ไม่มีศูนย์กลางใดศูนย์กลางหนึ่งเป็นแกนกลาง มีลักษณะไร้รากที่ไม่ได้เดินไปอย่างเส้นตรง มันสามารถแผ่ขยายเส้นฝอยเชื่อมต่อกันข้ามขอบเขตพื้นที่โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นรากฝอยประเภท (Segment) เดียวกันโดยลำต้นของพืชที่เติบโตอย่างไร้จุดหมายและไม่เป็นระเบียบ
เราไม่สามารถมองเห็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของมันได้ อุปลักษณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหลายล้วนอยู่ในภาวะไหลลื่นเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่ กลายสภาพได้ตลอดเวลา (becoming) ซึ่งทั้งหมดยากที่จะหาแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบตายตัวมาอธิบาย ในหนังสือ A Thousand Plateaus ได้อธิบายความเชื่อมโยงของสนามทางความรู้ ทั้งด้านมนุษย์ศาสตร์ สัญญวิทยา ความหมายสัญญะ และรูปสัญญะ การเข้าและการถอดรหัส ซึ่งในปัจจุบันทฤษฏี Assemblage ในลักษณะดังกล่าวได้ถูกประยุกต์ใช้ทั้งทางศิลปะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในชื่อที่ถูกเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น ทฤษฏีรวมสัมพันธ์ ตรรกะการรวมตัว ทฤษฏีเครือข่าย-ตัวเล่น ซึ่งทั้งหมดนี้ย้อนกลับไปสู่แนวคิดพื้นฐานหลักการ “agencement” หรือการรวมตัวที่มีความสลับซับซ้อนตามแนวคิดปรัชญาของ Deleuze and Guattari’s แทบทั้งสิ้น
ในบทความนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเอกสารฉบับหนึ่งจากงานเสวนาครั้งนี้ เป็นบทความซึ่งนำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูรคู เบกาน (Burcu Baykan, Ph.D) แห่งภาควิชา Visual Communication Design และเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษใน Contemporary Art Theory and Practice แห่งมหาวิทยาลัย Bilkent ประเทศตุรกี Baykan ได้ศึกษาวิจัยแนวคิดของ Deleuze ที่ส่งอิทธิผลต่อผลงานทางทัศนศิลป์ และได้เขียนบทความตีพิมพ์ลงในวารสารแห่งมหาวิทยาลัย Leuven ประเทศเบลเยียม ประจำปี 2021 ในหัวข้อ การรวมตัวของความหวาดหวั่น และความระยิบระยับของร่างที่กลวงโบ๋โดยปราศจากอวัยวะภายใน (Ghastly Assemblages and Glittery Bodies without Organs) โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาผลงานประติมากรรมของ เดวิด อัลท์เมจ์ (David Altmejd) ซึ่งผู้เขียนจะขอแยกรายละเอียดของบทความฉบับนี้ออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ ส่วนผลงานประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ และ ส่วนเอกสารวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ Baykan ดังนี้
1.
ก่อนที่เราจะเข้าไปอ่านตัวบทที่ศึกษาโดย Baykan เรามาทำความรู้จักกับศิลปินเดวิด อัลท์เมจ์ (David Altmejd) กันก่อน อัลท์เมจ์ เกิดที่เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ในปี 1974 เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Université du Québec à Montréal ในแคนาดา และปริญญาโททัศนศิลป์จากมหาวิทยาลัย Columbia ในปี 2001 ปัจจุบัน อัลท์เมจ์ พำนักและปฏิบัติงานอยู่ที่ Los Angeles และ New York หลังจบการศึกษาเขาได้จัดแสดงผลงานหลายครั้งทั้งในสหรัฐอเมริกาและนานาชาติ ต่อมาในปี 2003 เขาได้ร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะนานาชาติ 8th International Istanbul Biennial ปีถัดมา 2004 ได้ร่วมแสดงใน Whitney Biennial และในปี 2007 เขาได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนประเทศแคนาดาแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะนานาขาติ Venice Biennale
ในภาพรวมผลงานประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ โดยมากนำเสนอรูปทรงของมนุษย์ผสมผสานกับธาตุทัศนะเชิงนามธรรมในประเด็นที่เกี่ยวกับศิลปะและพลังงาน (art and energy) ความต่อเนื่องของพลวัตของการกลายเป็น (becoming) การแยกและรวมมนุษย์กับสัตว์ และความฝันซึ่งไม่ใช่แค่เพียงร่างกายเท่านั้นแต่รวมถึงจิตใจ จินตนาการ มายาภาพ สภาวะทางจิตวิญาณ และสภาวะหลอนจิต (psychedelic) ไม่เพียงแค่การรับรู้โลกทางวัตถุ หากเพื่อสำแดงญาณทัศน์ในเชิงภววิทยา (Ontology) ที่มีความสัมพันธ์ต่อขบวนระบบการจัดการ การลำดับข้อมูลและเผยตัวเองของวัสดุอันหลากหลายที่เขานำมาใช้สร้างผลงานเช่น ดินเหนียว โฟม กระจกเงา หินแร่ ควอรตซ์ เรซิ่น ปูน ผมปลอมและผมของมนุษย์ ฯลฯ โดยใช้กระบวนการสร้างผลงานประติมากรรมแบบประเพณีด้วยการปั้นและถอดพิมพ์ ด้วยการเปลี่ยนผ่านหลอมรวมความเป็นมนุษย์กับเครื่องจักรเพื่อยกระดับวิวัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่ง และนำเสนอภาพของทั้งสัตว์และมนุษย์ ซึ่งปรากฏในผลงานประติมากรรมจากหลายมุมโดยการซอยแบ่งชิ้นส่วนต่างๆ ออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้มองเห็นได้หลายมุมทับซ้อนกัน
“ร่างกายมนุษย์ที่สัมพันธ์โยงใยกับกระบวนการผุกร่อน การก่อเกิดขึ้นใหม่และการเปลี่ยนแปลงสภาพ… ฉันไม่ได้สนใจในทุกส่วนของร่างกาย และคิดว่าบางส่วนนั้นน่าสนใจกว่าบางส่วน ตัวอย่างเช่นที่ศีรษะ ศีรษะเป็นที่บรรจุหลายสิ่งเอาไว้เป็นที่ซึ่งความคิดก่อเกิด ที่ซึ่งมีสัมปชัญญะเป็นที่บรรจุจักรวาลลงไป มันไม่ใช่แค่เพียงแสงที่วาวขึ้น สัญลักษณ์เช่นนี้คือการตั้งไข่ มันคือวัตถุที่บรรจุอนันตกาล”
อัลท์เมจ์ กล่าว
อัลท์เมจ์ มักนำเสนอภาพส่วนเสี้ยวอวัยวะส่วนหัวที่ถูกตัดออกจากร่างกาย ห้องหรือกล้องที่ทำจากกระจกเงา ดอกไม้พลาสติกและเครื่องประดับประดาต่างๆ ฯลฯ เพื่อเล่าเรื่อง โดยมีเค้าโครงในการนำเสนอภาพความแตกต่างที่เบลอเข้าหากันระหว่างภายในและภายนอก ระหว่างพื้นผิวและโครงสร้าง ระหว่างภาพเหมือนและภาพนามธรรม ร่างกายมนุษย์ที่สัมพันธ์โยงใยกับกระบวนการผุกร่อน การก่อเกิดขึ้นใหม่และการเปลี่ยนแปลงสภาพ ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และการทำลายตัวมันเอง ประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ มีทั้งขนาดที่ใหญ่และขนาดเท่าคนจริง โดยมากเป็นการรวมกันเข้าของสิ่งของต่างๆ หลากหลายที่คาดเดาได้อยาก เป็นการรวมกันเข้าเสมือนบทกวีที่ดูแล้วสร้างความรู้สึกรบกวนใจหรือแม้แต่น่าเอ็นดู เขาได้ซุกซ่อนสิ่งที่ไม่ปรากฏในโลกความเป็นจริงให้เผยออกมาภายใต้พื้นผิวของสิ่งต่างๆ อัลท์เมจ์ ได้เผยโครงสร้างที่ซ่อนเร้นผ่านตัวงานในพื้นที่ในลักษณะกลับด้าน-กลับหัว-กลับหาง ผ่านพื้นที่เช่น รู ช่องว่าง ตามรอยแยกและช่องว่างที่บรรจุผลึกแก้วซึ่งถูกจัดวางซ้ำๆกัน ภายในตู้โชว์ที่มีลักษณะเป็นเขาวงกต เพื่อให้ตัวผลงานทำการสะกดจิตและแพร่สะท้อนความลี้ลับแห่งมนตรา และมายาภาพไปสู่ผู้ชม มันเป็นแก่นกลางในผลงานของ อัลท์เมจ์ ซึ่งเขาได้รับอิทธิพลทั้งจากงานวรรณกรรมกระแสหลักและภาพสัญลักษณ์ในวัฒนธรรมประชานิยม รวมทั้งจากศิลปินอย่าง Louise Bourgeois, Kiki Smith, Matthew Barney, Paul McCarthy และศิลปินมินิมัลลิสต์อย่าง Sol LeWitt และ Donald Judd หรือนักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง David Cronenberg, Jorge Luis Borges, และ Mary Shelley หรือแม้แต่รูปแบบอาคารสมัยใหม่ของ Mies van der Rohe
“ในขณะทำงาน ร่างกายกลายเสมือนจักรวาลที่ซึ่งฉันได้ปลดปล่อยตนเอง มันเป็นอุปลักษณ์แห่งภูมิทัศน์กว้างใหญ่ ธรรมชาติและภูเขา…ฉันมองการจัดวางผลงานเสมือนเป็นอวัยวะ” อัลท์เมจ์ กล่าว
ความสลับซับซ้อนเชิงกายภาพในผลงานประติมากรรมที่ อัลท์เมจ์ สร้างสรรค์หากพิจารณาในประเด็น artistic form หรือ medium จะพบว่าความซับซ้อนและความเป็นสถาปัตยกรรม(complex and architectural) ที่นำมาประกอบสร้างผลงานของเขามีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ผลงานประติมากรรมปรากฏภาพเหนือจริงที่จริงยิ่งกว่าจริง(beyond surreal) ด้วยการสร้างให้เกิดความเย้ายวนอันน่าขยะแขยง ด้วยการผนวกรวมเข้ากันด้วยแนวคิดในแบบนิยายวิทยาศาสตร์ การเสนอภาพมายาและแนวคิดจินตนิยมกอทิก (gothic romanticism) ซึ่งได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมย่อยจากแนวคิดจินตนิยมที่สะท้อนถึงความหลงใหลและลุ่มหลง ความไร้เหตุผล ภาพปีศาจ ภาพสยองขวัญ และมายาภาพความพิสดาร ผสมผสานกับนิยายแบบกอทิก ซึ่งบดบังขบวนการโรแมนติกที่เริงร่า หรืออาจเรียกจินตนิยมกอทิกได้ว่าเป็นด้านมืดของมนุษย์ในแนวคิดจินตนิยม
ขณะที่ Jerry Saltz (1951-) นักวิจารณ์ศิลปะอาวุโสและคอลัมนิสต์ของนิตยสารนิวยอร์ก ผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับการวิจารณ์ในปี 2018 เรียกมันว่ากอทิกใหม่ (Modern Gothic) โดยอธิบายคำนี้ในลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวกับความป่วยไข้ที่แปลกประหลาด ภูตผีปีศาจ ความอุบาทว์ ความโสมม พวกโรคจิต ความลึกลับหรือสิ่งมีชีวิตที่ผิดธรรมชาติ ความหวาดกลัวอันคร่ำคร่ากับพิธีกรรมในแบบลี้ลับ สุนทรียะที่ตายซาก ความสยองขวัญที่กำลังจะเกิดขึ้น และความน่ากลัวในธรรมชาติของสัตว์มนุษย์ Saltz ระบุว่าการหวนกลับมาของยุคกอทิกหลังมีชัยชนะต่อภูตผีปีศาจสมัยยุคแห่งปัญญาญาณในศตวรรษที่ 18 มีผลมาจากจินตนาการทางศิลปะได้ตกอยู่ในความหลงระเริง แต่แท้จริงแล้วนรกแห่งยุคกอทิกไม่ได้หายไปไหน มันเพียงเปลี่ยนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเท่านั้น เหตุการณ์ 9-11 เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงการท้าทายและคำประกาศกร้าวของปีศาจที่ปลุกชาวอเมริกันให้ตื่นขึ้น
ในโลกศิลปะความกลัวและความสับสนอลหม่านได้นำกลับมาซึ่งแนวคิดอภิปรัชญา ที่ส่งผ่านภาพใหญ่ในกระแสของความเปลี่ยนแปลงไปสู่รายระเอียดเล็กๆปลีกย่อย จากวัฒนธรรมหลักไปสู่วัฒนธรรมย่อยและลัทธิต่างๆ โดยศิลปินเป็นผู้ที่ซึมซับรายละเอียดดังกล่าวได้เร็วมากกว่าทางสังคม การมองโลกสวยกลับตาลปัตรกลายเป็นการมองโลกในแง่ร้าย สิ่งต่างๆไม่ได้แบ่งแยกเพียงขาวและดำอีกต่อไป Saltz ระบุว่าศิลปินที่อยู่ในขอบข่ายกอทิกใหม่ ต่างแสดงความแดกดันเย้ยหยัน โดยอาศัยรูปหรือสัญลักษณ์ และสืบค้นระบบการสร้างความหมายที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆไม่ได้ถูกควบคุมจากที่ใดที่หนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง เป็นผลของการสร้างสรรค์ความขัดแย้งระหว่างความงามและความสยดสยองของแนวทางกอทิกใหม่ Carl Jung (1875–1961) และ Charles Baudelaire (1821-1867) มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าศิลปินผู้สร้างสรรค์โดยทั่วไปมีความโน้มเอียงไปในพลังด้านมืดเป็นทุนเดิม เป็นพลังที่ควบคุมเหนือชีวิตของพวกเขา และพวกเขามิได้เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากพลังควบคุมนั้น
ในช่วงเวลาบนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ศิลปะย้อนกลับไปในปี 1918 ศิลปะดาดาเคยนำเสนอแนวคิดที่แหกกฎเชิงสุนทรียะ ที่ยุคสมัยนั้นกล่าวกันว่าเป็นผลงานที่ไร้ซึ่งรสนิยมทางศิลปะอย่างสิ้นเชิง Kurt Schwitters ได้สร้างผลงานโดยนำสิ่งของเหลือใช้มาปะติดปะต่อและรวมกันเข้าโดยเรียกเทคนิคนี้ว่า ‘merz’ การรวมเอาสิ่งต่างๆ ที่ไม่น่าจะเข้ากันได้เป็นวัตถุพื้นฐานของแนวคิดเหนือจริง ซึ่ง Schwitters รับอิทธิผลปรัชญาแนวคิดจิตวิเคราะห์มาจาก Sigmund Freud’s ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 50s และ 60s แนวคิดการรวมกันเข้า(assemblage) กลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้น ศิลปินอย่าง Jasper Johns และ Robert Rauschenberg รับช่วงต่อการต่อต้านสุนทรียะ (anti-aesthetic) และเรียกวิธีการของเขาว่าCombined Painting เป็นกระบวนการสร้างผลงานโดยการใช้สิ่งของเหลือใช้ที่หาได้จากข้างถนนในมหานครนิวยอร์ก นำมาระบายสีสำแดงอารมณ์บนพื้นผิวที่นูน-ต่ำหรือบนชิ้นงานประติมากรรมสามมิติ และมันได้กลายเป็นลัทธิศิลปะใหม่ที่เรียกแนวทางนี้ว่า นีโอดาดา (neo-dada) ด้วยวัตถุประสงค์ในการที่จะท้าทายคุณค่า และเพื่อทำลายระบบการค้าของหอศิลป์ที่นำเสนอผลงานศิลปะในเชิงพาณิชย์ในเวลานั้น
หากพิจารณาการรวมตัว(assemblage) ในความหมายเชิงเทคนิค พบว่าอิทธิพลเชิงกายภาพได้ปรากฏต่อเนื่องสืบมาบนไทม์ไลน์ในประวัติศาสตร์ศิลปะ และส่งต่อมาถึงศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันดังปรากฏเด่นชัดในผลงานของกลุ่มศิลปิน Young British Artists (YBA) ในผลงานของ Sarah Lucas, Damien Hirst และ Jake-Dinos Chapman และศิลปินร่วมสมัยอย่างเช่น Tomoko Takahashi, Christina Mackie และ Mike Nelson ที่สร้างผลงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ด้วยการรวมเอาเศษวัสดุและของที่หาได้ทั่วๆ ไป มาจัดแสดงในหอศิลป์
เดวิด อัลท์เมจ์ ในฐานะศิลปินร่วมสมัยที่นำเสนอผลงานประติมากรรม เขาเป็นประติมากรที่รับเอาอิทธิพลปรัชญาของ Deleuze ในแนวคิดเรื่องร่างที่ปราศจากอวัยวะและการรวมตัว (body without organs [BwO] and assemblage) ซึ่งเผยให้เห็นถึงความกลวงเปล่าภายในตัวระบบ เป็นร่างที่ปราศจากอวัยวะ หรือระบบภายในที่ก่อเกิดสภาพแห่งชีวิตทางสังคม ความสัมพันธ์ของส่วนประกอบภายในร่างกายซึ่งมีความไม่คงที่และคงที่ สามารถแทนที่หรือเชื่อมต่อเข้ากับภายในสู่ภาพนอกและกับร่างกายอื่น ๆ ในระบบผ่านความสัมพันธ์ของรูปลักษณ์ภายนอก หรือแม้แต่เป็นกระบวนการทางสังคมการเมืองที่ถูกทำให้เป็นนามธรรมของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในระบบวิธีคิดหรือชีวิตประจำวันของผู้คน
แต่ถึงอย่างไรก็ตามความเชื่อมโยงที่ถักทอกันในความกลวงนั้น ก็ปรากฏเด่นชันให้พิจารณาได้ในแบบที่สามารถสะท้อนให้เห็นว่าธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตต่างๆ กำลังถูกแบ่งแยกออกจากกัน เป็นการตัดขาดมนุษย์ออกจากโลกธรรมชาติเพื่อเข้าสู่โลกทางสังคม(เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2558: 19) มนุษย์ถูกแยกออกจากนิเวศ ชุมชนถูกแยกออกเป็นปัจเจก แม้แต่พื้นที่ก็ถูกแยกออกจากความหมายของการดำรงชีวิต และกลายเป็นพื้นที่ซึ่งไร้ความเป็นพื้นที่ (place-nonplace) เพราะมันไม่ได้ก่อให้เกิดกิจกรรมความสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ อันเป็นประโยชน์แก่คุณค่าในการดำรงอยู่ของมนุษย์อีกต่อไป
2.
บทความ “Ghastly Assemblages, Glittery Body without Organs” ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารแห่งมหาวิทยาลัย Leuven ประเทศเบลเยียม ประจำปี 2021 และเป็นส่วนหนึ่งที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Mechanic Assemblages of Desire: Deleuze and Artistic Research 3 โดย Burcu Baykan (Ph.D) เป็นผลงานวิจัยฉบับเดียวกันกับที่เธอนำเสนอในงานเสวนานานาชาติซึ่งจัดขึ้นที่ Orpheus Institute เมือง Ghent ประเทศ Belgium ในปี 2019 ในหัวข้อเดียวกัน ซึ่งนักวิจัยแต่ละท่านแต่ละสาขาวิชาต่างได้นำเสนอแนวคิดของ Deleuze โดยอธิบายเทียบกับผลงานศิลปะในแขนงต่างๆ สำหรับ Baykan เธอได้นำผลงานประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาเพื่อการสะท้อนรูปธรรมแนวคิดเรื่องร่างที่กลวงโบ๋อันปราศจากอวัยวะภายใน และทฤษฏีการรวมตัว (body without organs [BwO] and assemblage) โดยเทียบเคียงกับปรัชญาแนวคิดของ Deleuze และแผนที่ทางสุนทรียะที่เชื่อมโยง Deleuze กับผลงานของ อัลท์เมจ์ เพื่อคลี่ออกซึ่งความสลับซับซ้อนของมนุษย์ สัตว์ พืช-แร่ธาตุ ในตัวประติมากรรมที่ใช้วัสดุหลากหลายเชื่อมโยงใยโดยไร้จุดเริ่มต้นและจุดจบ ให้เข้ามารวมกันในแบบที่ไร้เอกภาพในฐานะสื่อและไวยากรณ์ทางศิลปะ
คำสำคัญ : Sculptural Art, Deleuze and Guattari, becoming-other, assemblage, human and nonhuman continuity
ในฐานะนักวิชาการ Baykan มองว่า อัลท์เมจ์ ได้สำรวจพบความผุกร่อนในรูปกายมนุษย์ซึ่งประสานปนเปด้วยความย้อนแย้งหลายชั้นในสภาวะที่ไร้ความเป็นมนุษย์ มันเป็นการกลายพันธุ์ของอวัยวะภายใน เธอค้นพบร่องรอยของสภาพแวดล้อมที่เหลือล้น ที่เข้าเชื่อมต่อระหว่างกันและกัน จากสายพันธุ์ที่แตกต่างกันหลายชั้น คล้ายกับพืชคลุมดินที่ไร้รากแก้วในแนวคิดไรโซมของ Deleuze และ Guattari’s ที่โยงเข้าหากันภายใต้แนวคิดร่างที่กลวงโบ๋อันปราศจากอวัยวะภายใน (BwO and assemblage) และการรวมตัวขององค์ประกอบต่างๆในผลงานประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ ปรากฏรูปร่างของร่างกายในแบบที่หลากหลายอันประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะ และมีลำดับชั้นของการจัดการ ที่รื้อถอนคลี่ออกและไปไกลเกินกว่าที่ผู้ชมจะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับโลกความเป็นจริง ซึ่งมีทั้งความเป็นสัตว์ ดอกไม้ ภูมิทัศน์ และอื่นๆ
Baykan ให้ข้อบงชี้ว่า อัลท์เมจ์ แปลความร่างกายในฐานะสื่อผสมในการรวมกันเข้าของธาตุต่างๆ หรือวัสดุต่างชนิดกันแล้วสลายตัวเป็นเนื้อเดียวกัน และงอกตัวออกมาจากภาชนะหรือเรือนร่างที่บรรจุอวัยวะเอาไว้ประกอบกันจนกลายเป็นสิ่งที่มิอาจคาดคะเนได้ และกลายเป็นร่างใหม่ที่ส่งประกายระยิบระยับของร่างอันไร้ซึ่งอวัยวะ แสดงนัยความไม่คงทนถาวรขององค์ประกอบการรวมตัวกันของธาตุนั้นๆ ที่เข้ามารวมตัว ณ ขณะชั่วเวลาหนึ่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ พืช สัตว์ เครื่องมือ หรืออำนาจ เป็นความเปราะบางของทั้งหมดทั้งมวลภายใต้บริบทของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Deleuze and Guattari 1987: 161) ความอ่อนไหวและเปราะบางที่แตกต่างกันนั้นมาอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมและการเจริญงอกงามไปพร้อมๆกัน การรื้อถอนองค์ประกอบและการสร้างองค์ประกอบนั้นขึ้นมาใหม่ เป็นพลวัตรของการกลายพันธ์ที่สร้างให้รูปร่างรูปทรงประติมากรรมปรากฏขึ้น
เส้นแบ่งที่บางเบาในพรมแดนของความเป็นมนุษย์ สัตว์ พืช-แร่ธาตุ และการก่อรูปของสสารอย่างคริสตัล คือสิ่งที่ Baykan นำมาเทียบเคียงกับความหมายทฤษฏีการรวมตัว (assemblage)ในปรัชญาของ Deleuze และ Guattari ซึ่งพยายามอธิบายและแสดงให้เห็นคุณสมบัติที่แตกต่างกันของสิ่งที่ต่างสายพันธ์กัน เข้ามารวมกันในช่วงลำดับเวลาที่ต่างกัน (Deleuze and Guattari, 1987: 330) เป็นวิธีวิทยาที่อธิบายการประกอบและกระบวนการนำเสนอติดตั้งผลงานประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ ในทางทฤษฏีแล้ว Baykan มองว่าสสารที่ต่างกันในตัวประติมากรรมเปรียบเสมือนภูตผีที่สิงสู่ภายในร่างมนุษย์ และในร่างของอมนุษย์ มันปนเปกันไปจากร่างหนึ่งเข้าไปสู่อีกร่างหนึ่ง (Deleuze and Guattari 1987: 88) เป็นความปรารถนาที่มนุษย์ผูกตนเองอยู่กับความขาดพร่องที่รอการเติมเต็ม มันเป็นขบวนการตัดต่อดัดแปลงและเปลี่ยนแปลงตัวมันเองก่อนที่จะเกิดการตกตะกอน และทำให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งในเนื้อหาของผลงานประติมากรรม
Baykan ได้วิเคราะห์ขอบเขตอันไร้ขั้วตรงข้ามของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งถูกจับมารวมกันเพื่อแสดงให้เห็นถึงแรงต้านที่สำคัญซึ่งมีอิสระจากความเป็นศูนย์กลาง และอำนาจสูงสุด หากมองในฐานะนักมานุษยวิทยาผลงานของ อัลท์เมจ์ เป็นเสมือนพรมแดนที่มนุษยชาติรับรู้และสัมผัสได้บนความจริงทางนิเวศวิทยาและธรณีวิทยา ที่เคลื่อนตัวแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาแม้เราจะไม่สามารถมองเห็นนั่นเอง
[โปรดติดตามตอนที่ 2 : เอกสารวิชาการโดย Baykan ที่นำเสนอในหนังสือ Mechanic Assemblages of Desire Deleuze and Artistic Research 3]
เอกสารอ้างอิง
[1] (https://hmong.in.th/wiki/Assemblage_philosophy)
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2558, วิธีวิทยาทางการเมือง Antonio Negri: ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการปฏิวัติของMultitude
Subjectivity, affect and place: Thinking with Deleuze and Guattari’s Body without Organs to explore a young girl’s becomings in a post-industrial locale, December 2013
Manuel DeLanda, 2017, Deleuzian Social Ontology and Assemblage Theory, Pratt Institute
Manuel DeLanda, 2006, A New Philosophy of Society : Assemblage Theory and Social Complexity
https://www.academia.edu/41684570/MACHINIC_ASSEMBLAGES_OF_DESIRE
https://www.xavierhufkens.com/artists/david-altmejd
https://www.davidkordanskygallery.com/artist/david-altmejd
Poe and Gothic Creativity, Maria Antónia Lima: https://www.jstor.org/stable/41506386
Saltz, Jerry. 2004. “Modern Gothic.” Village Voice, 27 January. Accessed 23 September2020.
https://www.villagevoice.com/2004/01/27/modern-gothic/.
https://whitecube.com/artists/artist/david_altmejd
https://www.xavierhufkens.com/artists/david-altmejd
https://art21.org/artist/david-altmejd/
https://www.davidkordanskygallery.com/artist/david-altmejd
https://www.guggenheim.org/artwork/artist/david-altmejd
https://www.artbook.com/blog-featured-image-david-altmejd-strand.html