“ทรงผมนักเรียน” ละเมิด หรือ ฝึกระเบียบ

  • Longtruk News #2: บทความโดย ธนบดี วัฒนารักษ์ 
  • บรรณาธิการ : ภาอรุณ ชูประเสริฐ x สุพิชญา ขุนชำนิ
  • Artist: ธนบดี วัฒนารักษ์

ภาพผลงาน(1) โดย ธนบดี วัฒนารักษ์

หากจะพูดถึงเรื่อง “ทรงผมของคนไทย”แล้ว ทรงผมในอดีตที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีนั้นคงจะไม่พ้น “ทรงผมมหาดไทย” ที่นิยมไว้กันทั้งผู้ชายและผู้หญิง จนวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกเข้ามาแพร่หลายในไทย ทรงผมก็มีวิวัฒนาการมาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรองหวี วินเทจ อีกหลายอย่างมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งแต่ก่อนเรื่องทรงผมถือเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน มีการออกกฎเกณฑ์เรื่องทรงผมหลายอย่างด้วยกัน โดยเฉพาะหน่วยงานทางราชการบางแห่งก็มีกฎระเบียบเรื่องทรงผมด้วย แต่ในกรณีนี้จะพูดถึง กรณีการบังคับให้นักเรียนชายหญิงไว้ผมตามกฎระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนด ที่นักเรียนชาย ต้องตัดผมเกรียนติดหนังหัว ผู้หญิงต้องตัดผมสั้นเสมอหู ซึ่งผู้เขียนเองเคยประสบพบเจอเหตุการณ์นี้มาเช่นกันในสมัยที่ยังเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ผู้เขียนมักมีปัญหาเรื่องทรงผมกับครู และช่างตัดผมมาตลอด เพราะเรื่องทรงผมนั้น ถือเป็นเรื่องความมั่นใจเฉพาะตน เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเหมาะกับทรงผมที่บังคับให้นักเรียนตัดกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิง ที่ต้องรักสวยรักงามเป็นธรรมดา จะว่าไปแล้วทรงผมก็ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องของความมั่นใจเพราะผมก็คือส่วนหนึ่งของร่างกายเรา


แต่เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 63 ที่ผ่านมามีนักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการยุติการบังคับใช้กฎระเบียบเรื่องทรงผมโดยมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ตัดผมประท้วงที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ สืบเนื่องมาจากมีเด็กนักเรียนชายหญิงหลายคนถูกครูกล้อนผม ตัดผมแบบตั้งใจประจานแก่ผู้พบเห็นว่าทำผิดระเบียบ โดยอ้างว่าเป็นกฎระเบียบของโรงเรียน ซึ่งทำให้นักเรียนหลายคนต้องอับอาย ถูกเพื่อนล้อ จนบางกรณีต้องขอลาออกจากโรงเรียน เป็นต้น ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก เหตุการณ์เหล่านี้มิได้เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันเท่านั้น แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ที่จริงแล้วก่อนหน้านี้มีเยาวชน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนมากมายหลายกลุ่มได้มีการรณรงค์ถึงการยกเลิกการบังคับให้นักเรียนตัดผม ไว้ผมตามกฎมานานหลายปีแล้ว แต่จากการสืบค้นถึงต้นตอของทรงผมเกรียน สั้นเสมอหูนี้ ได้พาย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่ทรงผมเหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบังคับใช้แก่เหล่านักเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2482 มีการตราพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน แต่ก็มิได้บังคับใช้อย่างจริงจัง แต่ที่ดูแล้วจะเป็นการบังคับใช้อย่างจริงจัง นั้นคือ ในสมัย จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่กระทำการรัฐประหารตนเอง โดยหลังจากเหตุการณ์นั้นมีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 โดยอาศัยคำประกาศของคณะปฏิวัติ ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2515 ข้อที่ 1 ความว่า

  • ข้อ 1 การแต่งกาย และความประพฤติดังต่อไปนี้ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน ตามความในข้อ 4 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132    
  • นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครานักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย

ภาพผลงาน(2) โดย ธนบดี วัฒนารักษ์

จนกระทั่งได้ถูกยกเลิกไปช่วงหนึ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการออกกฎกระทรวงฉบับแก้ไข มีชื่อว่า จนกระทั่งได้ถูกยกเลิกไปช่วงหนึ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการออกกฎกระทรวงฉบับแก้ไข มีชื่อว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 วันที่ 6 ม.ค. 2518 แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 1 เรื่องทรงผมนักเรียนที่ไม่เหมาะสม มีความว่า

  • (1) นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวดไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย

นับเป็นจุดสิ้นสุดของการบังคับให้นักเรียนต้องตัดสั้นเกรียนในช่วงแรกหลังจากที่มีการบังคับในปี 2515 จากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ อันที่จริงจุดเริ่มต้นของการบังคับควบคุมไม่ได้มีเพียงช่วงเวลาที่กล่าวมาเพียงอย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาในอดีตนั้นยังมิได้ถูกบังคับใช้กับเยาวชนอย่างเช่นเหตุการณ์ที่กล่าวมา ต่อมาในปี 2556 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน โดยให้สถานศึกษาปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนเป็นแนวทางเดียวกัน เนื่องจากที่ผ่านมาปรากฏว่าสถานศึกษาบางแห่งมีความเข้าใจในเรื่องทรงผมนักเรียนไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ที่มีเนื้อหาว่า

  • 1 นักเรียนชาย ให้ไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ หากไว้ผมยาวด้านข้างและด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม เช่น แบบทรงผมรองทรง
  •  2 นักเรียนหญิง ให้ไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย

จากวันนั้น ยังมีการบังคับ(ไม่)ใช้อยู่เรื่อยมา เป็นกฎระเบียบที่ครูและนักเรียนต้องปฏิบัติตาม เพราะเป็นข้อบังคับตามประกาศของกระทรวง ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน แต่หลังจากนั้นโรงเรียนแทบทุกแห่งในประเทศไทยยังคงดำเนินนโยบายเรื่องทรงผมนักเรียนอยู่เช่นเดิม คือ นักเรียนชายตัดสั้นเกรียน นักเรียนหญิงตัดผมสั้นไม่เกินติ่งหู กระทั่งปัจจุบันนี้ยังเป็นเช่นนั้นอยู่จนเกิดกระแสและมีหลายคนกลับมาตั้งคำถามในสังคมอีกครั้งว่า สมควรแล้วหรือที่ในปัจจุบันจะยังใช้บังคับนักเรียนให้ตัดผมเช่นนี้อยู่? ยังอ้างถือกฎระเบียบเหล่านี้อยู่ในสังคมปัจจุบัน โดยความเห็นของคนรุ่นใหม่ มองว่าการกระทำเหล่านี้ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุเพราะเป็นการละเมิดสิทธิในตัวนักเรียน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่มีมาทุกฉบับ เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่พลเมืองควรจะได้รับ นักเรียนก็ถือเป็นพลเมืองของประเทศไทยเหมือนกับทุกคน แต่เพราะเหตุใด นักเรียนเหล่านี้ถึงไม่มีสิทธิในการเลือก หากจะอ้างถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสลายความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นออกจากกันอย่างที่ครูหรือผู้ใหญ่หลายคนยกเหตุผลนี้ขึ้นมาตอบโต้ฝั่งนักเรียนและนักเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เหตุผลที่คนเหล่านั้นยกอ้างมานั้นสมเหตุสมผลหรือ? หากจะลองพิจารณาดูข้อความในกฏกระทรวง ฉบับแก้ไขข้างต้นและเนื้อหาในหนังสือของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเรื่องทรงผม ปี 2556 จะเห็นได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะมีการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในตัวนักเรียนมากขึ้น แต่ในระหว่างนั้นมีการนำระเบียบทรงผมสั้นเกรียนกลับมาใช้อีกช่วงก่อนที่จะมีประกาศแก้ไขในปี 2556 ที่ว่าเป็นจุดสิ้นสุด(ชั่วคราว)ของการละเมิดสิทธินักเรียนด้วยเรื่องทรงผม คำถามมีอยู่ว่า ทำไมจนถึงตอนนี้ทั้งๆที่มีการประกาศแก้ไขไปแล้วยังมีการบังคับใช้กฎเหล่านี้แก่นักเรียนอยู่?ภาพผลงาน(1) โดย ธนบดี วัฒนารักษ์

ภาพผลงาน(3) โดย ธนบดี วัฒนารักษ์

ย้อนไปดูบริบทของสังคมก่อนหน้านี้สัก 20-30 ปีลงไป ในสมัยนั้นหากเราต้องการสังคมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย คนส่วนใหญ่มักจะมีแนวความคิดเกี่ยวกับระเบียบคือ ทำแบบเคร่งครัดไว้ก่อน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม รวมไปถึงการสั่งสอนหรือลงโทษด้วย มักมีสุภาษิตยอดฮิต ว่า “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” หมายถึง การอบรมสั่งสอน ตักเตือน หรือลงโทษ เวลาเด็กทำผิด แต่เมื่อถึงเวลาที่เด็กทำผิดจริงๆผู้ใหญ่หลายคนมักจะไม่ชี้ให้เห็นถึงเหตุและผลในสิ่งที่จะกระทำหรือลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นลูก หรือสำหรับบางคนที่เป็นครูมักใช้กระทำกับนักเรียนของเขาด้วย เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เด็กที่อายุ 12-18 ปีหรือเด็กที่กำลังเติบโตอยู่ มักจะเจอเหตุการณ์อย่างนี้แทบจะทุกคน สิ่งเหล่านี้ ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนก็คือ อำนาจนิยมในครัวเรือนและอำนาจนิยมในโรงเรียน อำนาจนิยมในครัวเรือนก็ถูกใช้โดยพ่อแม่ ส่วนในโรงเรียนครูก็เป็นคนใช้อำนาจกับเด็กนักเรียน จะเห็นได้ว่า นักเรียนที่ต้องเติบโตเป็นอนาคตของชาติต้องถูกกดอยู่ในอำนาจ อยู่ในสถานะที่ทำอะไรเองไม่ได้ เรื่องนี้ใช้อธิบายกรณีที่เกิดขึ้นในตอนนี้ได้อย่างชัดเจน เด็กนักเรียนไม่สามารถคิด หรือจะทำอะไรได้อย่างอิสระเสรีกับสิ่งที่ถนัดและสร้างสรรค์ กับเรื่องทรงผมก็เช่นกัน ผู้ใหญ่บางคนยังคอยชี้นำ คอยขัดขวางไม่ให้ทำเป็นนั้นแบบนี้โดยอ้างว่า อย่าเถียงผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เด็กเหล่านี้ต้องเจอมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต

Michel Foucault (1926-1984)

ตามทฤษฎีอำนาจชีวะ (bio-power) ของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้คือ การที่ต้องอยู่กับอำนาจที่อยู่ในจิตของตนเอง ที่ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็กจากการสั่งสอน การคาดคั้นให้ทำในสิ่งต่างๆจากผู้ใหญ่ อำนาจนี้อยู่ในจิตของมนุษย์และมนุษย์ก็ใช้มันมาควบคุมตนเอง ผ่านกลยุทธ์อันแนบเนียน คือ การทำงานคู่ไปกับความรู้ โดยมีระเบียบวินัยเป็นกลไกของอำนาจ ซึ่งกลายสภาพให้ร่างกายและจิตใจเป็นประโยชน์ว่านอนสอนง่าย แต่สิ่งที่มากดทับอำนาจชีวะของตนเองอีกทีนั้นเป็นอำนาจที่ไม่มีเป้าหมายในตัวเอง ที่บังคับควบคุมจากผู้มีอำนาจต่อผู้ที่ถูกกระทำด้วยอำนาจ ที่เน้นให้เห็นถึงการบังคับควบคุมโดยกฎระเบียบ กฎหมาย ในกรณีนี้คือ กฎกระทรวงของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีสภาวะเป็นกฎหมาย ใครละเมิดถือว่าผิด ครูหลายคนอ้างถึงกฎนี้มาควบคุมเด็กนักเรียนอีกที ผ่านอำนาจที่ตนเองมีในฐานะพ่อแม่ หรือ ครู จากการสั่งสอน อบรมมาตั้งแต่เด็กว่า นักเรียนที่ดีต้องทำตามระเบียบวินัยของโรงเรียน เด็กบางคนกลัวว่าจะผิดกฎเหล่านี้ มีเด็กหลายคนไม่ยอมมาโรงเรียนในวันที่มีการตรวจผม เพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษ บางคนไม่กล้าคิดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ไม่กล้าคิดเกินไปกว่าที่ถูกสั่งให้คิดให้ทำ บางครั้งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นปมด้อยของเด็กคนนั้นไปเลย อำนาจในลักษณะนี้ในทัศนะของ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ที่มีแนวคิดว่าอำนาจเป็นสิ่งที่ผูกติดกับสถานภาพของบุคคล เรียกว่าอำนาจเหนือผู้อื่น (power over others) มีนัยสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เท่ากันระหว่างผู้ใหญ่ที่มีสถานะเป็นครู กับเด็กที่มีสถานะเป็นนักเรียน

ราชกิจจานุเบกษา เรื่องระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้เขียนคิดว่าอาจจะทำให้เห็นระบบโครงสร้างอำนาจที่ซับซ้อนอยู่ในเรื่องนี้ และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออก ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563 ใหม่แล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป แต่เมื่อลองอ่านและวิเคราะห์ตามตัวบท ยังมีบางอย่างที่ยังต้องหาคำตอบที่ชัดเจนว่า อะไรคือทรงผมที่ “เหมาะสม ” และ “ไม่เหมาะสม” กับนักเรียน รวมถึงช่องว่างที่ให้โรงเรียนออกระเบียบเรื่องทรงผมนักเรียนได้อย่างอิสระแต่ต้องไม่ขัดกับกฎกระทรวง ซึ่งความเป็นไปได้อาจจะนำไปสู่การตัดผม สั้นเกรียน สั้นเสมอติ่งหู เหมือนเดิมก็เป็นได้ ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเหล่านี้ เพื่อสังคมที่สร้างสรรค์ในอนาคต ด้วยทัศนคติที่ดีของเด็กรุ่นใหม่ ผู้เขียนดีใจและสนับสนุนการกระทำของเด็กนักเรียนรุ่นใหม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะกล้าทำในสิ่งที่ใครหลายๆคนคิด แต่ไม่มีโอกาสทำ

บทความและเอกสารอ้างอิง

 (1)กระทรวงศึกษาธิการ, ข่าวกระทรวงศึกษาธิการ : แนวปฏิบัติทรงผม นร. ปี 2556, เข้าถึงเมื่อ 25 ก.ค. 2563 เข้าถึงได้จาก https://www.moe.go.th/แนวปฏิบัติทรงผม นร.
 (2)ข่าวสด, กรณีนักเรียนหญิงโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ถูกลงโทษตัดผมให้แหว่งไม่เป็นทรง, เข้าถึงเมื่อ 25 ก.ค. 2563  เข้าถึงได้จาก 
 https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_4444919
 (3)จารุณี วงศ์ละคร, วรสารปณิธาณ : วรสารวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา : อำนาจชีวะในทัศนะของ มิเชล ฟูโกต์ (The Biopower in Michel Foucault’s thought). 2561.
 (4)ไทยพีบีเอส, ไทยพีบีเอส นิวส์ : ตัดผมหน้าตึก ศธ. ทวงความชัดเจนกฎไว้ทรงผมนักเรียน, เข้าถึงเมื่อ 25 ก.ค. 2563 เข้าถึงได้จาก 
 https://news.thaipbs.or.th/content/294245
 (5)ไทยพีบีเอส, นโยบาย By ประชาชน : เปิดเสรีทรงผมนักเรียนไทย ( 2 เม.ย. 61), เข้าถึงเมื่อ 24 ก.ค. 2563 เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=1n_N61OeB1w&t=446s
 (6)ประชาไท, จากระเบียบ 'ทรงผม' สู่ระบบ 'โซตัส' : กฎเถื่อนที่ผูกมัด 'นักเรียน' ยัน 'นักศึกษา'
  EP.1- EP.2, เข้าถึงเมื่อ 25 ก.ค. 2563, เข้าถึงได้จากhttps://prachatai.com/journal/2020/07/88557,https://prachatai.com/journal/2020/07/88705

Leave a Comment