คำเตือนก่อนการล่มสลาย ธนาคารทางปัญญา กับปัญหาโควิด – 19 (2/2)

มหาลัยล่องตรึก คอนเท้น (2)
คำเตือนก่อนการล่มสลาย ธนาคารทางปัญญา กับปัญหาโควิด – 19 (2/2)
คมกฤช มาลี

จากบทความชิ้นก่อน ผู้เขียนค้างประเด็นไว้อยู่ว่า หากนักวิชากลายเป็นคนตกงาน หากโลกวิชาการไร้ขาดการหล่อเลี้ยง ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วสังคมจะเกิดอะไรขึ้น?

บางที ผู้เขียนคิดว่าเราอาจต้องเริ่มจากการชวนตอบคำถามง่ายๆ สั้นๆ ก่อนว่าแล้วความรู้ทางวิชาการมันมีความสำคัญอย่างไรล่ะ?

เมื่อมองผ่านเลนส์ ‘ชีวะอำนาจ’ ของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ว่าด้วย ‘อำนาจ’ ที่ไม่ใช่แค่การใช้ความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้ง หากแต่มันยังละเอียดอ่อนและทำงานอย่างแยบคายมากกว่านั้น อำนาจคือการบงการแม้กระทั่งความคิด อำนาจคือการบงการด้วย ‘ความรู้’[i] และหากผู้ใดโอนอ่อนอยู่ภายใต้เงาของความรู้นั่นแล้ว ก็เท่ากับว่าผู้นั้นย่อมตกเป็นส่วนหนึ่งในกลไกของอำนาจนำอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ในทุกๆ สังคม ความรู้ไม่ใช่สิ่งเสรี ความรู้ชุดหนึ่งย่อมมอบอำนาจและความชอบธรรมให้แก่คนกลุ่มหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ความรู้อีกชุดก็ย่อมมอบอำนาจให้แก่คนอีกกลุ่ม ถ้าอย่างนั้นแล้ว ใครกันล่ะที่ควบคุมความรู้พวกนั้น? ใครกันที่ได้รับผลประโยชน์จากมัน?

สำหรับสังคมเผด็จการ การยึดตรึงความรู้ของประชาชนเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง เพราะกระบวนการดังกล่าวหมายถึงการหล่อเลี้ยงอำนาจที่เบ็ดเสร็จเข้มข้น ยิ่งประชาชนถูกสั่งสอนให้รู้ตามครรลองมากเท่าไหร่ ประชาชนก็ยิ่งจะถูกเผด็จการใช้อำนาจควบคุม และครอบครองได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แน่นอนล่ะว่า ชุดความรู้ที่เผด็จการชอบใช้ก็มักเป็นคำอธิบายที่ว่าด้วยความจริงแท้ สุดยอด ดีเลิศ เด็ดขาด อันดับหนึ่ง ศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ เป็นระบบความรู้เก่าที่ต้องผดุงไว้ ห้ามเปลี่ยนแปลง ห้ามตั้งคำถาม

ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึง ‘ความรู้’ ที่อยู่บนพื้นที่ทางวิชาการ การจะผลิตสร้างความรู้ขึ้นมาได้นั้น นักวิชาการจะต้องอาศัยกระบวนการทั้งการตั้งคำถาม การสืบหาจากฐานราก การวิพากษ์วิจารณ์ การอ้างเหตุผล และการใช้วิธีวิทยาแบบต่างๆ อย่างเป็นระเบียบระบบ เพื่อแสวงหาคำตอบและคำอธิบายใหม่ๆ มาเปลี่ยนแปลงความจริงและความเชื่อชุดเดิม อย่างไรก็ตาม การที่แวดวงวิชาการจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้ ต้องอาศัยความมีเสรีภาพทางวิชาการ มีเสรีภาพในการตั้งคำถาม และต้องมีความกล้าหาญมากพอจะโอบรับกระทั่งประเด็นอันตรายให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของวงวิชาการ

ดังเช่นในงานเสวนา ‘เสรีภาพทางวิชาการในสภาวะเสื่อมถอย’ ในโอกาสตีพิมพ์หนังสือ 80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปัญญาชนแห่งสยามยุคเปลี่ยนผัน[ii] อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เสนอว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นคุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งในระบบประชาธิปไตย เช่นเดียวกันกับเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็น ทุกคนสามารถมีเสรีภาพทางวิชาการได้ เพียงแต่จุดที่ต่างไปก็คือ การแสดงความเห็นไม่มีข้อพิสูจน์ และยังปะปนด้วยอารมณ์ความรู้สึก ส่วนเสรีภาพทางวิชาการนั้นมีแบบแผนกำกับความรู้ สามารถพิสูจน์ได้

ในความเกี่ยวดองกันระหว่างนักวิชาการกับการขับเคลื่อนเรียกร้องทางสังคม อาจจะต้องย้อนกลับไปถึงช่วงพุทธศักราช 2510 – 2520[iii] ซึ่งเป็นช่วงที่การก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษากำลังผลิบาน จากอิทธิพลของสงครามเย็น ในช่วงเวลานั้นเองว่าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากก็ได้รับทุนสนับสนุนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อที่จะกลับมาเป็นบุคลากรแก่สถาบันการศึกษา ในเวลาต่อมา เหล่าอาจารย์ที่ได้ไปเรียนที่เมืองนอกกลุ่มนี้เองก็กลับมาพร้อมพกพาแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยติดตัวกลับมาด้วย และสิ่งเหล่านี้เองที่กลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาเกิดการรวมตัวกันเป็นปากเป็นเสียง ร่วมเป็นหนึ่งในขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในช่วง 14 ตุลา

100 รายชื่อผู้ร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบไปด้วยรายชื่อนักวิชาการ ที่มา หนังสือเรียกร้องรัฐธรรมนูญ (2516)

บทบาทของนักวิชาการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างในช่วง พ.ศ. 2530 – 2540 ที่นักวิชาการมีบทบาทเป็นทั้งผู้วิพากษ์วิจารณ์ ผู้ตรวจสอบการทำงานของรัฐ ในจุดที่รัฐเองก็ไม่อาจดำเนินไปถึง อีกทั้งยังร่วมมือกับขบวนการภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนทางสังคม อย่างสมัชชาคนจน จนมาถึงจุดอิ่มตัวในยุคการเมืองเหลืองแดง ในช่วง 2540 – 2550 นักวิชาการเริ่มเข้ามามีบทบาทในการผลิตนโยบายรัฐ (ในช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย) รวมถึงยังมีนักวิชาการจำนวนมากที่เข้ามาเป็นหัวหอกของการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ทั้งการขึ้นปราศรัย ทั้งการใช้หลักเหตุผลเพื่อหักล้างความชอบธรรมของอีกฝ่าย

ด้วยระยะเวลาเพียงแค่ 40 ปี วงการวิชาก็สามารถเติบโตและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลวัตของสังคมที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าความเจริญงอกงามของระบบนิเวศทางปัญญา ย่อมมีผลบ่งชี้ต่อความเจริญของประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 การแผ่ขยายบทบาทของนักวิชาการมาถึงจุดพลิกผัน นักวิชาการจำนวนมากถูกคุกคาม อาจเรียกได้ว่านี่เป็นการคุกคามทางวิชาการที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ อย่างเช่นในกรณีของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และอ.ปวิน ชัชวาลพงศพันธ์ ที่ถูกบีบให้ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ หรือกรณีของอ.ณัฐพล ใจจริง ที่ถูกเรียกร้องให้ปิดกั้นการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการอย่าง ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีย์ เป็นต้น รวมไปถึงนักวิชาการอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในระบบก็ได้รับแรงกดดันให้งดบทบาททางการเมืองและสังคม แล้วกลับมามุ่งอยู่กับงานวิชาการแทน

พวกเรากำลังถูกกล่อมให้โง่ลง อีกครั้ง!!! และดูเหมือนว่าในครั้งนี้เราจะไม่มีโอกาสกลับขึ้นมาได้อีก เพราะสังคมเผด็จการแบบไทยๆ ไม่ได้กำลังพรากเอาไปแค่เสรีภาพทางวิชาการเพียงเท่านั้น อย่างตั้งใจหรือไม่เคยรู้ตัว ความระเนระนาดของเผด็จการไทยได้สะบั้นวงจรทางปัญญาเหล่านี้ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อนักวิชาการรุ่นใหม่ไม่สามารถลืมตาอ้าปาก ผลิตสร้างงานวิจัย – ข้อค้นพบใหม่เข้าสู่ระบบความรู้ได้อีกต่อไป ธนาคารทางปัญญาของประเทศนี้ก็คงต้องถูกแช่แข็งไว้อยู่กับที่

และอีก 5 ปี 10 ปีต่อจากนี้ เรื่องเล่าอย่าง ภูมิกายา, ขุนศึก-ศักดินาฯ, ราชาชาตินิยม ฯลฯ ก็คงจะยังถูกจดจำในฐานะประดิฐกรรมทางปัญญาสุดล้ำนำสมัย ไม่มีใครโค่นล้ม ไม่ต่างอะไรกับรถเมล์สีแดงครีม หรือหัวรถไฟดีเซล

ถ้าพวกเขาจะอนุญาตให้เราจำหรอกนะ


[i] อำนาจชีวะในทัศนะของ มิเชล ฟูโกต์ The Biopower in Michel Foucault’s thought [บทความวารสาร] / ผู้แต่ง จารุณี วงศ์ละคร // วารสารปณิธาน: วารสารวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา. – 2561. – 1 : เล่มที่ 14. – หน้า 135-162.

[ii] เสวนา เสรีภาพทางวิชาการในสภาวะเสื่อมถอย คณะรัฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ [ออนไลน์] / ผู้เผยแพร่ VOICE TV // www.youtube.com. – 5 เมษายน 2564. – https://www.youtube.com/watch?v=PAslCb-1aQc.

[iii] ให้ข้อมูลโดยอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ดูรายละเอียดได้ใน: [เสวนา] Nitihub: ความ “กล้าหาญ” ทางวิชาการ & “จรรยาบรรณ” วิชาชีพ | 13 พ.ค. 64 [ออนไลน์] / ผู้เผยแพร่ prachatai // www.youtube.com. – 14 พฤษภาคม 2564. – https://www.youtube.com/watch?v=C-zmdme_8EA.

Leave a Comment