ศิลปะ-การเมือง : กรณีศึกษาภูเขาสีดำ [1/3]

LONGTRUK: Openlab #4

บทความเสพศิลป์บ่มีสม 02 โดย ผิว มีมาลัย

บรรณาธิการ: ภาอรุณ ชูประเสริฐ x สุพิชญา ขุนชำนิ

บทนำ

จุดเริ่มต้นของ Black Mountain College และโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ถือกำเนิดขึ้นในปีเดียวกัน แต่อยู่คนละฝากฝั่งมหาสมุทร อยู่เขาคนละลูก (ภูเขาสีดำกับเขาพระสุเมรุ )ปรัชญาการศึกษาคนละชุดที่คล้ายคลึงกันและขัดแย้งกันของ John Dewey และBenedetto Croce คือเบื้องหลังความแตกต่างระหว่างกัน

ศิลปะ-การเมือง กรณีศึกษาภูเขาสีดำ มิใช่การศึกษาเชิงเปรียบเทียบเพื่อจะบ่งชี้ว่าสถานบันใดพ่อทุกสถาบันอย่างที่พ่นกันตามพนังรั้วกำแพง หรืออาจไม่มีข้อสรุปใดๆให้ยึดถือ เป็นเพียงการทดลองสืบค้นลงไปในชั้นข้อมูลหรือบันทึกจดหมายเหตุ จากบทสัมภาษณ์ และบทสนทนาของเหตุการณ์แวดล้อมละคนสร้าง ต่างกรรมต่างวาระ ต่างเทศะต่างเวลา ต่างศรัทธาความเชื่อ

Chapter: I

จากผลของการประดิษฐ์สร้างความหวาดกลัว จริตวิตกต่อภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 เปิดพื้นที่ให้รัฐบาลแสดงบทผู้ปกป้องและขยายการดำเนินภารกิจแทรกแซงในรูปแบบสงครามเย็น ลงไปในหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Propaganda หรือวาทกรรมสร้างความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่แพร่ระบาดไปในสังคมอเมริกันช่วงเวลานั้น ดูจะไม่ต่างจากจริตความหวาดกลัวที่คนไทยมีต่อภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิว นิสต์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

แม้ในปัจจุบันวาทกรรมดังกล่าวยังคงดำรงอยู่และพัฒนาไปสู่การต่อต้านภัยคุกคามจากลัทธิชังชาติโดยหน่วยปฏิบัติการ กอรมน. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ในปี ค.ศ. 1956 Black Mountain College ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความหวาดระแวงซึ่งกันและกันในสังคมจากนโยบายต่อต้านภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลกลาง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Black Mountain College อาจไม่รุนแรงหรือป่าเถื่อนเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ล้อมปราบและเข่นฆ่านักศึกษาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


แต่ถึงอย่างไรสถาบันศิลปะเล็ก ๆ ในภูเขาสีดำอย่าง Black Mountain College ก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงและต้องปิดตัวไปในที่สุด

Experimental education: Black Mountain College

Black Mountain College ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1933 ปีเดียวกับการก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โดยหลวงวิจิตรวาทการ (1898- 1962) พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (1895- 1950) และศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci; 1892–1962) ชาวอิตาลีซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอาจารย์ผู้สอนหลัก


โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี ค.ศ. 1943 เป็นสถาบันศิลปะเล็ก ๆ หน้าพระลานใกล้กับภูเขาพระสุเมรุ (Mount Meru) มีภูมิรัฐศาสตร์ร่วมในพื้นที่ตั้งบริเวณเดียวกันกับมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ย่อมได้รับผลกระทบในบริบททางการเมืองไม่มากก็น้อย อาจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ (1935-2008) เล่าบรรยากาศอึมครึมในช่วงเวลาดังกล่าวว่า


คณบดีคณะจิตรกรรมฯ มีทัศนะไม่เห็นด้วยและได้ห้ามปรามอาจารย์ในคณะฯ ที่เข้าไปมีพฤติกรรมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวการชุมนุมของบรรดานักศึกษาและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ


คณบดีฯในเวลานั้นอาจมีความเห็นว่า ศิลปะชั้นเลิศอันจะนำไปสู่การรู้แจ้งทางปัญญาของมนุษยชาติ ย่อมอยู่เหนือพ้นไปจากเรื่องทางการเมือง หรืออาจตอบสนองนโยบายภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐเพียงเท่านั้นก็เป็นได้ พูดให้แคบก็คือ ศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้การเมืองจะยุ่งเกี่ยวกับศิลปะก็ตาม

  • ข้อสังเกตถัดมาในประเด็นนี้ก็คือ แรงจูงในอะไรที่ทำให้ศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง?

โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี ค.ศ. 1943

บทเพลงประจำมหาวิทยาลัยอาจเป็นหนึ่งในปฐมบทของคนหนุ่มสาวหลายคน บทเพลงคือจุดเริ่มต้นของวาทกรรมอันทรงพลังชนิดหนึ่งดำรงคงอยู่นอกพื้นที่ทางโสตสัมผัสวิทยา (Audiology) ไปจนชั่วอายุไข ไม่ว่าเราจะร้องมันออกมาหรือไม่ เนื้อร้องและทำนองได้ฝังเข้าไปในช่องหรือร่องหยักของส่วนทรงจำเสียแล้ว


หากเราพิจารณาเพลงศิลปากรนิยมในฐานะตัวบท ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นกุญแจดอกที่หนึ่งทดลองไขประตูบานใหญ่ออก ไปสู่ความเป็นจริงทางสังคมและการค้นพบใหม่ ๆ ไม่แน่ว่ากุญแจดอกนี้อาจเป็นกุญแจผีที่สามารถสะเดาะประตูได้หลายบาน


เพลงศิลปากรนิยมนั้นไม่ปรากฏผู้ประพันธ์คำร้องและไม่ได้ระบุช่วงเวลาในการแต่งคำร้อง เฉพาะทำนองเพลงนั้นนำมาจากเพลง Santa Lucia ในต้นฉบับภาษาอิตาลีโดย เตโอโดโร กอตตราอู (Teodoro Cottrau; 1827–1879) เนื้อร้องตอนหนึ่งมีความว่า ในต้นฉบับภาษาอิตาลีโดย เตโอโดโร กอตตราอู (Teodoro Cottrau; 1827–1879) เนื้อร้องตอนหนึ่งมีความว่า “ศิลปินอยู่เพื่ออะไร ยืนยงเพื่อจรรโลงสิ่งไหน”


จะเห็นได้ว่าตัวบทของเนื้อร้องท่อนนี้แสดงความฮึกเหิมท้าทาย และให้ความสำคัญต่ออาชีพนักศิลปะเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทิ้งท้ายคำถามเชิงอภิปรัชญา (Metaphysic) จากนั้นเนื้อร้องท่อนต่อมามีความว่า
จากนั้นเนื้อร้องท่อนต่อมามีความว่า

“แต่ศิลปินกลับภาคภูมิในใจที่ได้สร้างเพื่อ มนุษยธรรม”


จะสังเกตเห็นว่าตัวบทที่ปรากฏในเนื้อร้อง 2 ท่อนดูจะย้อนแย้งกันอยู่ไม่มากก็น้อยในแง่ตัวบท เนื้อร้องท่อนที่ 2 ได้แสดง แถลงการณ์ (manifesto) ในฐานะศิลปินด้วยความเชื่อที่ว่านี่เป็นอาชีพที่เสียสละ และเป็นไปเพื่อคุณธรรมของมวลมนุษยชาติ โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามในท่อนที่ 1 ด้วยความมั่นใจ


รูปและความหมายสัญญะที่ปรากฏในคำร้อง ให้จินตภาพเทียบเคียงกับผลงานปรัชญานิพนธ์เชิงสุนทรียศาสตร์จากหนังสือ The Essence of Aesthetics โดย Benedetto Croce (b.1866 – 1952) นักปราชญ์ชาวอิตาเลียนผู้นิยามศิลปะว่าคือญาณทัศน์ (intuition) ไม่เกี่ยวกับความคิดเชิงเหตุและผล


ปรัชญาสุนทรียศาตร์ของ Croce ได้ถูกพัฒนาต่อมาโดยนักการศึกษาและนักปรัชญาอีกหลายท่านอาทิ R. G. Collingwood (1889 1943) และ Corrado Feroci (1892 –1962) นิยามศิลปะเช่นนี้ได้กลายเป็น กรอบคิดอย่างมั่นคงในกลุ่มศิลปินสำนักหน้าพระลานฯ


อาจเป็นความจริงที่ว่าเนื้อเพลงศิลปากรนิยมไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามในใจของผู้แต่ง แต่อย่างไรก็ตามบทเพลงนี้ได้ ถูกผลิตซ้ำและตอกย้ำคำถามใหม่ ๆ ที่ว่า “ทุกวันนี้เรามีศิลปินไว้เพื่ออะไรและศิลปะควรมีประโยชน์ใช้สอยอย่างไรในทางสังคม”

ที่มาภาพ: SU page

ในตอนท้ายของเพลงศิลปากรนิยม ศิลปินได้ตัดพ้อมวลมนุษย์เล็กน้อยด้วยความปรารถนาที่จะมีชีวิตศิวิไล จากนั้นพวกเขาก็ชวนกันเริงรื่น เนื้อเพลงความว่า “มนุษย์เราหากรักศิลป์ สิ่งซึ่งงามวิไล มวลมนุษย์คงสดชื่น รื่นเริงศิวิไล มะมา เรามารื่นเริง มะมา เรามาบันเทิง มะมา เรามารื่นเริง เชิงชื่นรื่นสำราญ”


จากการวิเคราะห์ตัวบทแน่นอนว่าบทเพลงศิลปากรนิยมมิได้มีเนื้อหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองตามทัศนะที่ว่า ศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นั้นอาจอนุมานได้หรือไม่ว่าบทเพลงศิลปากรนิยมบ่งชี้สภาวะการ ‘หวนกลับ’ หรือจมดิ่งสู่โลกความจริงภายในของศิลปินซึ่งเป็นโลกความจริงอีกชุดหนึ่งตามที่ Croce กล่าวอ้าง

แต่ก็ใช่ว่านิยามศิลปะในแนวทางเช่นนี้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ กรณีศึกษาเหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ ของมวลมหาประชาชนกลุ่ม กปปส. ในปีค.ศ. 2014 อธิการบดีและคณบดีคณะจิตรกรรมฯในเวลานั้นได้นำคณาจารย์และนักศึกษาจำนวนหนึ่งเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว


ยังส่งผลให้รูปแบบกิจกรรมและรูปลักษณ์ของมวลชนและรูปแบบการชุมนุมมีความแปลกใหม่ด้วยความคิดสร้างสรรค์นานาประการ อาทิ กิจกรรม Art Lane และ Shutdown Bangkok เป็นต้น


ถึงแม้การเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ของมหาวิทยาลัยศิลปากรครั้งนั้นจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมการขับเคลื่อนดังกล่าวอยู่ในขบวนการของกลุ่ม กปปส. ซึ่งก่อให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารโดยกองทัพ

กิจกรรม Art Lane และ Shutdown Bangkok

เวลา 20 นาฬิกา 29 นาทีของวันที่ 26 มกราคม ปี ค.ศ. 2014


ผมไม่ได้เรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัตินะครับ แต่ผมเรียกร้องให้ทหารออกมาคุ้มครองประชาชน…” เสียงปราศรัยบนเวทีเงียบงันไปชั่วครู่ กล้องแพนกลับไปที่กำนันสุเทพยังยืนนิ่งอยู่บนเวที ริมฝีปากที่แห้งผากทำให้ต้องเม้มมันเข้าไป ใช้น้ำลายจากปลายลิ้นลูบไล้ให้ชุ่มชื้น สายตาเศร้าสร้อยระคนผิดหวังของเขากำลังกวาดมองลงไปสู่มวลชนที่แน่นขนัดเบื้องล่าง


ทันใดนั้นเสียงร้องก็เริ่มสอดประสาน ค่อย ๆ ดังขึ้น ๆๆๆๆๆ มวลชนที่รวมตัวอยู่เต็มถนนบริเวณสี่แยกปทุมวันหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ต่างพากันร้องตะโกน “ทหารออกมา…ทหารออกมา…ทหารออกมา…ทหารออกมา………..”


เสียงที่ดังจากโทรทัศน์ปกคลุมความเงียบ คนที่โต๊ะอาหารนั่งมองหน้ากัน “เราจะปฏิรูปประเทศโดยไม่ไปเลือกตั้งกันใช่ไหมครับ” เด็กหนุ่มผมยาวเอ่ยถามผู้เป็นพ่อที่นั่งตรงข้าม ตาจ้องกันแต่ไม่มีคำตอบ ผู้เป็นแม่รวบช้อนส้อมบนจานและลุกออกจากหัวโต๊ะ หยิบรีโมทปิดโทรทัศน์แล้วเลี่ยง หนีเข้าครัว ความเงียบงันกลับเข้าปกคลุมบรรยากาศมื้อค่ำในบ้านหลังนี้อีกเช่นเคย


ประเด็นเรื่องศิลปะกับการเมือง เป็นประเด็นปัญหาและข้อถกเถียงกันมานานจากอดีตจนปัจจุบัน จากเรเนซองส์ถึงนีโอคลาสสิค จากโรแมนติกถึงดาดา จาก Antifa ถึง flashmob ไม่ว่าเราจะเชิดชูศิลปะเพื่อศิลปะโดยปฏิเสธการเมือง อย่างไรเสียการเมืองก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศิลปะไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี


Chapter: II


กรณีศึกษาที่น่าสนใจจาก Black Mountain College พื้นที่ทดลองการศึกษาเล็ก ๆ ในหุบเขาสีดำเป็นกรณีการเมืองแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางการศึกษาอย่างรุนแรงและได้ทำลายโรงเรียนศิลปะในฝันหรือโรงเรียนต้นแบบของใครหลายคน


Black Mountain College ปิดตัวลงเมื่อปี ค.ศ. 1957 หลังเปิดทำการเรียนการสอนเป็นเวลา 24 ปี และเป็น 24 ปีแห่งความเข้มข้นของการค้นคว้าทดลองเชิงปฏิบัติการ ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติและความมุ่งมั่นในการศึกษาสหวิทยาการ (interdisciplinary)


ประกอบกับความลุ่มลึกในหลักการและปรัชญาการศึกษาแบบก้าวหน้าของ John Dewey (1859 –1952) แนวคิดที่เปิดให้กระบวนการทางศิลปะเป็นแก่นกลางของประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหลาย


ที่วิทยาลัยเขตพระราชวังสนามจันทร์ย้อนกลับไปต้นทศวรรษที่ 1970 ที่หมวดวิชาทัศนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์เมื่อครั้งที่อาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา


หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโททัศนศิลป์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ภายใต้ทุนการศึกษาจากมูลนิธิ J.D. Rockefeller 3rd Fund Fellowship และเข้าเป็นอาจารย์ประจำ

คณะอักษรศาสตร์และศาลาแปดเหลี่ยมบริเวณสระแก้ว มหาลัยศิลปากร วิทยาลัยเขตพระราชวังสนามจันทร์


การเรียนการสอนทัศนศิลป์ที่คณะอักษรฯ ได้กลายเป็นพื้นที่ทดลองการศึกษาทัศนศิลป์ที่แตกต่างไปจากการศึกษากระแสหลักที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางอคาเดมิก อาจารย์ดำรงพัฒนาแนวทางการศึกษาของ Dewey โดยปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและนิเวศทางการศึกษาของคณะฯในเวลานั้น


หากจินตนาการกายภาพทางภูมิศาสตร์ของคณะอักษรฯ ในบริบทเชิงพื้นที่ช่วงทศวรรษที่ 1970 ภาพทะเลสาบหน้าคณะฯ อาคารโมเดิร์นและโคโลนี่อยู่ไม่ไกลกันนัก


ป่ารกชัฏและความไม่ชัดเจนของอาณาบริเวณห้องเรียนเวลานั้นคือพื้นที่การเรียนรู้ของบรรดานักศึกษาวัยทะโมนที่มาใช้ชีวิตร่วมกันในแบบโรงเรียนกินนอนที่ต่างจังหวัด


พื้นที่หรือสถานที่คือตัวแปรหนึ่งของการสร้างบรรยากาศการทดลองด้านการศึกษา พื้นที่ที่คลุมเครือหรือไม่ชัดเจนกลับส่งผลให้เกิดการทดลองใหม่ ๆ ทางการศึกษาได้น่าสนใจ


แนวทางของหลักสูตรซึ่งสลายกรอบโครงสร้างการศึกษา ที่มุ่งเน้นอคาเดมิกภายใต้นิเวศการศึกษาของคณะจิตรกรรมฯ เวลานั้น มีนัยสำคัญอย่างไรและเป็นสิ่งที่ควรแก่การศึกษาถอดความรู้ต่อไป

ภาพ มล.ปิ่นมาลากุล เปิดวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และภาพสระแก้วบริเวณหน้าคณะอักษรฯ

วารสารภูเขาสีดำพื้นที่ทดลองการศึกษา (Black Mountain: Experimental College) คือ เอกสารชุดความรู้ที่ถอดออกจากกิจกรรมการดำเนินการเรียนการสอน แม้แต่ในด้านการบริหารจัดการของBlack Mountain Collegeที่มีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยอื่น ๆ โดยทั่วไปในสหรัฐ อเมริกา


Black Mountain Collage บริหารและจัดการกันเองโดยไม่มีอธิการบดี ไม่มีคณบดีฯ มีแต่ผู้สอน ผู้ช่วยสอน และนักศึกษา สมาชิกทุกคนในชุมชนแห่งนี้มีส่วนร่วมในการจัดการและบริหารด้านต่าง ๆ เช่น ผู้เรียนและผู้สอนออกแบบรายวิชาร่วมกัน ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดว่าจะเรียนอะไรและกำหนดเองว่าจะจบการศึกษาเมื่อไร


นอกจากนั้นพวกเขาร่วมสร้างกิจกรรมเช่น การทำงานที่แปลงผักสวนครัว โครงการออกแบบและก่อสร้างอาคาร และบังกะโลที่พัก สร้างอุปกรณ์ต่างๆในการเรียนการสอนร่วมกัน Black Mountain College คือ โรงเรียนที่ไม่มีหน่วยกิตและไม่ต้องเสียค่าเทอม ฯลฯ

Black Mountain College learning activity

แม้แต่งานในครัวพวกเขาก็แบ่งหน้าที่กันดูแลและรับผิดชอบ Black Mountain College คือโรงเรียนแบบกินนอนและมันได้กลายเป็นคอมมูทางด้านสหวิทยาการสมัยใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ เวลานั้น


นักเรียนและผู้สอน(student and faculty) กินนอนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ในวันหยุดนักศึกษามักไม่ค่อยกลับบ้านหลังอาหารค่ำพวกเขาเต้นรำและจัดการแสดงสดต่างๆ เสมอ


ผู้สอนและนักศีกษาแสดงละครร่วมกัน โดยนำผลงานของแต่ละคนค้นหาความเป็นไปได้ของการนำเสนอศิลปะความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทางสังคม (Collaborative and participatory arts) สร้างสรรค์อุปรากรร่วมสมัย


ยังผลให้เกิดการค้นพบใหม่ ๆ ด้วยประสบการณ์ทางศิลปะในชีวิตประจำวันของทั้งผู้เรียนและผู้สอนไปพร้อม ๆ กัน

Black Mountain college learning activity

หลายทศวรรษต่อมาพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา และยุโรปได้จัดแสดงนิทรรศการถอดความรู้เกี่ยวกับ Black Mountain College ซึ่งแน่นอนว่าบทภัณฑารักษ์ของนิทรรศการหลายครั้งเน้นย้ำไปที่การเรียนรู้เชิงสหวิทยาการซึ่ง Black Mountain College ได้พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 50-60


การทดลองมากมายในช่วงเวลานั้นได้ส่งต่ออิทธิพลไปสู่สังคมในวงกว้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ไม่เฉพาะแต่แวดวงศิลปะทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม สื่อผสม นิวมีเดียเท่านั้น หากยังแทรกซึมเข้าไปสู่สังคมการเมืองและวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาและของโลกอีกด้วย

วารสารชุดความรู้ของ Black Mountain College


Chapter: III

มีรายงานข่าวลือสะพัดเมื่อ FBI ยืนขอต่ออัยการเมืองแชลอดวิว นัยเพื่อตอบข้อกังขาของชาวบ้านที่สงสัยในมนต์ดำแห่งภูเขาสีดำ


“เขาว่ากันว่าภูเขาสีดำเป็นที่สุมหัวกันของพวกนอกศาสนา พวกรักร่วมเพศ และพวกขี้ยา”


เดฟพูดพรางเคาะบุหรี่ใส่ฝีปาก กาแฟดำกรุ่นหอมบนโต๊ะเรียกร้องให้ซิปมันเข้าไปผสมกับควันบุหรี่ที่พึ่งซื้ดเข้าไปให้โล่งในลำคอ


ชิตท์” พีเทอร์ กังวานสบถเหมือนมีขี้ติดอยู่ริมฝีปาก (สำนวนแบบรงค์) เขาหยิบไม้ม๊อปหลังเคาน์เตอร์บิดน้ำแล้วเดินถูไปบนพื้นจากด้านในมาหยุดที่เดฟตรงประตู


เดฟคุณไม่รู้ใช่ไหม มีพวกคอมมิวนิสต์สอนอยู่ที่นั่นด้วย” พีเทอร์ยื่นมือหยิบที่เขี่ยบุหรี่จากโต๊ะของเดฟแล้วเดินกลับไปหลังเคาน์เทอร์เหวี่ยงไม้ม๊อปเข้าเก็บในที่ของมันแล้วกวาดก้นบุหรี่จากที่เขี่ยลงถังทิ้ง


กอธแดมอิตท์ ยังมีนิคเกอร์เรียนที่นั่นอีกด้วย” พีเทอร์พูดจบกระแทกที่เขี่ยบุหรี่ซึ่งเช็ดจนสะอ้านลงโครมใหญ่และขยับมันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยบนเคาน์เทอร์นั้น


เดฟกระดกกาแฟที่ขอดถ้วยลงคอสายตาจับจ้องออกไปยังความว่างเปล่าบนท้องถนนแล้วลุกขึ้น “ผมสาบบาน…พีเทอร์ ถ้าผมเอาพวกมันขึ้นศาลไม่ได้ผมยอมลาออก พวกมันทำลายความสงบของเมืองนี้และนี้เป็นหน้าที่ของผม” เดฟเน้นเสียงหล่อแล้วเดินไปที่รถAsheville PDของเขา ซึ่งจอดอยู่หน้าร้านแล้วบึ่งออกไป

สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ หรือ FBI ได้ออกคำสั่งให้ทำการสืบสวนในทางลับที่ Black Mountain College โดยเปิดเผยมูลเหตุเอกสารในการสืบสวนยื่นต่อ Carolina Public Press ผ่านข้อกฎหมายเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสาธารณะชนสามารถเข้าถึงได้


เอกสารดังกล่าวอธิบายถึงมูลเหตุจูงใจขบวนการและขั้นตอนของปฏิบัติการในการสืบสวนครั้งนั้น ในเอกสารระบุวันที่ 3 เมษายน ปี 1956 Cecil Pate อัยการสูงสุดและองค์การทหารผ่านศึกแห่งเมือง Winston-Salem ได้เรียกประชุมร่วมกับ FBI และหน่วยงานอื่น ๆ


มีรายงานว่าองค์การทหารผ่านศึกได้จัดการและควบคุมปฏิบัติการตรวจสอบ Black Mountain College และได้แสดงความกังวลที่องค์การฯเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการมอบทุนการศึกษา G.I. bill ในลักษณะทุนให้เปล่าประจำปี แก่ Black Mountain College


ในรายงานอ้างว่านักศึกษาที่นี่ไม่เข้าเรียนหรือไม่มีการสอนในห้องเรียนแบบปกติ มีหลักฐานแสดงว่าสถาบันแห่งนี้ไม่มีบันทึกการวัดผลการเรียนของนักศึกษา องค์การทหารผ่านศึกจึงได้ให้คำปรึกษาแก่ FBI เพื่อเข้าสืบสวนลงลึกในรายละเอียดของกิจวัตรประจำวันภายในสถาบันฯ

บรรยากาศการเรียนการสอนที่ Black Mountain College

หลังจากการประชุมเจ้าหน้าที่องค์การทหารผ่านศึก พวกเขาได้ยื่นรายงานสรุปให้คณะกรรมการด้านการศึกษาแห่งรัฐ North Carolina เพื่อถอนใบอนุญาตรวมถึงการยกเลิกงบประมาณที่บริจาคให้แก่สถาบัน


นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 1950 เป็นต้นมา จำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเริ่มลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าในปี ค.ศ. 1956 มีนักศึกษาจำนวน 9 คน จาก 23 คน อยู่ในความดูแลด้านการเงินโดยองค์การทหาร ผ่านศึก (VA)


ขณะที่ทุนรอนในการจัดการศึกษาได้มาถึงจุดเสื่อมโทรม นักศึกษาและทางคณะประกาศขายเปียโน สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อช่วยเยี่ยวยาสภาพคล่องทางการเงินของ Black Mountain College


นักวิเคราะห์หลายฝ่ายต่างลงความเห็นว่าการขยับขององค์การทหารผ่านศึกครั้งนั้นคือหายนะ และมรณ กรรมทางการศึกษา ไม่ใช่เพียงการระงับความช่วยเหลือด้านการเงินแก่สถาบันฯในฐานะผู้มอบทุนสนับ สนุนการศึกษา แต่ในขณะเดียวกัน VA ได้กลายเป็นเจ้าภาพในการจัดการและทำลายความก้าวหน้าทางการศึกษาเสียเอง

นักศึกษาที่นี่ไม่ทำอะไรเลยทั้งวัน …

บันทึกการสอบสวนของ FBI ระบุว่า “การจัดการเรียนการสอนของ Black Mountain College มีลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสถาบันการศึกษาทั่วไปตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่นี่ไม่ทำอะไรเลยทั้งวัน (Do nothing all day) พวกเขาอาจรวมตัวกันที่ทะเลสาบหรือหน้าอาคาร”

Lake Eden, Black Mountain: The Art of Doing Nothing

…บ้างแช่น้ำ อาบแดด เล่นกีต้าร์ บางพวกกระโดดไปมาตามต้นไม้ที่เชิงเขา แต่พอตกดึกในเวลาค่ำมืดนักศึกษาอารมณ์ศิลป์ขึ้นมา และต้องการที่จะวาดรูปหรือเขียนกวีสักบท เขาจะเดินไปเรียกอาจารย์ผู้สอนที่บ้านพักเดี๋ยวนั้นเพื่อให้อาจารย์ผู้สอนให้คำปรึกษาแนะนำได้โดยการส่วนตัว”

บรรยากาศแห่งเสรีนิยมหัวก้าวหน้าของ Black Mountain College ได้ดึงดูดความสนใจใคร่รู้จากสาธารณะชนมากยิ่งขึ้นและนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยที่ว่า Black Mountain College ได้รับการอุปถัมภ์โดยพวกคอมมิวนิสต์ที่ปฏิบัติการแทรกซึมอยู่ในสหรัฐอเมริกาขณะนั้นจริงหรือไม่?

Campus map: The Service House #9, เชิงเขา Rocky Mount ใกล้กับทะเลสาบอีเดน


โปรดติดตามตอน 2

เอกสารอ้างอิง

ส่วนหนึ่งจากบทความ: การสืบสวนสอบสวนของ FBI ที่วิทยาลัยศิลปะ Black Mountain โดย: Carmelo Pampillonio & Chava Krivchen

Leave a Comment