หนังสือฉบับนี้ให้ไว้ เพื่อแสดงว่า…

LONGTRUK: Openlab #6

บทความ โดย ภาอรุณ บรรณาธิการ: ภาอรุณ ชูประเสริฐ x สุพิชญา ขุนชำนิ

บนเส้นทางแห่งการศึกษาเล่าเรียน ถึงเวลาหนึ่ง เมื่อเราเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางตามระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้ เราจะได้รับเอกสารหรือหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องยืนยันแสดงถึงการบรรลุและรับประกันความสำเร็จทางการศึกษา ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือหลักสูตรเนื้อหาวิชาชีพอื่นๆจะเรียกใบนี้ว่า “ประกาศนียบัตร” ส่วนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกนั้นจะเรียกเอกสารนี้ว่า “ปริญญาบัตร” หรือ “Graduation Certificate / Diploma”

Certificate

เอกสารหรือหนังสือสำคัญที่ออกกำกับโดยสถาบันศึกษาเป็น กระดาษ หรือ วัตถุ ที่ระบุชื่อของตัวเรา ข้อความแสดงว่าเราจบการศึกษา พร้อมด้วยลายเซ็นรับรองไว้อย่างเรียบง่าย ทั้งหมดถูกบรรจุอยู่ภายในเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพียงแผ่นเดียวเท่านั้น มันประกอบไปด้วยความหมายและคุณค่าในแบบที่คงอยู่ในตัวเองตลอดเวลา มีขอบเขตของความสำคัญและจุดประสงค์ในตัวมันเอง แต่ทำไมกันเมื่อเราพูดถึงเอกสารใบนี้ เรากลับรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และอำนาจบางอย่างของกระดาษแผ่นนั้นซึ่งบางครั้งอาจมากกว่าเจตจำนงค์ที่มีอยู่ หรือว่าที่จริงแล้วมีสิ่งใดที่ยกระดับความศักดิ์สิทธิ์ให้สิ่งนี้เหนือขึ้นไป ?


ย้อนกลับยังจุดกำเนิดของใบปริญญานี้ขึ้นมา คำว่า Degree และคำว่า Graduation (n.) มาจากรากศัพท์คำว่า Gradus ซึ่งหมายถึง ขั้นตอนหรือ ก้าวย่างที่จะนำไปสู่ขั้นต่อไป เริ่มแรกใบปริญญานั้นมีลักษณะเป็นแผ่นหนังที่ทำขึ้นด้วยหนังแกะบางๆ เขียนด้วยลายมือและผูกด้วยริบบิ้นตามประเพณีของศาสนาอิสลามตั้งแต่ศตวรรษก่อน Glen Cooper ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของ BYU ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า แนวคิดดั้งเดิมของการรับปริญญานั้นมาจากศาสนาอิสลามและเกี่ยวข้องกับการได้รับระดับหรือปริญญาตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้ พิธีในประเพณีของอิสลาม คือ การพิสูจน์ถึงความรู้ที่ผู้เรียนรู้ได้รับอนุญาตให้สอนสิ่งที่ตนเองได้รู้หรือนำไปเผยแพร่ต่อไป จากรูปแบบตั้งต้นนี้ ต่อมาพิธีรับปริญญาบัตรครั้งแรกจึงเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1432 ที่มหาวิทยาลัย Oxford โดยผู้สำเร็จการศึกษาแต่ละคนจะต้องแสดงคำปราศรัยเป็นภาษาละตินอันเป็นส่วนหนึ่งของแบบฝึกหัดวิชาการเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จทางวิชาการ รวมไปถึงบรรยายความรู้สึกของตนเองที่ได้จบการศึกษาเล่าเรียนจากสถาบันแห่งนั้น นับตั้งแต่วันนั้น พิธีรับปริญญาก็ถูกเผยแพร่ไปอย่างแพร่หลาย ทุกวันนี้ผู้สำเร็จการศึกษาไม่จำเป็นต้องแสดงโอวาทอีกต่อไป และในแต่ละประเทศก็มีการนำไปปรับใช้ตามวัฒนธรรมของตนเอง


แต่เดิมพิธีการจบการศึกษาดำเนินโดยถูกจัดเตรียมมาเป็นขั้นเป็นตอนเริ่มมีครั้งแรกในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาหรือหลายประเทศในทวีปยุโรป นักศึกษาสวมชุดครุย ใส่หมวกที่มีพู่ประดับ เดินเรียงกันขึ้นไปบนเวทีของนักศึกษา มีการอ่านสุนทรพจน์ และมอบปริญญาบัตร พิธีเหล่านี้เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สำคัญยิ่งในช่วงชีวิตของการเป็นนักศึกษาเนื่องจาก มันเป็นขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงจากชีวิตการศึกษาไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง ดังนั้น ผู้ปกครอง ญาติมิตรและเพื่อนฝูงก็จะมาเข้าร่วมพิธีรับปริญญาของบุตรหลานตน การแจกใบปริญญามีการประกาศชื่อและวิชาเอกที่จบการศึกษา แจกโดยผู้อำนวยการของสถานศึกษาหรือคณาจารย์ของสถานศึกษานั้นๆ จากนั้นครอบครัวและบัณฑิตใหม่ร่วมกันถ่ายรูป และฉลองความยินดีอย่างเรียบง่ายกับบุตรหลานของตน มันเป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจและมอบความรู้สึกแห่งความสำเร็จให้แก่ทั้งผู้รับและผู้ให้ พิธีจบลงด้วยการที่บัณฑิตโยนหมวกที่เรียกว่า mortaboards ขึ้นไปในอากาศพร้อมกับเพื่อนฝูงเพื่อแสดงความยินดีกับสถานะใหม่ ปิดท้ายด้วยนักศึกษาร่วมกันสังสรรค์ในงานเลี้ยงฉลองและแลกเปลี่ยนของขวัญรับปริญญากัน ช่วงเวลาหลังจากการรับปริญญาจึงเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่น่าประทับใจและน่าจดจำไม่แพ้ช่วงเวลาที่ได้รับใบปริญญาบนเวที

Graduation Ceremony

พิธีรับปริญญาบัตรเริ่มแพร่หลายไปสู่นานาประเทศ ประเทศไทย เป็นหนึ่งประเทศที่รับเอาพิธีรับปริญญาเข้ามา และเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมภายในประเทศ พิธีสำเร็จการศึกษาในประเทศไทยเป็นพิธีกรรมพิเศษซึ่งสถาบันการศึกษาจัดขึ้นเพื่อมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาอย่างเป็นทางการ มีขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2473 เกิดขึ้นครั้งแรกที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพิธีมอบปริญญาบัตร ทางมหาวิทยาลัยจะกราบบังคมทูลเชิญพระมหากษัตริย์เป็นประธานในพิธี ตั้งแต่นั้นจึงเรียกว่า พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในภายหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบันมิได้มีเพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร แต่พระบรมวงศานุวงศ์และอนุวงศ์ ก็เป็นผู้พระราชทานด้วย ในประเทศไทยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจึงเป็นพิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นโอกาสที่จะได้รับเครื่องหมายแห่งความสำเร็จนี้จากพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์โดยตรง ผู้สำเร็จการศึกษาจะสวมใส่ชุดที่มีเกียรติอย่างชุดครุยเพื่อรอผู้แทนของกษัตริย์ โดยปกติแล้วพิธีจะจัดขึ้นหลังจากเรียบจบหลายเดือนเนื่องจากการเข้าเฝ้ากษัตริย์หรือผู้แทนกษัตริย์ต้องได้รับการซักซ้อมและวางแผนล่วงหน้าอย่างเรียบร้อย ในขั้นตอนก่อนเข้าร่วมพิธี บัณฑิตจะต้องขึ้นทะเบียนเพื่อตรวจสอบกำหนดการ เวลา และสถานที่ตามที่มหาวิทยาลัยได้ประกาศไว้ จากนั้นก็ต้องเข้าร่วมพิธีซ้อมทั้งหมด มิเช่นนั้นจะไม่มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมพิธี ในวันซ้อมใหญ่ บัณฑิตต้องแต่งชุดครุยให้สมจริงตามวันรับปริญญา อีกทั้งข้อกำหนดในการแต่งกายและรูปลักษณ์นั้นมีความเข้มงวดมาก เช่น สีผม ชุดที่ใส่ด้านในเครื่องแบบปริญญา รองเท้า ฯลฯ ในวันซ้อมใหญ่จะเป็นวันที่บัณฑิตได้ร่วมถ่ายรูปกับเพื่อน พี่น้อง และญาติมิตรอย่างเต็มที่ จากนั้นในขั้นตอนสุดท้ายหรือในวันจริง ญาติของบัณฑิตจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าหอรับปริญญา ต้องรอรับบัณฑิตตามสถานที่ที่จัดไว้เท่านั้น พิธีจะเริ่มต้นเวลาเช้าตรู่ประมาณ 5 นาฬิกามีการตรวจความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกายและลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมพิธี เมื่อพระมหากษัตริย์หรือผู้แทนเสด็จพระราชดำเนินถึง กล่าวคำปราศรัยเพื่อแสดงความยินดีกับบัณฑิต จากนั้นพิธีมอบปริญญาบัตรจะดำเนินไปจนครบตามจำนวนบัณฑิตที่เข้าร่วมพิธี เมื่อพิธีการจะเสร็จสิ้นประมาณหลังเที่ยง บัณฑิตจึงแยกย้ายไปกับเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องเพื่อถ่ายรูปและฉลองความยินดีร่วมกัน ในการเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร นับว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงตั้งแต่การซักซ้อม ชุดรับปริญญา การแต่งหน้าทำผม การจ้างช่างภาพถ่ายรูปทั้งวันซ้อมและวันรับปริญญาจริง ค่าเดินทางหรือค่าที่พักที่ใกล้กับสถานที่รับปริญญา ทุกอย่างล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งบัณฑิตเองมีสิทธิ์ที่จะเลือกเข้าร่วมพิธีนี้หรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของบัณฑิตและครอบครัว

Thailand Graduation Ceremony

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวพิธีสำเร็จการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ซึ่งสถาบันศึกษาถูกบังคับให้หยุดจัดพิธีอย่างชะงักงัน ส่งผลให้ไม่สามารถประกอบกิจกรรมในสถานศึกษาได้ตามปกติ จึงมีสถาบันที่หาวิธีเชื่อมต่อผ่านเทคโนโลยี โดยใช้หุ่นยนต์ที่ใส่ชุดครุยและหมวกสำหรับพิธีรับปริญญาและแท็บเล็ตพร้อมกับการวิดิโอคอลกับนักศึกษาในช่วงการรับปริญญา นักศึกษาสามารถควบคุมหุ่นยนต์อวตารนี้ได้จากบ้านของตนเอง มันแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ไม่ยึดติดรูปแบบเดิม กล้าที่จะปรับเปลี่ยน นำสิ่งสร้างของยุคอย่างเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์และลดค่าใช้จ่ายพิธีกรรมที่จะเกิดขึ้นแก่นักศึกษา อีกทั้งยังเป็นการมอบประสบการณ์แปลกใหม่ของการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะในขณะที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวได้

iPads attached to ‘newme’ robots stand in for graduating students at a ceremony in graduation gowns and hats in Tokyo, Japan March 28, 2020. BBT UNIVERSITY/Handout via REUTERS

นอกจากนี้ ยังมีการเข้ารับปริญญาในโลกเสมือนจริง (virtual graduation ceremony) ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อาทิ Zoom, Second Life หรือ Minecraft แพลทฟอร์มเหล่านี้ทำให้เห็นความเป็นไปได้ของพิธีรับปริญญาที่หลากหลายและออกจากกรอบมากยิ่งขึ้น เช่น ในแพลทฟอร์มที่เป็นเกมส์อย่าง Second Life เป็นเกมส์ที่มีความใกล้เคียงกับประสบการณ์ชีวิตจริง เสมือนการจำลองชีวิตในอีกมิติหนึ่ง สิ่งที่คุณจะต้องมีในการเข้าถึงพิธีนี้ คือ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่มีการตั้งค่าเครื่องมือ ตำแหน่งต่างๆ และพร้อมสำหรับการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ก่อนอื่นต้องเริ่มจากการสร้างสถานที่หรือค้นหาพื้นที่สำหรับพิธี ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หอประชุมออนไลน์ที่มีการสร้างไว้แล้ว จากนั้นก็เริ่มสร้างสิ่งของที่ต้องใช้ในพิธี เช่น เวที แท่น และที่นั่ง ในพื้นที่นี้ทุกคนต้องสร้างร่างอวตารของตนขึ้นมา มีเครื่องแต่งกายเสมือนจริง เพื่อรับประสบการณ์ทุกอย่างตั้งแต่การกล่าวสุนทรพจน์ การรับประกาศนียบัตร และการเข้าร่วมพิธีกับเพื่อนๆทางออนไลน์ที่มีรูปแบบพิธีเช่นเดียวกับพิธีรับปริญญาในมหาวิทยาลัย การนำแพลทฟอร์มเหล่านี้มาใช้ทำให้นักศึกษารู้สึกถึงการออกจากกรอบพิธีที่จำเจ อีกทั้งยังได้สนุกกับการทดลองทำสิ่งใหม่ที่สามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้ และตอบโจทย์กับนักเรียนที่บ้านอยู่ไกลหรือไม่สะดวกที่จะเดินทางมารับในสถานที่จริง เพียงแต่สิ่งที่คุณต้องมี คือ เทคโนโลยีเพื่อประกอบกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งในหลายๆประเทศเทคโนโลยีเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีสำหรับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารและการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคที่สวัสดิการของรัฐต้องให้การสนับสนุน

The virtual graduation ceremony is the first of its kind in higher education, according to the university

แต่สิ่งเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราในเร็ววันนี้เป็นแน่ ตราบใดที่เทคโนโลยียังไม่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ หากนำวิธีการแก้ปัญหาในลักษณะนี้มาใช้กับประเทศของเรา ความเหลื่อมล้ำก็จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นไปอีก เพราะ สิทธิที่ผู้คนควรจะสามารถเข้าถึงได้นั้นไม่ได้มีทุกคน ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามองย้อนกลับไปยังโครงสร้างของปัญหาที่แท้จริง อันเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำและ สนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีจบการศึกษา คือ ปัญหาของการเข้าถึงการศึกษาที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าอย่างไรการศึกษาที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เท่าเทียมทั่วถึงทุกคนอย่างแท้จริง

ในวาทกรรมหนึ่งซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน อย่าง ‘ใบปริญญาคือเครื่องหมายของความสำเร็จ’(1) จะเห็นได้ว่าความสำเร็จในวาทกรรมนี้ไม่ใช่ความสำเร็จอันได้มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ส่วนตัวแล้วปั้นความสำเร็จนั้นขึ้นด้วยน้ำมือการฝึกฝนด้วยตนเอง (self-practice) แต่การเรียนรู้ใดก็ตามที่จะได้รับการยอมรับว่า เป็น ‘ความสำเร็จ’ จะต้องมีเครื่องหมายอย่างใบปริญญาเข้ามายืนยันเท่านั้น หากคุณไม่มีใบปริญญานั่นก็เท่ากับว่าคุณอาจไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ แม้ว่าคุณจะมีความรู้ที่เพียงพอต่อการประกอบชีพสามารถใช้ชีวิต หาเลี้ยงตนเองและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครได้ก็ตาม อีกวาทกรรมหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากคนบางกลุ่มเพื่อให้มันไปได้ดีกับความคิดของตนอย่าง ‘ปริญญามีหรือไม่มีก็ไม่สำคัญ ขอเพียงประสบความสำเร็จในชีวิตเท่านั้นก็เพียงพอ’(2) วาทกรรมในลักษณะนี้สุดท้ายแล้วไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอันฝังรากลึกในสังคมไทย จริงอยู่ที่คุณสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้โดยไม่มีใบปริญญา แต่ถ้ามองควบคู่ไปกับค่านิยมของคนไทยที่ให้ความสำคัญกับใบปริญญา มีคนซักกี่เปอร์เซ็นต์กันที่สามารถมีชีวิตที่ดีและสุขสบายพร้อมกับหน้าที่การงานที่ดีได้ โดยไม่มีใบปริญญาเป็นใบเบิกทาง? มันมีความเป็นไปได้น้อยหากคุณไม่ได้เป็นอภิสิทธิ์ชน เศรษฐี หรือมีโอกาสในชีวิต ในสังคมไทยใบปริญญาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพื่อเป็นบันไดก้าวไปสู่ที่ๆสูงกว่าที่ตนเองยืนอยู่ เพื่อทางเลือกที่ดีกว่าในชีวิตของตน ดังนั้นจากวาทกรรมสองประโยคที่ยกขึ้นมา จะเห็นได้ว่า วาทกรรม (2) นั้นมีความขัดแย้งกับวาทกรรม (1) ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาวาทกรรม (2) กับความเป็นจริงในสภาพสังคม กลับตอกย้ำและส่งเสริมให้วาทกรรม (1) นั้นดูแข็งแรงและเป็นจริงขึ้นไปอีก

หรือแท้จริงแล้วความสูงส่งอาจไม่เพียงแค่เกิดจากพิธีกรรมที่สร้างขึ้นมาอย่างศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ปริญญาดูสูงค่าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงการที่ใบปริญญาสามารถเข้าถึงได้ยาก หรือทุกคนไม่สามารถเข้าถึงได้ ที่ทำให้ใบปริญญาสูงค่ามากกว่าจุดประสงค์ในตัวมันเอง ถ้าเมื่อใดก็ตามที่การศึกษาหรือการสำเร็จการศึกษานั้นสามารถเข้าถึงทุกคนได้เท่าเทียมกัน เมื่อนั้นใบปริญญาอาจเป็นเพียงวัตถุตัวแทนของการสำเร็จการศึกษา แต่มันอาจจะไม่ได้ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยากเกินจะสัมผัสหรือต้องการอย่างแรงกล้าอีกต่อไป เมื่อทุกคนมีสิทธิและสวัสดิการที่สามารถครอบครองใบปริญญา ได้อย่างเสมอภาคกันนั้นก็จะลดความศักดิ์สิทธิ์หรือความพิเศษในตัวเองลงไปโดยปริยาย

อ้างอิงเอกสารและภาพ

 ·        https://www.youtube.com/watch?v=WkBZbPy7P24
 ·        https://www.theholidayspot.com/graduation/what_is_graduation_day.htm
 ·        https://www.canterbury.ac.nz/study/graduation/history-of-graduation/
 ·        https://universe.byu.edu/2006/04/18/graduation-rites-have-ancient-history
 ·        https://www.weforum.org/agenda/2020/04/robots-japanese-graduation-coronavirus
 ·        https://teens.lovetoknow.com/graduation-ideas/how-hold-virtual-graduation-ceremony
 ·        https://ichef.bbci.co.uk/news/736/cpsprodpb/EDA3/production/_104553806_virtual-grad.jpg
 ·        https://thaiest.com/blog/graduation-ceremony-in-thailand
 ·        https://www.wikiwand.com/th/พิธีสำเร็จการศึกษา 

Leave a Comment