Longtruk Film #6: บทความโดย Thanawat
***มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์***
Wonder Woman 1984
ฉากเปิดเรื่องของหนังเริ่มขึ้นด้วยการแข่งขันไตรกีฑาบนเกาะของนักรบหญิงอเมซอน ไดอาน่าในวัยเด็กคือหนึ่งในผู้เข้าแข่งขัน การแข่งขันเริ่มขึ้น และเธอก็ทำได้ดีในช่วงแรก แต่ด้วยความอ่อนประสบการณ์ ทำให้เธอตกจากม้าพลาดท่ารั้งท้าย เธอจึงใช้ไหวพริบในการโกงกฎการแข่งขัน แต่นั่นไม่อาจรอดจากสายตาผู้อาวุโสไปได้ ไดอาน่าน้อยไม่สามารถเข้าถึงเส้นชัยได้อย่างผู้เข้าแข่งขันคนอื่น และผู้อาวุโสได้บอกกับเธอทำนองว่า
ชัยชนะไม่ใช่สิ่งสำคัญ หากแต่เป็นการธำรงค์ไว้ซึ่งกฏเกณฑ์และความจริง
การแข่งขันกรีฑาเช่นนี้มีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์มนุษย์ นับตั้งแต่กีฬาโอลิมปิกของชาวกรีกโบราณ ตำนานเล่าว่าเป็นการแข่งขันเพื่อบูชาเทพเจ้าบนโอลิมปัส การแข่งขันโอลิมปิกถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อรองทางการเมืองระหว่างนครรัฐโบราณ โดยในระหว่างการแข่งขัน ความขัดแย้งระหว่างนครรัฐที่เข้าร่วมทั้งหมดจะถูกเลื่อนไปจนกว่าการแข่งขันจะเสร็จสิ้น
แม้อาณาจักรกรีกโบราณจะล่มสลายไปหลายพันปีแล้ว แต่โอลิมปิกก็ยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และการแข่งขันกีฬาก็ยังคงเป็นวิธีการมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ทางการทูตสังคมและการเมือง ที่มีพลังเหนือกว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สามารถนําผู้คนมารวมกัน ถึงอย่างนั้นกีฬาก็ใช่ว่าจะสามารถรวมคนให้เป็นหนึ่งเดียวได้เสมอไป เพราะในหลายๆ ครั้งมันก็มีความเป็นการเมืองอยู่ภายในเกมกีฬา (ในปี 1984 เอง มีข้อมูลว่าการบุกรุกอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตก็นําไปสู่การคว่ำบาตรของโอลิมปิกมอสโกในปี 1980 โดยประเทศพันธมิตรตะวันตกเพื่อเป็นการประท้วงการกระทําของรัสเซีย ในโอลิมปิกลอสแองเจลิส ปี 1984) กีฬาหลายชนิดหายไปและเกิดใหม่ตามแต่ช่วงเวลา รูปแบบของกีฬาหลายชนิดถูกดัดแปลงมาจากกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงสงคราม อย่างการพุ่งหลาว, ฟันดาบ, ยิงธนู เพราะกีฬาเป็น metaphor ทางภาษาแบบหนึ่งในรูปแบบของเกม ในคำจำกัดความหนึ่งบอกว่า เกมคือความพยายามโดยสมัครใจที่จะเอาชนะอุปสรรคที่ไม่มีความจำเป็น ในคำจำกัดความนี้ อาจกล่าวได้ว่า โดยตัวมันเองแล้ว เกม/กีฬา ไม่ได้มีเพื่อเป้าประสงค์อะไร แต่ถ้า เกม/กีฬา เป็นรูปแบบหนึ่งทางภาษา ความสำคัญของเกม/กีฬา จึงคือกฏเกณฑ์ภายในเกมนั้นๆ ภาษาให้ความหมายต่อโลก เกมกำหนดกฏเกณฑ์ภายในเกม กฏเกณฑ์ที่เป็น metaphor ของกฏเกณฑ์ทางสังคม
สำหรับกีฬา (อาจรวมไปถึง video game) การรบพุ่งสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการ roleplay ผ่าน metaphor แต่ metaphor ย่อมไม่ใช่ความจริง แต่หากเราคิดถึงประโยคที่นักรบหญิงประจำเผ่าอเมซอนบอกไดอาน่าในวัยเด็กเกี่ยวกับความจริงและการธำรงค์ซึ่งกฏเกณฑ์นั้น คำถามก็คืออะไรมันจะเป็นความจริงบ้างล่ะในโลกศตวรรษที่ 20(มาจนถึง 21) ที่มันเต็มไปด้วยสิ่งที่ถูกปิดหรือซ่อนไว้ และกฏเกณฑ์แบบไหนที่ต้องธำรงค์
หลังจากที่ไดอาน่าโดนสอนเรื่องกฎเกณฑ์และความจริงไปในฉากย้อนอดีตวัยเด็ก หนังก็พาเราเข้าสู่ยุค 1984 ที่ถูกเซ็ตไว้เป็นห้วงเวลาหลักในเนื้อเรื่อง ช่วงเวลาที่คนอเมริกันถูกบอกว่าจะ ‘เป็นอะไรก็ได้’ ด้วยความฝันแบบเสรีนิยมใหม่ แม็กซ์เวลล์ ลอร์ด ขายฝันแก่ผู้คนถึงชีวิตที่มั่งคั่งผ่านการ ‘เป็นคนดังในโทรทัศน์’ แต่แท้จริงแล้วบริษัท Black Gold ของเขากำลังจะล้มละลาย เพราะความจริงเขาไม่ใช่นักธุรกิจอะไรหากแต่ ‘เป็น’ นักต้มตุ๋นแกงหม้อใหญ่ผู้ฝันเฟื่องจะเป็นราชาของโลกทั้งใบ ความหวังสุดท้ายของเขาจึงคือการหวังพึ่งหินวิเศษลึกลับในตำนานที่ขออะไรก็ได้สมดังปรารถนาที่เขาตามหามานานหินวิเศษนั้นอยู่ ‘ข้างหลัง’ ร้านเพชรในห้างที่เปิดไว้บังหน้าธุรกิจมืดค้าขายของเก่า ตอนนี้ไดอาน่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี และเธอก็สงสัยใคร่รู้ในความเป็นของจริงหรือเท็จของหินนี้ เธอจึงลองขอพรเล่นๆ กับหินดู (เป็นคนแรกๆ ในเหตุการณ์!)
ตามตำนานกรีกเล่าว่าความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องที่ถูกห้ามนั้นอยู่ในตัวมนุษย์นับตั้งแต่ที่แพนโดราถูกซูสใส่ความอยากรู้อยากเห็นลงไปในตัวเธอพร้อมกับมอบกล่องแพนโดราซึ่งกำชับไม่ให้นางเปิดดู แล้วส่งนางลงไปมีชีวิตกำเนิดบุตรหลานส่งต่อความอยากรู้อยากเห็นบนโลกมนุษย์ แต่แน่นอนว่ายิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ท้ายที่สุดนางจึงเปิดออก และหายนะก็มาสู่มนุษย์
หากเมื่อก่อนโลกอยู่ได้ด้วยปริศนาของศาสนาไสยศาสตร์มนตรา รัฐสมัยใหม่ก็อยู่ได้ด้วยความลับ ฟูโกต์เคยยกสิ่งที่โรซา ลุคเซิมบวร์ค พูดถึงการปกปิดความจริงของรัฐที่เชื่อว่าถ้าประชาชนรู้ความจริงเกี่ยวกับการปกครองของรัฐและระบบทุนนิยม ระบบทุนนิยมจะอยู่ไปได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ ถ้าประชาชนรู้ความจริง การปฏิวัติก็จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการปกครองจึงจำเป็นที่จะต้องปกปิดความจริง เมื่อปกปิด ก็จำเป็นที่จะต้องมีสายลับจารชน
ผู้สร้างตัวละคร Wonder Woman (William Moulton Marston) นั้น นอกจากจะเป็นผู้ให้กำเนิดตัวละครนี้แล้ว ยังเป็นนักจิตวิทยาอีกด้วย เขาคือผู้คิดค้นเครื่องจับเท็จ(polygraph) ขึ้นมา และบ่วงบาศแห่งความจริงนั้นเป็นเครื่องมือที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องจับเท็จด้วยการตรวจความดันโลหิต ใน comic บ่วงบาศนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันได้ผลมากกว่าเครื่องจับเท็จ – แม้ว่ามันจะเป็นการบังคับให้พูดความจริงก็ตาม และแน่นอนว่านอกจากทางด้านการแพทย์แล้ว มันยังถูกใช้ในงานสายลับอีกด้วย
ความลับของเสรีนิยมใหม่คือมันทำงานราวกับว่าอำนาจควบคุมของรัฐได้ปลาสนาการไปจากความรับรู้ของผู้คนเหลือแต่เพียงคิดทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ผ่านความสามารถของปัจเจกบุคคลที่พร้อมจะเป็นผู้ประกอบการและผู้กระทำในทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นความจริงแท้ในชีวิตทางสังคมของทศวรรษ 80 ในบรรยากาศของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ ที่ซึ่งทุกอย่างดำรงอยู่ราวกับว่ามันเป็นความจริง แต่กลับซุกซ่อนความลับเบื้องหลังไว้มากมายอย่างกับหนังสายลับ เพราะไม่ได้มีแต่บ่วงบาศที่ทำงานไม่ต่างจากเครื่องจับเท็จเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงร้านเพชรในห้างที่ข้างหลังเป็นร้านขายของเถื่อน, วายร้ายที่ไม่ได้เป็นเศรษฐีแต่เป็นนักต้มตุ๋น, เครื่องบินล่องหนที่ก็คงไม่ต่างจากโดรนสอดแนมของรัฐบาล โครงการลับของรัฐบาลอย่างโครงการ star wars กับดาวเทียมของรัฐบาลสหรัฐที่จะยิงสัญญาณถ่ายทอดสดตอนไหนก็ได้ หรือแม้แต่การอยู่อย่างปกปิดตนเองจากการเป็นวันเดอร์วูแมนของไดอาน่า
งานทางปรัชญาการเมืองมักพูดถึงทฤษฎีการกำเนิดรัฐ (origin of the state) ด้วยการแบ่งแยกโลกมนุษย์-ธรรมชาติ อย่างชัดเจน สำหรับโทมัส ฮอบส์ การมีรัฐคือหลักประกันในชีวิตจากสภาวะธรรมชาติที่ป่าเถื่อนและโหดร้าย สำหรับอริสโตเติล บอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมือง (homo politicus) ผ่านการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ด้วยการสร้างความเป็นการเมือง ขณะที่สัตว์อื่น ๆ อาจจะส่งเสียงได้ แต่ไม่อาจพูดได้อย่างมีเหตุผล (logos) แบบมนุษย์ ถึงอย่างนั้นก็ตาม การใช้เหตุผลยังต้องเกิดจากการฝึกฝน ส่วนความโลภและความปรารถนานั้นก็ไม่เคยหายไปไหนและพร้อมจะปรากฏออกมาได้ทุกเมื่อ อริสโตเติลเคยกล่าวไว้ทำนองว่า “โดยธรรมชาติแล้ว ความโลภเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขต… และมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตเพื่อตอบสนองความปรารถนาของตนเอง” ฉะนั้นแล้ว สำหรับอริสโตเติล แม้ว่ามนุษย์จะเป็นสัตว์สังคม แต่โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ก็ไม่สามารถจะแยกขาดจากสัญชาตญาณทางธรรมชาติได้ รัฐและความเป็นการเมืองจึงมีหน้าที่กำหนดไม่ให้มนุษย์ถลำไปกับความปรารถนาตามสัญชาตญาณและคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนมากจนเกินไป ไม่เช่นนั้นสังคมการเมืองก็จะแตกสลาย ถึงอย่างนั้นการไร้การปกครองและเป็นอิสระจากรัฐก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาอยู่ตลอดมา
ในหนัง ความไร้ระเบียบของโลกถูกแสดงออกมาผ่านการกลายสภาพเป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ในร่างกึ่งเสือชีตาร์ ซึ่งเป็นภาพแทนทางกายภาพของสภาวะไร้รัฐ ส่วนสังคมที่โกลาหลจากการที่ทุกคนสามารถขออะไรก็ได้ก็กลายเป็นภาพแทนของการเมืองที่พังทลายเมื่อไร้รัฐ ในหนังแสดงภาพสังคมที่ความปรารถนาได้ถูกเปิดออกมานั้นมันน่ากลัวกว่าสังคมที่ทุกอย่างถูกเก็บซ่อนเป็นความลับเป็นไหนๆ
ในทางหนึ่งมันแสดงให้เห็นว่าสภาวะไร้รัฐนั้นน่ากลัวเพียงใด ถึงอย่างนั้นก็ตาม ‘การใช้เหตุผลต้องการการฝึกฝน’ แบบอริสโตเติลพูดถึง ไม่ต่างอะไรจากการบงการร่างกายในระดับจุลภาคหรือชีวการเมืองด้วยการควบคุมปกครองตนเอง(self govern) หรือ govermentality ในคำของฟูโกต์ ที่ไม่ได้จำกัดการปกครองไว้อยู่แค่ที่กฎหมายหรือรัฐ แต่ยังหมายถึงการปกครองตนเอง ซึ่งสำหรับเขาคำนี้ก่อตัวและดำรงอยู่มาโดยตลอดผ่านเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองตะวันตก และมีนัยคล้ายคริสต์ศาสนาที่ปกครองไปถึงระดับจิตวิญญาณ(นี่น่าสนใจว่าตัวร้าย ‘ที่แท้จริง’ ในหนัง Wonder Woman ทั้งสองภาค ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นเทพเจ้า นี่คล้ายคลึงกันกับความคิดเรื่องถูกทดสอบจากพระเจ้าในศาสนาตะวันตก) เสรีนิยมใหม่ในปลายศตวรรษที่ 20 ทำให้นิยามของสัตว์การเมืองค่อยๆ เสื่อมพลังไป(ที่จริงมันก็เสื่อมพลังก่อนหน้านั้นไปนานมากแล้ว) และแทนที่ด้วยการเป็นมนุษย์เศรษฐกิจ (homo economicus) ที่คำนวณทุกอย่างผ่านการแลกเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์ พลังอำนาจทางการเมืองได้เข้าไปอยู่ในร่างกายจนดูราวกับว่ามันหายไป และเรากลายเป็น ‘ผู้เล่น’ หนึ่งในสนามเกมการแข่งขัน นัยนี้ เราจึงสามารถมองชีตาร์ได้มากกว่าแค่การเป็นภาพแทนทางกายภาพของมนุษย์ในสภาวะธรรมชาติที่ไร้รัฐ หากแต่ถูกการปกครองในระดับชีวญาณทำให้กลายเป็นผู้ล่าที่รวดเร็วและแข็งแกร่งบนจุดสูงสุดของระบบ ได้เช่นกัน
ในตอนจบไม่ได้ต่างจากหนังฮีโร่เรื่องอื่นๆ นัก ก็คือทุกอย่างได้กลับไปเป็นเช่นเดิมผ่านการถอนคำสาป มายาภาพปลาสนาการหายไป และโลกกลับมาเป็นเช่นเดิม ดำรงอยู่ในกฏแบบเดิม การเมืองแบบเดิม ราวกับว่าทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว ซึ่งหากคิดว่าถ้ามันดีอยู่แล้ว ก็คงไม่มีการขออะไรตั้งแต่แรกหรอกกระมัง? หินจึงไม่ใช่การให้ในมายาภาพเสียทีเดียว แต่มันกำลังปลดปล่อยความจริงที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้ความปรารถนาออกมาด้วยว่าคนในสังคมคิดอะไรแบบไหน จากที่รัฐจะอยู่ได้ด้วยการปิด ความลับของรัฐก็ถูกเปิดออกมาทุกสิ่งอย่าง ฉากของนิวเคลียที่เพิ่มจำนวนตามความปรารถนาของผู้นำเป็นฉากที่ชัดเจนดี
และนี่อาจเป็นกฏเกณฑ์และความจริงที่ไดอาน่าตั้งพิทักษ์ไว้
*********************************************
ส่วนตัวผู้เขียนแล้วสนุกกับหนังมากและชอบมันกว่าที่คิด แต่น่าเสียดายที่ตอนท้ายๆ มันดูเป็นหนังรณรงค์และโฆษณาไทยประกันชีวิตไปหน่อย (ตอนพ่อลูกกอดกันนี่เหมือนโฆษณาพ่อโกหกหนูมากๆๆ)