บางกอกหลอกชั้น [Exhibition review] Part.2

LONGTRUK: Openlab #8

LONGTRUK: Openlab #8

[Interdisciplinary art]

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย

บางกอกหลอกชั้น

ราว 5,000 ปีที่แล้วจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 10 ช่วงต้นของอาณาจักรทวารวดีเริ่มขึ้นในแถบลุ่มน้ำภาคกลาง ตามบันทึกของหลวงจีนจี้ชิงที่เรียกอาณาจักรแถบนั้นว่าโต-โล-โป-ตี้ ในเวลานั้น กรุงเทพฯ ยังจมอยู่ใต้ทะเลโคลนตม โดยบางแห่งได้เริ่มแข็งตัวเป็นผืนแผ่นดินมากขึ้น มีป่าชายเลนไม้โกงกาง และเกิดแม่น้ำลำคลองน้อยใหญ่หลายสาขา เป็นเส้นทางคมนาคมออกสู่ทะเลอ่าวไทยขยายขึ้นเรื่อยๆ

ภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ ที่มา: http://paipibat.com/?p=3493

บางแห่งเป็นที่ดอนสูง มีผู้คนตั้งหลักแหล่งประปรายเป็นหย่อมๆ ห่างไกลกัน นักโบราณคดีได้ขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยหินและโลหะตกค้างฝังดินและจมโคลนตมอยู่บ้าง แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีผู้คนยุคดึกดำบรรพ์เดินทางผ่านไปมาบ้างแล้ว [16]

ภูมิ-จินตนา, อวิกา สมัครสมาน, ทอผ้า 297×420/ 420×594 cm.,

ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 15 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ขึ้นขนานใหญ่ บ้านเมืองและรัฐรุ่นใหม่เติบโตขึ้นโดยรอบอ่าวไทย เช่น อโยธยาศรีรามเทพนคร พื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นทางน้ำกว้างใหญ่ไหลคดเคี้ยวเป็นรูปโค้งเกือกม้า (oxbow lake) ผ่านกรุงเทพฯ [17] ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในฐานะเมืองทางผ่านและเป็นหน้าด่านสำคัญจวบจนเมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ชุมชนบ้านเรือนเก่าแก่ที่สุดในบริเวณนี้ปรากฏชื่ออยู่ในโคลงกำสรวลสมุทรหรือกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมเก่าแก่มาแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา

Cartography of Bangkok 1688-

เมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯในปัจจุบัน เดิมทีหมายรวมดินแดนทั้งสองฟากแม่น้ำ (เจ้าพระยา) มิได้แยกเป็นฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี พื้นที่บริเวณนี้ปรากฏเป็นชุมชนบ้านเรือนขนาดย่อมที่มีความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำมาแต่อดีต เป็นจุดพักเรือนานาประเทศ

Something Like a Thing, Sometime Like Every Time, อนุพงศ์ เจริญมิตร, วีดิโอจัดวาง, สี, เสียง, วน

ผู้คนเคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น จนเติบโตเป็นชุมชนเมืองขึ้นตามลำดับหลังการขุดคลองลัดบางกอก[18] สำเร็จในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2077-2089) ยังผลให้การค้าขายเติบโตมั่งคั่ง บรรดาพ่อค้าจากตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น จาม ชวา มาลายู และตะวันตก เช่น อินเดีย อาหรับ เปอร์เชีย อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส ฯลฯ

Bangkok Layer exhibition over view, photo by Anupong Charoenmitr

ต่างก็เดินทางเข้ามายังบางกอกและผ่านขึ้นเหนือสู่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ครั้นสมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111) บางกอกก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมือง ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับกรุงหงสาวดีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2112 [19]


เมืองบางกอกยังปรากฏบันทึกคำบอกเล่าในหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 (Chronicles of the Ayuthian Dynasty: Jeremias van Vliet, ผู้จัดการสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างปี พ.ศ. 2176-2199)

Jeremias van Vliet (1602–1663)

ปรากฏชื่อเมืองสำคัญตามความในพงศวดารฯตำนานเรื่องท้าวอู่ทองผู้สร้างเมืองต่างๆ เช่นเมืองลังกาสุกะ (Langhseca) เมืองสีคร (Lijgoor) เมืองกุย (Cuij) เมืองพริบพรี (Piprij) เมืองคองขุนเทียน (Chongh Cout Thiam) เมืองบางกอก (Banckocq) และเมืองอยุธยา (Ayuthian)


จะเห็นได้ว่าบางกอกมีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ เป็นเมืองท่าหน้าด่านเข้าออกและเป็นสถานที่สำคัญที่สุดแห่งเดียวในราชอาณาจักรสยามที่มีป้อมปราการแข็งแรงป้องกันข้าศึกได้ ตามบันทึกจดหมายเหตุของราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสนิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise, 1663-1729)

เอกสารจากยุโรปหลายชิ้นเรียกป้อมปราการทั้ง 2 ฟากแม่น้ำนี้ว่า “ป้อมเมืองบางกอก” ในบันทึกของฟอร์บัง[20] กล่าวว่าที่ป้อมบางกอกทั้งสองฝั่งมีโซ่เหล็กขึงไว้ระหว่างป้อม เพื่อกันมิให้เรือใหญ่ผ่านไปมาได้ถ้าไม่ขออนุญาตเจ้าเมืองเสียก่อน [21]

กบฏมักกะสัน โดยสุพจน์ คุณานุคุณ, หนังสือการ์ตูน, 13x19cm. 1,000 เล่มๆละ 1 บาท

ครั้งเมืองกรุงเทพฯได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 โดยปฐมบรมราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาราชธานีแห่งนี้ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา


จากนั้นในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมืองที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งโปรดเกล้าฯให้รื้อถอนป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกเสีย พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายชุมชนการค้าของชาวจีนและญวนในบริเวณนั้นให้ร่นไปอยู่ที่สำเพ็ง นางเลิ้งและท่าเตียน

บางกอกฝั่งตะวันออก สมัยต้นรัตนโกสินทร์

เพื่อก่อสร้างพระบรมมหาราชวังตลอดจนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพระนครและพระมหาปราสาทราชนิเวศน์สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2328 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี แล้วพระราชทานนามพระนครใหม่นี้ว่า


กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์


นามพระนครที่ปรากฏในเอกสารหลายฉบับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า กรุงเทพฯมีบรรพบุรุษเป็นทวาราวดีและศรีอยุธยาตามคติรามายณะ[22] ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนสร้อย “บวรทวารวดีศรีอยุธยา” เป็นอมรรัตนโกสินทร์

บางกอก, ราชันย์ กล่อมเกลี้ยง, พ่นพนัง, 10 x4 m.


จะเห็นได้ว่านามเมืองกรุงเทพฯนั้นหมายความถึงเมืองที่ท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้ เป็นเนรมิตกรรมอันยิ่งใหญ่เหนือความยิ่งใหญ่ทั้งปวง เป็นพระนครซึ่งเปรียบได้กับนครเทพวิมานของเหล่าทวยเทพ และเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครแห่งถวยเทพซึ่งมีความงดงามอันมั่นคงเจริญยิ่งและไม่มีผู้ใดรบชนะได้ มีความบริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่น รมย์อย่างยิ่ง และมีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมาสถิตสถาพร

หากลองพิจารณาภาพตัวแทนทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ในฐานะสิ่งที่ถูกผลิตสร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเชิงนิรุกติศาสตร์ ภาพตัวแทนทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ช่วยให้เราทำความเข้าใจกรุงเทพฯได้อย่างไร? หนังสือบูรพานิยม (Orientalism, 1978) ของเอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said, ค.ศ. 1935-2003) อธิบายอ้างอิงและสร้างความเข้าใจถึงแนวคิดเรื่องจิตนาการทางภูมิรัฐศาสตร์

Bangkok Layer exhibition over view, photo by Anupong Charoenmitr

เนื่องจากสถานที่หรือเทศะของเมืองอย่างกรุงเทพฯ นั้นเคยและยังคงถูกจินตนาการไปพร้อมๆกับการเป็นภาพตัวแทนในงานศิลปะไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรม เพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางของรัฐที่กำหนดทิศทางและนโยบายประเทศ ส่งผลให้จินตภาพแนวคิดและประสบการณ์ของปัจเจกที่เห็นต่างกลายเป็นปฏิปักษ์ ในมุมมองแบบศูนย์กลางที่พรรณนาถึงเมืองซึ่งมีความเป็นนิยัตินิยมทางสิ่งแวดล้อม (environmental determinism) และแนวโน้มของเมืองที่มีตัวแสดงและปัจจัยบางอย่างที่มีอิทธิพลมากเกินไป [23]


เมื่อการผลิตซ้ำจินตนาการทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองหลวงในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ แม้ในชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล หรือแม้แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะที่มหาชนให้ความสนใจ การเปิดเผยสถาปัตยกรรมเชิงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์อาจช่วยให้เรามองกรุงเทพฯ เมืองศูนย์กลางมหานครแห่งนี้ได้อย่างกว้างขว้างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไม่น้อย

ประวัติศาสตร์หมายความ…, เซบาสเตียน ทายัค, บางกอกหลอกชั้นวารสาร ฉบับที่ 1/1 เมษายน, วีดิโอ, สี, เสียง, วน

อีกทั้งยังทำให้สิ่งที่เป็น ”สามัญสำนึก” ซึ่งเราคุ้นชินจนบางครั้งอาจทึกทักเอาว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ คล้ายกับเป็นธรรมชาติที่เชื่องชาว่าง่าย แต่สิ่งเหล่านี้อาจกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เรื่องธรรมดาที่ดูสามัญอาจกลายเป็นสิ่งที่น่าค้นหาไม่เพียงแค่ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบเท่านั้น


การตีความและการสร้างความหมายใหม่ด้วยกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะชุดความจริงชุดหนึ่งที่นำมาใช้คลี่คลายชั้นตะกอนที่ทับถมกันกลายเป็นมหานครกรุงเทพฯที่เราคุ้นตาแต่ไม่คุ้นเคย เนื่องจากเทศะเชิงประวัติศาสตร์ของมหานครแห่งนี้ซึ่งได้ถูกทำลายไปครั้งแล้วครั้งเล่า


การเรียนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนคือพื้นฐานที่เป็นบัญญัติหวงห้ามมิให้ผู้ใดรื้อถอน หรือแม้แต่การตั้งคำถามก็ดูเป็นสิ่งไม่สมควรและเป็นการลบหลู่บรรพบุรุษที่สร้างชาติโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงของชุมชนจินตกรรมตามทัศนะของ เบน แอนเดอร์สัน หลายครั้งอาจเลยเถิดไปว่าเป็นพวกชังชาติสำหรับพวกคลั่งชาติไปเลยก็มี

ภาพซ้าย ผู้ว่าการเมืองบางกอก Chevalier de Forbin (1656 – 1733) วราวุธ ศรีโสภาค 1685–1688, สีน้ำมัน, 70×60 cm. ภาพขวา Portrait of Claude de Forbin by Antoine Graincourt, 18th century

ลองขบกันคิดอีกครั้งว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกรุงเทพมหานครฯ ในปัจจุบันหากการปฏิวัติยึดอำนาจในปี คศ. 1688 ไม่เป็นผลสำเร็จและป้อมบางกอกสร้างเสร็จเปิดใช้งานตามวัตถุประสงค์ของมัน? เป็นไปได้ว่าป้อมแห่งนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาพื้นที่บางกอกฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลายเป็นพื้นที่ที่สำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์ พื้นที่เชิงเศรษฐกิจการค้าระดับนานาชาติทดแทนกรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้


เพราะ [การไม่รู้ประวัติศาสตร์เท่ากับคุณตาบอดหนึ่งข้าง แต่การเชื่อประวัติศาสตร์อย่างไม่มีข้อกังขาเท่ากับคุณตาบอดทั้งสองข้าง] ตามที่อาจารย์ ญาณวิทย์ เกษตรศิริ กล่าว คุณว่าไหม?

ชีว-พจนานุกรม, หงจัง หลิน (PhD.), ระบายสีบนพนัง, ขนาดผันแปรตามพื้นที่, พจนานุกรมไทย-อังกฤษ, 420×297 cm.

เอกสารอ้างอิง

 16 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน? (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2548), 17.
 17 เรื่องเดียวกัน, 18.
 18 ในหนังสือเรื่องเก่าเล่าปัจจุบัน โดย โรม บุนนาค ระบุพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ปีมะโรง จุลศักราช 884 (พ.ศ. 2065) สมเด็จพระชัยราชาธิราช โปรดให้ขุดคลองลัดบางกอก จากปากคลองบางกอกน้อยเวลานี้ ไปทะลุตรงปากคลองบางกอกใหญ่ คลองลัดบางกอกถูกน้ำกัดเซาะค่อยๆ ใหญ่ขึ้นๆ... ดูรายละเอียดที่: https://www.thairath.co.th/content/124803
 19 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 41.
 20 เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารเรือชาวฝรั่งเศส เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2228 พร้อมกับคณะราชทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงแต่งตั้งเป็นราชทูตมาเจริญพระราชไมตรีกับพระนารายณ์มหาราช ฟอร์บัง ได้สมัครอยู่รับราชการเป็นผู้สร้างป้อมบางกอกและฝึกหัดทหารไทยตามยุทธวินัยฝรั่งเศส พระนารายณ์มหาราชได้ทรงตั้งให้เป็นนายพลผู้บัญชาการทัพเรือและทัพบก และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ออกพระศึกสงคราม ดูรายละเอียดใน: หม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล, ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 50 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 80) จดหมายเหตุฟอร์บัง (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2513), 5.
 21 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 50.
 22 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 122.
 23 จิตติภัทร พูนขำ แปล, ภูมิรัฐศาสตร์: ความรู้ฉบับพกพา, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560), 32. 

Leave a Comment