ผญลตกปช : วัฒนธรรม/ลูกทุ่ง/การเมืองไทย

  • Longtruk Sound #01
  • บทความเรียบเรียงโดย : ผิว มีมาลัย
  • บรรณาธิการ : ภาอรุณ ชูประเสริฐ, สุพิชญา ขุนชำนิ

เพลง : ผู้ใหญ่ลี

  • ขับร้อง : ศักดิ์ศรี ศรีอักษร
  • เนื้อร้อง : ครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ (อิง ชาวอีสาน)
  • ทำนองดัดแปลงมาจาก : รำโทน

อำนาจและนโยบายของภาครัฐดูเป็นเรื่องขบขันในสายตาชาวบ้านอย่างเราๆเสมอ อาจเป็นไปได้ที่รัฐไม่เคยสนใจว่าชาวบ้านต้องการอะไร เพราะรัฐไทยไม่เคยยึดโยงตนเองเข้ากับประชาชนซึ่งมีฐานะเป็นนายจ้างของพวกเขา ไม่ว่าจะออกคำสั่งให้ผู้ใหญ่ลีจะตีกลองสักกี่ครั้งเราก็ไม่เคยไว้เนื้อเชื่อใจรัฐได้เลย

ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ CTR 547, Crown Records (18) – CTR 547 Format: Vinyl, LP, Album


ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (2480- 2548) เธอเป็นสาวอีสานคนแรกที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการลูกทุ่ง เกิดขึ้นเมื่อครูพิพัฒน์คิดแต่งเพลงผู้ใหญ่ลีให้เธอร้องบนเวทีเพื่อเล่นกับตลกสี่สี ได้แก่สีเผือก สีสุริยา สี หมึก สีเทพ (เทพ เทียนชัย 2480- 2537)


ศักดิ์ศรี ศรีอักษร จบการศึกษาประกาศนียบัตร ปก.ศ.ต้นจากอุบลราชธานี หลังจากนั้นได้เดิมทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครูอนุบาลอยู่พักหนึ่งเมื่อได้ข่าวมีการประกาศรับสมัครนักร้องของครูไพบูลย์ บุตรขัน เพื่อคัดเลือกให้บันทึกแผ่นเสียง เธอจึงไปสมัครและโชว์การร้องเพลง ร้องหมอลำ และการฟ้อนเพื่อเอาชนะใจครู และได้บันทึกเสียงในที่สุด

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (2480- 2548)

ในทศวรรษที่ 1960 ผู้ใหญ่ลี (2504) หนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ และมีเพลงที่แตกออกไปหรือนำมาทำใหม่อีกหลายครั้ง เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการแสดงหมอลำในจังหวัดอุบลราชธานี เนื้อหาเกี่ยวกับต้นแบบของรัฐไทยและระบบราชการในท้องถิ่นอีสาน ซึ่งไม่คุ้นเคยกับภาษาไทยกลาง และมักจะสับสนกับคำสั่งต่างๆ ของรัฐบาล


ที่สำคัญเนื้อร้องยังสะท้อนความผิดพลาดในการสื่อสาร ตลอดจนความเข้าใจที่ต่างกันระหว่าง อำนาจรัฐ ผู้นำชุมชน และ ชาวบ้าน อย่างลึกซึ้ง ยอกย้อนและงดงาม อีกทั้งยังสะท้อนความผิดพลาดในการบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้มุมมองของภาครัฐที่มีต่อประชาชนในภาคอีสานอย่างมีนัยสำคัญ


ภาพตัวแทนรัฐตามแบบต้นฉบับ(stereotype) ถูกนำเสนอเชิงส่อเสียดในรูปลักษณ์ผิดที่ผิดทางและอุปลักษณ์สิ่งต่างๆข้ามมาบรรจบกันเชิงอ้วนกลมไร้คอหล่อและดำ ในท่อนที่ว่า “คอกลมเหมือนดั่งคอช้าง เอวบางเหมือนยางรถยนต์ รูปหล่อเหมือนตอไฟลน หน้ามนเหมือนเขียงน้อยซอยซา” ในท่อนสุดท้ายนั้นเป็นภาษาอีสาน เสียงตัว ช.ช้าง จะออกเสียงเป็นซ.โซ่ เวลาเขียนเลยเขียนเป็น ซ.โซ่ ไป “เขียงน้อย” คือเขียงขนาดเล็กใช้สำหรับซอยกัญชา ในประเด็นนี้ตัวบทคำร้องไม่น่าจะหมายถึงหน้าเหมือนเขียงกัญชา ด้วยอุปมาใบหน้ากับรูปทรงสัณฐานที่กลม แบน มีรอยบุ๋มกลางเขียง แต่น่าจะเป็นภาพตัวแทนภาครัฐสายขำๆ ควันๆ


สาระสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเพลง “สาระสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเพลง “ผู้ใหญ่ลี” ไม่ใช่เพียงถ้อยคำเสียดสีแบบหยิกแกมหยอกเท่านั้น หากเป็น “” ไม่ใช่เพียงถ้อยคำเสียดสีแบบหยิกแกมหยอกเท่านั้น หากเป็น “ภูมิปัญญาของครูพิพัฒน์” ที่มีความฉลาดล้ำลึก สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสาน สะท้อนความรู้สึกนึกคิด อุปนิสัย สะท้อนการพัฒนาชนบทที่ล้มเหลวของรัฐ และกลไกอำนาจที่ดูน่าขันแต่ไม่ขันของภาครัฐ


เจมส์ ลีโอนาร์ด มิตเชลล์ (James Leonard Mitchell) กล่าวไว้ในงานวิจัยของเขาว่า วัฒนธรรมอีสานค่อนข้างเฟื่องฟูมากหากแต่รัฐบาลตั้งแต่ช่วงปี 2500 เป็นต้นมามีแนวโน้มปราบปรามวัฒนธรรมอีสานในหลายรูปแบบ เช่น กีดกันไม่ให้มีการใช้ภาษาอีสานในโรงเรียนต่างๆ ทั้งในรูปแบบการพูดและการเขียน ซึ่งยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน รวมถึงก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 3/2845 ให้เปลี่ยนคำเรียกไท-ลาว เป็น ไทยอีสาน ในคราวเดียวกันกับคำว่าไท-มาลายู ให้เปลี่ยนการเรียกเสียใหม่ว่า ไทยมุสลิม


เพื่อปรับความสัมพันธ์ภายในสังคมผ่านการสร้างจินตนากรรมทางสังคม ที่ก่อกำเนิดและขยายแนวคิดชาตินิยมขึ้นมา หรือที่ เบน แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson 1936- 2015) เรียกว่า ชุมชนจินตกรรม คำว่าอีสานในฐานะประดิษฐกรรมของรัฐไทยจึงไม่ใช่พื้นที่ทางกายภาพ หากเป็นพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ในจินตนาการเท่านั้น ในเวลาเดียวกันมันได้ทำการลบข้อมูลหรือสำนึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของภูมิภาคและชาติพันธ์ุไท-ลาวอีกด้วย


ส่วนอีสานในมุมมองนักมานุษยวิทยาอย่าง ชาร์ลส์ เอฟ คายส์(Charles Keyes 1937-) มันคือ ภาพสะท้อนถึงการดำรงอยู่ของความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐไทยและอีสาน แนวคิดทางรัฐศาสตร์การเมืองปกครองในสไตล์โคโลเนียลของรัฐไทยจึงไม่อนุญาตให้คนกลุ่มชาติพันธ์ุไท-ลาวเรียกตนเองว่า ลาว ในฐานะกลุ่มชาติพันธ์ุและพื้นที่ ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้คนกลุ่มชาติพันธ์ุนี้เรียกตนเองว่าเป็นคนชาติพันธ์ุไทยทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ

ภาพอุปมาในตัวบทเพลงซึ่งนำเสนอความเปราะบางในเชิงโครงสร้างของรัฐ และห่วงโซ่อำนาจที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด ด้วยมุมมองที่ย้อนกลับแบบไม่เป็นโล้เป็นพายของผู้ใหญ่ลีตัวแทนภาครัฐที่ไม่สามารถสื่อสารไขข้อสงสัยหรือแม้แต่สร้างความเข้าใจให้แก่ชาวอีสาน อย่างขบเขี้ยวและแสบสัน นับประสาอะไรกับสุกรและหมาน้อยแตกต่างกันอย่างไรรัฐยังไม่สามารถอธิบายได้ “ไม่รู้ ไม่มีข้อมูล” อะไรจะขนาดนั้น

  • เพลง ผู้ใหญ่ลี
  • ขับร้อง ศักดิ์ศรี ศรีอักษร
  • เนื้อร้อง ครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ (อิง ชาวอีสาน)
  • ทำนองดัดแปลงมาจาก รำโทน
 
 พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
 ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี
 ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว
 ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา
 ทางการเขาสั่งมาว่า
 ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร
 ฝ่ายตาสีหัวคลอนถามว่าสุกรนั้นคืออะไร
 ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด
 สุกรนั้นไซร้คือหมาน่อยธรรมดา
 หมาน่อย หมาน่อยธรรมดา
 สายัณห์ตะวันร้อนฉี่
 ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจ้อน
 แดดฮ้อนฮ้อนใส่แว่นตาดำ
 ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกฮำ
 ถอดแว่นตาดำฟ้าแจ้งจางปาง
 ฟ้าแจ้งฟ้าแจ้งจางปาง
 คอกลมเหมือนดั่งคอช้าง
 เอวบางเหมือนยางรถยนต์
 รูปหล่อเหมือนตอไฟลน
 หน้ามนเหมือนเขียงน้อยซอยซา
 เขียงน่อยเขียงน่อยซอยซา
 เขียงน่อยเขียงน่อยซอยซา 

เอกสารอ้างอิง

  1. https://www.bangkokpost.com/life/arts-and-entertainment/700840/from-the-field-to-the-protest
  2. https://www.isangate.com/new/15-art-culture/artist/468-saksri-sri-akson.html
  3. http://oknation.nationtv.tv/blog/komchadluek/2013/01/23/entry-1

Leave a Comment