สังคมอิหร่านในโลกภาพยนตร์ : WHERE IS THE FRIEND’S HOME?

Longtruk Film #2: บทความโดย Prague Doctor

(บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์)

Chapter: I

ประตูที่ปิดอยู่ แต่ดูไม่ได้ปิดสนิท เสียงเด็กเล็ดลอดออกมาพูดคุยกันออกรส นี่คงเป็นห้องเรียนที่ไหนสักแห่ง ไม่นานนักเงาก็ปรากฏทาบทับบานประตู คุณครูเข้ามาในห้อง ครูปิดประตูแต่ต้องปิดซ้ำเพราะมันเปิดออกเองอีก ครูปิดหน้าต่าง เขาเอ็ดเด็กทุกคน ทำไมถึงเสียงดัง ถ้าครูมาช้าเพราะครูติดธุระทุกคนต้องทำตัวดีดี มีเด็กแจ้งว่ามีเพื่อนคนหนึ่งขาดเรียน “ทุกคนไม่มีสิทธิพูดถ้าฉันไม่อนุญาต” นี่คือคำตอบ ประตูถูกเปิดออก เด็กคนหนึ่งมาสายด้วยเหตุว่าเขามาจากหมู่บ้าน Poshteh ครูจึงบอกกับทุกคนว่าใครก็ตามถ้าบ้านอยู่ Poshteh ให้ออกจากบ้านให้เร็วขึ้น เข้านอนให้ไวขึ้น หลังจากนั้นครูก็เริ่มตรวจการบ้าน Nematzadeh ที่นั่งข้าง Ahmed เขาทำการบ้านใส่กระดาษไม่ได้ทำใส่สมุดเรียน จึงถูกครูต่อว่า และฉีกกระดาษนั้นทิ้งหน้าห้องเรียนให้นักเรียนทุกคนเห็น พร้อมคาดโทษว่าถ้า Nematzadeh ทำแบบนี้อีกเขาจะถูกไล่ออกเพราะเขาทำมาหลายครั้งแล้ว

เมื่อ Ahmed กลับถึงบ้าน แม่ที่กำลังซักผ้าก็บอกให้เขาทำการบ้าน พร้อมกับใช้ให้ Ahmed ทำโน่นนี่ ในกระเป๋าเรียน Ahmed พบว่าเขามีสมุดการบ้าน 2 เล่ม Ahmed บอกแม่ เขาต้องเอาสมุดไปให้เพื่อนเพราะเขาหยิบผิดมา “ทำการบ้านก่อนแล้วแกถึงจะไปเล่นได้” แล้วแม่ก็ใช้ให้ขึ้นไปชั้นสองของบ้าน บนชั้นสอง Ahmed เจอ Ali พี่ชาย นั่งทำการบ้านในห้องที่ไม่มีใครรบกวน Ali ชวนน้องไปเล่นกันเขาทำการบ้านใกล้เสร็จแล้ว Ahmed ปฏิเสธ “แม่ แม่ แม่ครับ ผมต้องเอาสมุดไปให้เพื่อน” Ahmed ขอร้องแม่อีกหลายครั้ง “แกต้องทำการบ้านก่อนถึงจะออกไปเล่นได้” คำตอบสุดท้ายของแม่คือโยนผ้าที่เปียกใส่พร้อมคาดโทษถ้าพ่อกลับมาแกจะโดนตี แต่โอกาสของ Ahmed ก็มาถึง เมื่อแม่ใช้ให้ไปซื้อขนมปัง

ภาพประกอบจากภาพยนตร์ Where is the friend’s home?

การเดินทางได้เริ่มต้นขึ้น Ahmed พร้อมสมุดของเพื่อน วิ่งจากบ้านซึ่งก็คือ Koker ไป Poshteh ผ่านทางขึ้นเนินซิกแซก กับเนินอีกสองสามลูกก่อนจะเห็นหมู่บ้าน Poshteh อยู่เบื้องล่าง ประตูที่เปิดออก ให้ Ahmed ได้ถามหาบ้านของ Nematzadeh ความหวังแรกปรากฏขึ้น เขาจำกางเกงที่แขวนอยู่ได้ ว่าต้องเป็นของเพื่อนเขาแน่ๆ แต่ก็ไม่ใช่ ประตูที่เปิดออกจากที่ปิดอยู่ หญิงชราป่วยช่วยเหลือ Ahmed ชายชราที่อยู่ในประตูที่เปิดอยู่ช่วยบอกทางให้ว่าควรจะไปหาที่บ้านหลังไหน แต่เอวัง เพื่อนบ้านบอกว่า Nematzadeh ออกไป Koker กับพ่อเมื่อห้านาทีที่แล้ว

การกลับสู่ Koker ทางเข้าหมู่บ้าน Ahmed พบกับปู่ของเขานั่งสนทนากับคนสูงอายุ ปู่เรียกเขามาถามว่าไป Poshteh ทำไม แต่ดูเหมือนเขาจะไม่ได้สนใจคำตอบ ปู่สั่งให้ Ahmed กลับไปหยิบบุหรี่ที่บ้านมาให้ปู่ ทั้งๆที่ตนเองก็มีบุหรี่อยู่แล้ว ปู่ของ Ahmed อธิบายการกระทำของตนว่า เพื่อสอนระเบียบวินัยให้กับหลานชายและเขายังเล่าอีกว่า ในตอนที่เขายังเป็นเด็กเขาถูกพ่อตีทุกวัน บางวันพ่อเขาลืมให้ค่าขนมแต่ไม่ลืมที่จะตี “แล้วถ้าเด็กคนนั้นนิสัยดีอยู่แล้วล่ะ” คู่สนทนาถาม ปู่จึงตอบว่า พ่อของปู่ก็จะหาเรื่องตีเขาจนได้นั่นแหละ เหตุผลก็เพื่อระเบียบวินัย และมันเป็นการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง Ahmed กลับมามือเปล่า เขาหาบุหรี่ไม่เจอ หนุ่มใหญ่ปรากฎตัวเพื่อต่อรองราคาค่าทำหน้าต่างกับคนแถวนั้น เขาหันไปหาขายชราตรงนั้นคนหนึ่งแล้วบอกว่า หน้าต่างบ้านคุณควรเปลี่ยนได้แล้ว มันเก่าจนจะเอาไปเข้าพิพิธภัณฑ์ได้อยู่แล้ว อะไรที่มันเก่าผุพังก็เปลี่ยนมันซะ เขาหันมาหา Ahmed และขอร้องแกมบังคับที่จะเอากระดาษจาก Ahmed ถึงแม้ Ahmed จะอธิบายว่านี่ไม่ใช่สมุดของเขาอย่างไรก็ไม่เป็นผล สมุดของ Nematzadeh ถูกฉีกกระดาษเอาออกมาทำเป็นใบสัญญาว่าจ้างการทำหน้าต่าง เขาจดนามสกุลของตนลงไปและอ่านให้ทุกคนได้ยินว่า Nematzadeh

ภาพประกอบจากภาพยนตร์ Where is the friend’s home?

Poshteh ครั้งที่สอง หลังจากทำสัญญาเสร็จ ช่างทำหน้าต่างที่ไม่สนใจ ไม่ฟังคำถามของ Ahmed ก็ขึ้นลาและควบไปทาง Poshteh ทันที Ahmed วิ่งตามช่างทำหน้าต่างไปจนถึงบ้านของเขา เขาผูกลาไว้ ประตูที่เปิดออก ช่างทำหน้าต่างกับลูกชายช่วยกันยกหน้าต่างออกมา แต่ลูกชายของช่างทำหน้าต่างไม่ใช่ Nematzadeh ที่เขาตามหา ลูกช่างทำหน้าต่างบอก Ahmed ว่า แถวนี้เต็มไปด้วยนามสกุล Nematzadeh ทั้งสองยืนอยู่หน้าประตูที่เปิดออก เขาแนะนำว่าลองไปดูอีกที่สิ

ความมืดมาเยือน Ahmed พบชายชราที่รู้จัก Nematzadeh ดังนั้น Ahmed จึงขอร้องให้ชายชรานำทางเขาที เขาไม่รู้จักแถวนี้ ขณะที่ทั้งสองเดินไปด้วยกัน ชายชรานำทางอย่างเชื่องช้า พร้อมกับเล่าว่าเขาเป็นช่างทำประตูและหน้าต่าง บานที่เห็นนั้นฝีมือของเขา บานโน้นก็ของเขา รวมไปถึงเขาเคยทำประตูให้บ้านของ Ahmed ด้วย แต่เดี๋ยวนี้คนพากันเปลี่ยนประตูหน้าต่างเป็นเหล็กกันหมดแล้ว ทุกคนต่างก็มุ่งหน้าสู่เมืองโหญ่ ชายชราชี้ทางให้ Ahmed ไปต่อ เพราะเขาเดินต่อไม่ไหว และ Ahmed ก็พบว่าบ้านนั้นคือบ้านของช่างทำหน้าต่าง เป็น Nematzadeh อีกคน

Ahmed กลับมาที่บ้าน พ่อของเขากลับมาแล้วแต่ดูไม่สนใจอะไรยกเว้นนั่งฟังวิทยุ ส่วน Ahmed เขากินข้าวไม่ลง และเริ่มลงมือทำการบ้าน จู่ๆลมก็พัดประตูที่ปิดเปิดออกเผยให้เห็นภาพของแม่ที่กำลังง่วนกับการเก็บผ้าที่ตากไว้แต่ต้องปลิวเพราะแรงลม

วันรุ่งขึ้นที่โรงเรียน ครูเข้ามาในห้องพร้อมกับเดินไปเปิดหน้าต่าง แล้วจึงเริ่มตรวจการบ้าน Nematzadeh มีท่าทางกระวนกระวายขึ้นทุกที คุณครูจวนจะเดินมาถึงเขาแล้ว ประตูห้องเรียนเปิดออก Ahmed ยืนอยู่ที่ประตู เขามาสาย “เธออยู่ Poshteh หรือเปล่า” Ahmed ตอบเบาๆว่า ใช่ แต่ก็เปลี่ยนใจบอกว่าไม่ใช่ ครูให้มานั่งที่ Ahmed หยิบสมุดการบ้านออกมา เล่มหนึ่งของเขา อีกเล่มของ Nematzadeh คุณครูตรวจการบ้านของทั้งสองคน

ภาพประกอบจากภาพยนตร์ Where is the friend’s home?

Where is the friend’s home? หรือ Where is my friend’s house? (ทั้งสองชื่อ คือภาพยนตร์เรื่องเดียวกันขึ้นอยู่กับสำนวนที่แปล ส่วนตัวผู้เขียนจะชอบ Where is my friend’s house? มากกว่าเพราะมันให้ความรู้สึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสองคนได้ดีกว่า) เป็นภาพยนตร์ เรื่องแรกใน Koker trilogy ของ ผู้กำกับ Abbas Kiarostami ชาวอิหร่าน


Chapter : II

Abbas Kiarostami (1940 – 2016) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอิหร่าน เกิดที่ Tehran วัยเด็กมีความลุ่มหลงใหลการวาดภาพ โตขึ้นเข้าเรียน School of Fine Arts ณ University of Tehran ระหว่างนั้นทำงานพาร์ทไทม์เป็นตำรวจจราจร, จบออกมาได้กลายเป็นนักออกแบบโปสเตอร์ กำกับโฆษณากว่า 150 ชิ้น กระทั่งการมาถึงของ The Cow (1969) สร้างโดยผู้กำกับ Dariush Mehrjui อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Iranian New Wave ทำให้ Kiarostami ติดตามรอยเท้า เริ่มต้นสร้างหนังสั้น The Bread and Alley (1970), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Experience (1973) และหลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาหลายปี ในที่สุดก็ค้นพบแนวทางของตนเองกับ Where Is the Friend’s Home? (1987)(1)

ประเทศอิหร่าน ประเทศแห่งความหลากหลายและขัดแย้ง ในปี ค.ศ. 1963 ชาห์ (กษัตริย์อิหร่าน เพิ่มเติมโดยผู้เขียน)ได้เริ่มโครงการสำคัญหลายอย่างเพื่อพัฒนาอิหร่านให้ก้าวหน้า อาทิเช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเลือกตั้ง การให้สิทธิแก่สตรี การตั้งหน่วยการศึกษา การจัดตั้งหน่วยอนามัย การพัฒนาการเกษตร การโอนป่าเป็นของรัฐเป็นต้น(2)

จากเศรษฐกิจที่ตกต่ำและการเอนเอียงคบหาชาติตะวันตก จนเกิดการประท้วงลุกลามใหญ่โต อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ที่ถูกเนรเทศไป 12 ปี ได้กลับเข้ามาอิหร่าน เกิดการปฏิวัติอิสลาม และนำประเทศเข้าสู่รัฐอิสลามในที่สุด หลังจากนั้นก็เกิดสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านขึ้น

อิทธิพลสำคัญต่อภาพยนตร์ของ Abbas Kiarostami ก็คือ neorealism ลักษณะสำคัญของหนัง neorealism ก็คือ เป็นหนังทุนต่ำ (บางตำราระบุมากกว่านั้นว่าต้องใช้ฟิล์มขาวดำ) ถ่ายทำในสถานที่จริง ไม่มีการสร้างฉากในโรงถ่าย ใช้นักแสดงสมัครเล่นหรือชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ปราศจากดารามืออาชีพ (บ่อยครั้งก็ใช้การตั้งกล้องแอบถ่าย ปล่อยให้นักแสดงปะปนไปกับฝูงชน) ไม่ปรุงแต่งประดิดประดอยเพื่อให้หนังออกมาดูสวยงาม และที่สำคัญคือ มีเนื้อหาเรื่องราวสะท้อนภาพชีวิตและปัญหาของคนยากคนจน(3)


Chapter : III

ภาพยนตร์ของ Abbas Kiarostami เป็นส่วนผสมของ บทกวี(Poem) และ เรื่องเล่า(Novel) บทกวีของผู้กำกับภาพยนตร์ ก็คือ แสง สี เสียง ทั้งหมดประกอบกันเป็นเรื่องเล่าที่ชัดเจน แต่เรียบง่าย ทุกอย่างประสานกลมกลืนกัน การจัดภาพเพื่อจะบอกว่าผู้กำกับคิดอย่างไร อยากจะถ่ายทอดอะไร ชัดเจนทุกเฟรมทุกชอต Kiarostami ไม่พยายามที่จะเล่าเรื่องจนเกินไปและก็ไม่ให้งานภาพกลบเรื่องจนเบลอเลือน

ประเทศอิหร่านสมัยใหม่ ถูกถ่ายทอดให้เราเห็นในภาพยนตร์เรื่องเดียว ครู Ahmed พ่อ แม่ ปู่ ช่างทำหน้าต่าง ช่างทำหน้าต่างสูงวัย ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของคนหลายวัย หลายสถานะในสังคม ประตู หน้าต่าง ที่เปิดหรือปิด ก็มีความหมายให้ตีความครู เป็นตัวแทนอำนาจรัฐ ที่ต้องระมัดระวังอำนาจที่เหนือกว่า การพยายามปิดประตูและหน้าต่าง ก็เพื่อไม่ให้ครูใหญ่หรืออำนาจที่เหนือกว่า ได้รับรู้ความผิดพลาดของตน การมาสายของครูกลายเป็นความผิดของเด็กนักเรียน การแสดงอำนาจที่เหนือกว่า และดูรุนแรงเกินเหตุด้วยการฉีกกระดาษ คาดโทษถึงไล่ออก แม่ ผู้ที่ไม่รับฟังลูกของตน แม้ว่าลูกจะอธิบายหรือมีเหตุผลแค่ไหนก็ตาม พี่ชาย ของ Ahmed ก็ทำให้เรารับรู้ค่านิยม ลูกชายคนโตของสังคมอิหร่าน ปู่ ของ Ahmed แสดงทรรศนะให้เราเห็นถึงวิธีคิดของคนรุ่นเก่าอย่างชัดเจน และความคิดชุดนั้นก็ปะทะเข้ากับช่างหน้าต่างอย่างรุนแรง ถึงขนาดว่าถ้าอะไรที่เก่าผุพังก็เปลี่ยนใหม่เสีย Ahmed และเพื่อน ๆ ดูจะถูกมองอย่างเป็นห่วงว่าถูกกระทำแทบจะรอบด้าน

ภาพประกอบจากภาพยนตร์ Where is the friend’s home?

นอกจากการแสดงออกของตัวละครแล้ว ภาษาภาพยังแสดงฐานะที่ต่ำกว่าของเด็กให้เราเห็น ภาพขนาดไกลทำให้เราเห็น Ahmed เหลือเพียงจุดเล็กๆ บนจอภาพ กำแพงบ้าน ผนังอิฐที่สูงปิดล้อม Ahmed สายตาของเด็กๆ ที่มักต้องมองขึ้นบนเมื่อต้องสนทนากับผู้อาวุโสกว่า สายตาของแม่ที่แอบมองจับผิดลูกของตน ประตูที่ปิดในแต่ละครั้งสื่อถึงการปิดกั้น ภาพของประตูหรือหน้าต่างที่เปิดจะมาพร้อมกับความช่วยเหลือเสมอ การปิดหรือเปิดก็แทนค่าการเปิดรับ รับฟังว่าจะมีหรือไม่ ดูจะมีเพียงชายชราช่างทำประตูที่พยายามจะช่วยเหลือเด็กๆ ถึงแม้เขาจะไม่ค่อยเข้าใจ แต่ด้วยเรี่ยวแรงสังขารที่หดหาย ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ในซีนที่ประตูบ้านของ Ahmed เปิดออก เผยให้เห็นภาพ แม่ เหมือนกับว่า Kiarostami อยากเปิดให้ชาวโลกเห็นสถานภาพของเพศหญิงในสังคมอิหร่าน

บทสรุปของเรื่อง คงมีเพียง มิตรภาพ และจิตใจที่มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือกัน แม้บางครั้งจำเป็นต้องแหวกกฎเกณฑ์ที่ถูกวางไว้โดยผู้มีอำนาจ ก็คงต้องทำ เรื่องเล่าทั้งหมดถูกเล่าอย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ยัดเยียด จะมีผู้กำกับสักกี่คนที่นำเรื่องเล่ามากมายขนาดนี้มาให้เราเห็นและทำให้เราเห็นภาพของอิหร่านได้ชัดเจน ขนาดนี้ ด้วยภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียว

ภาพประกอบจากภาพยนตร์ Where is the friend’s home?


เอกสารและภาพอ้างอิง

(1) "Where Is the Friend’s Home? (1987)," เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2563, เข้าถึงได้จาก https://raremeat.blog/where-is-the-friends-home-1987/
(2) "ประเทศอิหร่าน," เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2563, เข้าถึงได้จากhttps://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99
(3) "จักรยานคนจน The Bicycle Thief," เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/the-bicycle-thief/

Leave a Comment