The Act of Killing ความในใจของผู้กระทำบังคับอุ้มฆ่า

Longtruk Film #3 : บทความโดย Prague Doctor

ถ้าคุณถูกอุ้ม(ฆ่า) ถูกบังคับ ถูกจับไปทรมาน และสุดท้ายถูกฆ่า คุณคงรู้สึกกลัวจับใจ ความสยดสยอง เจ็บปวดทางร่างกาย และทางจิตใจคงสุดจะบรรยาย แต่ถ้ากลับกันหากคุณเป็นผู้กระทำ เป็นคนลงมือฆ่าหรือทรมาน เราทุกคนคงจินตนาการกันไม่ออกว่าจะต้องรู้สึกอย่างไร The Act of Killing อาจจะมีคำตอบให้คุณได้


ในปี ค.ศ.1965 เช้าวันที่ 1 ตุลาคม นายพลอาวุโสหัวเอียงขวาจำนวน 6 นายถูกจับกุมและถูกสังหาร(1) ผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการสังหารครั้งนั้น ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความขัดแย้งในกองทัพอินโดนีเซีย ผลของการกล่าวหาบวกกับความเกลียดชังคนจีนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในอินโดนีเซีย ภาพของคอมมิวนิสต์กับคนจีนที่แยกกันไม่ออกจึงมีการกวาดล้างคอมมิวนิสต์เกิดขึ้น คาดว่าตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากการกวาดล้างครั้งนั้นอยู่ที่ 500,000 – 1,000,000 คน


การนองเลือดได้ทำให้อำนาจทางการเมืองของซูการ์โนจบสิ้นลง และซูฮาร์โตก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีในปี 1967(2) พรรคของเขาคือ พรรคโกลคาร์ ได้สนับสนุนแนวคิดปัญจศีล ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของรัฐในฐานะเป็นองค์รวมของความเชื่อซึ่งก่อให้เกิดความสมานฉันท์ทางสังคม(3)


กองกำลังพลเรือน(อันธพาล)กึ่งทหารในนาม ‘ปัจศีลา’ ถูกจัดตั้งขึ้นโดยกองทัพ ด้วยการว่าจ้างเหล่าอันธพาลให้ทำงานผิดกฎหมายแทน การฆาตกรรมโดยอันธพาลเหล่านี้ก็คือการกระทำโดยรัฐที่ยืมมือประชาชนให้เข่นฆ่ากันเอง มีการสร้างความเกลียดชังกันในหมู่ประชาชน มีภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อว่าคอมมิวนิสต์นั้นชั่วร้าย การฆ่าคอมมิวนิสต์เปรียบเหมือนการฆ่าแมลงสาบ

อันวาร์ คองโก

อันวาร์ คองโก คือมือสังหารเลื่องชื่อในยุคนั้น อันวาร์ เติบโตมาในครอบครัวที่อยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่งในเมืองเมดานทางตอนเหนือของอินโดนีเซีย ทางบ้านของเขามีฐานะดี และคัดค้านการเป็นเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ในปี 1945 เขาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 12 ขวบ และไม่นานหลังจากนั้น ก็เข้าไปพัวพันกับกลุ่มอาชญากรรมในเมืองเมดาน ในช่วงแรก เขาและเพื่อน ๆ มักจะเตร็ดเตร่อยู่แถวโรงภาพยนตร์ยอดนิยมที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง เอาตั๋วภาพยนตร์ มาขายต่อเอากำไร


แต่ไม่นานนัก อันวาร์และเพื่อนก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอาชญากรรมที่ร้ายแรงกว่าเดิม พวกเขาขู่กรรโชกทรัพย์เรียกค่าคุ้มครองจากเจ้าของห้างร้านชาวจีน ลักลอบขนสิ่งของผิดกฎหมายและเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนันด้วย อันวาร์มีเพื่อนชื่ออาดี ซุลกาดรี ทั้งสองถูกว่าจ้างให้เป็นมือลอบสังหาร(4)

The Act of Killing เป็นภาพยนตร์สารคดี ของผู้กำกับ Joshua Oppenheimer ถ่ายทำตั้งแต่ปี 2005-2011 จุดเริ่มต้นมาจากในปี 2001 Joshua และ Cynn กำลังทำบทสัมภาษณ์ในหนังเรื่อง The Globalisation Tapes ทั้งสองเริ่มศึกษาเหตุการณ์นองเลือดในอินโดนีเซียช่วงปี 1965-1966 ซึ่งนำไปสู่การได้สัมภาษณ์ อันวาร์ คองโก ในปี 2005 เครดิตของหนังเรื่อง The Act of Killing นี้มีผู้ไม่ประสงค์ออกนามในการมีส่วนร่วมกับหนังเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าอำนาจของฝ่ายหัวรุนแรงขวาจัดยังทรงอิทธิพลอยู่มากในปัจจุบัน

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง The Act of Killing

The Act of Killing เป็นหนังสารคดีที่ใช้การสัมภาษณ์มือสังหารและให้เหล่ามือสังหารได้กำกับหนังที่สร้างจากประสบการณ์ฆ่าในอดีตของตน ตัวหนังนั้นประกอบกันขึ้นจาก 3 โครงสร้าง คือ การสัมภาษณ์ อันวาร์ คองโก และผองเพื่อน, การตามติดชีวิตของอันวาร์ คองโก และเหล่าอันธพาล, ภาพของการถ่ายทำภาพยนตร์ที่แสดงวีรกรรมในอดีตที่สร้างและกำกับโดย อันวาร์ และเพื่อน ๆ ทั้งสามส่วนนี้ดำเนินไปพร้อม ๆกัน ตัดสลับกันไปมา ทั้งสามส่วนมีความสำคัญเท่า ๆ กัน

ภาพนิ่งจากภาพยนตร์เรื่อง The Act of Killing คนกลางคือ อันวาร์ คองโก ส่วนคนขวาคือ อาดี ซุลกาดรี เพื่อนของเขา

ในบทสัมภาษณ์แสดงให้เราเห็นว่าเหล่ามือสังหารต่างภูมิใจในสิ่งที่ตนเองทำลงไปในอดีต พวกเขาเชื่อว่ามันคือสิ่งที่ต้องทำ คำว่า อันธพาล มีความหมายบวก คือหมายถึง เสรีชน สิ่งที่ทำลงไปล้วนแต่ทำเพื่อชาติบ้านเมือง และชาติบ้านเมืองต้องการพวกเขา


ในส่วนของการตามติดชีวิตเหล่า เสรีชน เหล่านี้ จะเห็นได้ว่า อันวาร์ คองโก ได้รับการยกย่องและเป็นวีรบุรุษที่เป็นแบบอย่างให้กับเยาวชน ปัจศีลา เหล่าอันธพาลยังคงรีดไถเงินจากชนกลุ่มน้อยชาวจีน บทสนทนาถึงการฆ่าคนในอดีตอย่างสนุกสนาน การพูดถึงการข่มขืนเด็กอายุ 13 อย่างเป็นปกติ


ส่วนประกอบสุดท้ายในหนังคือ การถ่ายทำภาพยนตร์แสดงวีรกรรมในอดีตของ อันวาร์ และเพื่อน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกตัวแสดงที่แสดงเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ โดยมีเหล่ามือสังหารคอยแนะนำว่าต้องรู้สึกอย่างไร ต้องแสดงอารมณ์และสีหน้ายังไงบ้าง จนไปถึงมีการสร้างฉากจำลองเพื่อสมมุติเหตุการณ์บุกเผาและฆ่าคนทั้งหมู่บ้านและฉากการทรมานเหยื่อที่ถูกจับมา โดยมีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีมาร่วมให้กำลังใจก่อนถ่ายทำ

ภาพยนตร์สารคดีนั้นคงไม่จำเป็นต้องตีความอะไรมาก เพราะภาพยนตร์จะเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้ากล้องอยู่แล้ว แต่ใน The Act of Killing นั้นยังใช้ศิลปะของการถ่ายภาพ การตัดต่อ เพื่อสื่อถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ เช่น ฉากที่มีความรุนแรงอยู่รอบตัวของ อันวาร์ ในฉากถล่มหมู่บ้าน หรือฉากของหัวหน้าอันธพาลที่นอนสูบบุหรี่อย่างสบายใจโดยไม่ยี่หระกับหญิงชาวบ้านที่เป็นลมขณะถ่ายทำ การใช้เทคนิคการตัดต่อระหว่างฉากการแปรงฟันของแฮร์มัน(หลานของอันวาร์)ในห้องน้ำสภาพโลกที่สามตัดสลับมาที่ภาพแฮร์มันและครอบครัวในสตูดิโอถ่ายภาพที่พื้นหลังเป็นชั้นหนังสือที่ช่างตรงข้ามกับตัวตนของเขา(แฮร์มันคือหนึ่งในแก๊งค์อันธพาลที่ดูจะนับถือ อันวาร์ เป็นอย่างมาก)


สำหรับผมมีฉากสะเทือนใจอยู่สามฉาก ฉากเเรกคือซีนที่อันวาร์พาไปดูดาดฟ้าที่เขาใช้ฆ่าคน(จำนวนเหยื่อที่เสียชีวิตจากฝีมืออันวาร์อาจสูงถึง 1,000 คน) โดยจบฉากนี้ด้วยการเต้นอย่างสบายอารมณ์ของอันวาร์บนลานประหารตรงนั้น ฉากถัดมาคือฉากที่ระหว่างช่วงพักการถ่ายทำหนังของเหล่ามือสังหาร มีตัวประกอบในซีนนั้นเล่าถึงประสบการณ์ของตนช่วงวัยเด็กที่พ่อของเขาถูกอุ้มไปจากบ้านในคืนวันหนึ่งแล้วก็ไม่กลับมาอึกเลย สุดท้ายคือฉากที่อันวาร์กลับมาที่ดาดฟ้าสังหารนั้นอีกครั้ง แต่คราวนี้ตัวเขาเปลี่ยนไปแล้ว เพราะการที่ตัวเขาเองได้ทบทวน รื้อฟื้นอดีตของตนขึ้นมาเพื่อสร้างภาพยนตร์ของเขาเอง ความรู้สึกผิดบาปได้เกาะกินจิตใจของอันวาร์ ภาพของชายแก่ที่ดูมีความสุข ความภูมิใจเมื่อครั้งที่มาดาดฟ้าในครั้งก่อนหน้านั้นหมดไปแล้ว มีเพียงชายชราหลังงุ้ม สายตาหวาดกลัวอยู่ที่ปลายบันได อันวาร์เสียชีวิตในวัย 78 ปี โดยไม่เคยได้รับโทษทางกฎหมายใด ๆ เลย และรัฐบาลอินโดนีเซียยังคงปกปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ(ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในอินโดนีเซีย)

ความรู้สึกหวาดกลัว สยดสยองของผู้ถูกกระทำก็อาจจะย้อนคืนผู้กระทำได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพียงแต่อาจจะต้องการเวลา และการที่จะคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อเหล่านั้นได้ ก็คงขึ้นอยู่กับการยอมรับความจริง การศึกษาประวัติศาสตร์บาดแผลอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เพื่อคืนสิทธิในความเป็นมนุษย์ให้กับเหยื่อทุกคน ไม่แค่เพียงในสังคมอินโดนีเซียแต่เพื่อมนุษย์ที่อาศัยร่วมโลกกับเรา พวกเขามีชื่อ มีคนรอบตัว มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ มีสิทธิที่จะมีความคิดและอุดมการณ์ ไม่ควรมีใครตายเพียงเพราะคิดต่างจากเรา


เอกสารและภาพอ้างอิง

(1)"บทความแปล: ชีวิตและความตายของซูฮาร์โต," เข้าถึงเมื่อ 30 มิถุนายน 2563, เข้าถึงได้จากhttps://prachatai.com/journal/2016/04/65278
(2) เรื่องเดียวกัน
(3)เรื่องเดียวกัน
(4)"เรื่องราวของ อันวาร์ คองโก มือสังหารหมู่ในอินโดนีเซียที่แสดงเป็นเหยื่อของตัวเองในภาพยนตร์," เข้าถึงเมื่อ 30 มิถุนายน 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/international-50281779

Leave a Comment