ซอมบี้ คำๆ นี้ทุกคนรู้จักดี แทบจะไม่ต้องแปล เราสามารถพบเห็นซอมบี้ได้ในสื่อบันเทิงแทบจะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรี่ส์ หรือเพลง แต่จะมีใครรู้บ้างว่า ซอมบี้ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้นั้นเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเฉพาะ ซอมบี้สมัยใหม่ที่อยู่ใน pop culture แบบในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นของมันคือ ผลงานศิลปะที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอเมริกันยุคซิกซ์ตี้
ยุคซิกตี้ (1960-1969) หรือยุคหกศูนย์ยุคแห่งความมีเกียรติและการสดุดี (glorious) ของคนอเมริกัน ซึ่งต่อเนื่องมาจากยุคห้าศูนย์ที่สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นผู้นำหนึ่งเดียวของโลกเสรี เป็นผู้ชนะสงครามและคอยช่วยเหลือค้ำจุนยุโรป สหรัฐอเมริกาเริ่มวางรากฐานระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมโยกย้ายทรัพยากรจากทั่วโลกมารองรับระบบทุนนิยมของตน ไปจนถึงเข้าควบคุมรัฐบาลของประเทศอื่นเพื่อให้ดำเนินนโยบายตามที่สหรัฐต้องการและโค่นล้มรัฐบาลใดก็ตามที่ขัดขวางแนวทางของสหรัฐ เมื่อย่างเข้าสู่ยุคหกศูนย์ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจทำให้อเมริกันชนและคนทั่วโลกต่างมีความฝันเดียวกันคือ มีบ้าน มีรถซักคัน เป็น American Dream
แต่ฝันดีนั้นอยู่ได้ไม่นาน โศกนาฏกรรมที่ช็อกคนอเมริกันรวมไปถึงทั้งโลก สายตาแทบทุกคู่ได้เป็นพยานต่อเหตุการณ์นั้น วันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดีถูกลอบสังหารในดัลลัส รัฐเท็กซัส เหตุการณ์นั้นเหมือนพลุสัญญาณสิ้นสุดของการเฉลิมฉลอง ช่วงเวลาแห่งความสุขได้จบสิ้นลงแล้ว
ยุคหกศูนย์นั้น ภายใต้ความสุขบนกองเงินกองทองของนายทุน ชนชั้นนำและอเมริกันชนผิวขาว คนอเมริกันแอฟริกันกลับเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ถูกริดรอนสิทธิ อีกทั้งบทบาทสตรีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เข้าทำงานแทบจะทุกตำแหน่งแทนผู้ชายที่ต้องไปรบในสงครามแต่สิทธิของผู้หญิงก็ยังไม่ดีขึ้นเลย และเมื่อสหรัฐอเมริกาต้องคอยควบคุมรัฐบาลของประเทศอื่นด้วยอิทธิพลทางการทหาร การเกณฑ์ทหารจึงตามมา โดยเฉพาะการส่งคนหนุ่มไปรบในสงครามเวียดนาม
สิ่งเหล่านี้จึงส่งผลให้คนอเมริกันรุ่นหนุ่มสาวที่โตมาในยุคหลังสงคราม ที่ไม่ได้พบกับความลำบากมากนัก ออกจะสุขสบายเสียด้วยซ้ำ เกิดความคิดต่อต้านแนวคิดของคนรุ่นพ่อแม่ คนหนุ่มคนสาวในมหาวิทยาลัยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนามและการเรียกร้องสิทธิให้แก่คนผิวดำ นักศึกษารวมตัวกันประท้วงการไม่รับคนผิวดำเข้าทำงาน บรรดาเจ้าของธุรกิจและนักการเมืองกดดันให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยปิดกั้นไม่ให้นักศึกษาเคลื่อนไหว นักศึกษาก็ใช้วิธีนั่งประท้วง ในห้องเรียน ในบริเวณมหาวิทยาลัย และในห้างสรรพสินค้าที่ไม่รับคนผิวดำเข้าทำงาน จนในที่สุดมหาวิทยาลัยก็ยอมรับเสรีภาพของนักศึกษา จากนั้นขบวนการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เริ่มจัดตั้งขึ้น นำไปสู่การเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนามในระดับประเทศครั้งแรกในปี 1965
4 เมษายน ค.ศ.1968 มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ศาสนาจารย์และนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ถูกลอบยิงเสียชีวิตขณะที่ยืนอยู่บนระเบียงชั้นสองหน้าห้องที่โรงแรมลอเรน ในเมืองเมมฟิส “I Have a Dream” สุนทรพจน์ที่คิงกล่าวไว้ระหว่างการเดินขบวนครั้งใหญ่ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1963 กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนหลายล้านคน
โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี นัองชายประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต่อสู้กับอาชญากรรมและมาเฟีย ได้รับการเสนอชื่อเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยฐานเสียงของเขาคือคนยากจน คนแอฟริกัน-อเมริกัน และหนุ่มสาวผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 5 มิถุนายน 1968 ณ ห้องบอลรูมที่ The Ambassador Hotel ใน Los Angeles เขาออกจากห้องบอลรูมโดยเดินผ่านห้องครัวของโรงแรมหลังจากได้รับแจ้งว่าเป็นทางลัดไปยังห้องแถลงข่าว Sirhan Sirhan วัย 24 ปีชาวปาเลสไตน์ยิงเขาด้วยปืน .22 โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี เสียชีวิต
ปิดฉากยุคหกศูนย์ด้วยคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน 1969 เจ้าหน้าที่ตำรวจชิคาโกสองนาย John J. Gilhooly และ Frank G. Rappaport ยิงต่อสู้กับกลุ่ม The Black Panther Party (BPP) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของคนผิวดำ ก่อตั้งโดยนักศึกษา Bobby Seale และ Huey P. Newton ในเดือนตุลาคม 1966 ในเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย หนึ่งในตำรวจนั้นเสียชีวิต ตำรวจตอบโต้ในวันที่ 4 ธันวาคม เวลาตีสี่ ตำรวจพร้อมอาวุธหนักบุกเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ของ เฟรด แฮมป์ตัน ประธานพรรค Black Panther Party (BPP) ในรัฐอิลลินอยส์และรองประธาน BPP ระดับชาติ ตามรายงานของ National Archives and Records Administration “จากการค้นพบครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ได้ยิงเขาที่หัวสองครั้งและฆ่าเขา”
ความรุนแรงที่กระทำตอบโต้ต่อนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนนักศึกษาและนักเคลื่อนไหว กระทำโดยรัฐและฝ่ายอนุรักษ์นิยม การเดินขบวนการเรียกร้องจึงเป็นทางออกอย่างสันติของขบวนการนักศึกษา ด้วยบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ข้อที่ 1 คือการรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและเสรีภาพของสื่อมวลชน ดังนั้นพื้นที่ในทางศิลปะวัฒนธรรมจึงมีเสรีภาพไม่ถูกกำหนดโดยกระทรวง หรือหน่วยงานของรัฐทำให้ผลงานศิลปะจึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับขบวนการนักศึกษา
ศิลปะอยู่เหนือการเมือง(?) ถ้าคุณเคยเรียนศิลปะแบบจริงจังซักหน่อย หรือเรียนศิลปะระดับปริญญาในประเทศไทย คุณจะต้องได้ยินประโยคนี้แน่ๆ ซึ่งมันจริงหรือไม่ ในสหรัฐ โดยเฉพาะในยุคซิกซ์ตี้ ศิลปินและขบวนการนักศึกษาต่างเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน สื่อหนึ่งที่เข้าถึงง่ายและมีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวอเมริกันยุคนั้นอย่างมากนั่นก็คือ ภาพยนตร์
Night of the Living Dead คือภาพยนตร์ในยุคนั้นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เป็นภาพยนตร์เล็กๆ แต่อธิบายหรือสรุปภาพรวมของประวัติศาสตร์สหรัฐในยุคหกศูนย์ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ในทางการเมือง Night of the Living Dead ไม่ได้มีอิทธิพลมากนักต่อขบวนการต่อสู้ต่างๆ แต่กับวงการภาพยนตร์และสื่อบันเทิงอย่างอื่นแล้ว มันมีอิทธิพลอย่างสูง โดยที่นอกจากเป็นภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากสภาพความวุ่นวายความรุนแรงทางการเมืองแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังให้กำเนิด สิ่งที่ทุกวันนี้เรารู้จักกันแทบจะทั่วโลก นั่นคือ ซอมบี้
ซอมบี้ สันนิษฐานกันว่ามีดินแดนต้นกำเนิด คือแอฟริกากลางและแอฟริกากลางตะวันตก โดยอาจจะมีที่มาจากคำสองคำในภาษาคองโก ได้แก่ zambi ที่แปลว่า พระเจ้า และ zumbi ที่แปลว่า เครื่องราง คำว่า ซอมบี้ ในแอฟริกาเป็นคำที่ใช้เรียกวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ส่วนซอมบี้แบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน มีอยู่ในบางวัฒนธรรมของแอฟริกาใต้ ที่เชื่อกันว่าคนเสียชีวิตแล้วสามารถกลายเป็นซอมบี้ได้ แม่มดจะทำให้คนเป็นซอมบี้ได้ด้วยการฆ่าและครอบครองร่างของเหยื่อเพื่อบังคับให้เป็นทาส จนเมื่อโลกเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคม กิจการค้าทาสชาวแอฟริกันเฟื่องฟู ความเชื่อดั้งเดิมก็ติดตามคนแอฟริกันไปปะทะกับโลกใหม่ที่พวกเขาถูกใช้เป็นแรงงานทาส
ความเชื่อเรื่องซอมบี้มีรากฐานมาจากชาวแอฟริกันผู้ถูกกดขี่ถูกนำมาใช้แรงงานทาสที่เฮติ ปรากฏอยู่ทั่วไปในนิทานพื้นบ้านเฮติ เป็นเรื่องราวของคนตายฟื้นขึ้นมาด้วยการใช้เวทมนตร์ของโบกอร์ (พ่อมดหรือแม่มดในความเชื่อของคนแอฟริกา(คองโก)) โบกอร์ถูกต่อต้านโดย houngan (นักบวชชาย) และ mambo (นักบวชหญิง) ของศาสนาวูดู แนวคิดสมัยใหม่ของซอมบี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการเป็นทาสของชาวเฮติ ผู้ดูแลทาสในไร่ ซึ่งมักจะเป็นทาสเองและบางครั้งก็เป็นนักบวชวูดู ใช้ความกลัวว่าจะกลายซอมบี้เพื่อป้องกันทาสจากการฆ่าตัวตาย
ปรากฏการณ์ซอมบี้ในเฮติได้รับความสนใจจากนานาชาติอย่างกว้างขวางในช่วงที่สหรัฐอเมริกายึดครองเฮติ (ค.ศ. 1915–1934) มีคดีที่อ้างว่า “ซอมบี้” จำนวนหนึ่งปรากฏขึ้น หนังสือยอดนิยมเล่มแรกที่เขียนถึงเรื่องนี้คือ The Magic Island (1929) ของ William Seabrook โดยข้อความในหนังสือนี้ถูกใช้ในภายหลังในสื่อภาพยนตร์เรื่อง White Zombie ปี 1932
White Zombie กำกับโดย Victor Halperin คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีซอมบี้เป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ White Zombie คือเรื่องราวซอมบี้ที่ไร้สติและคาดเดายากภายใต้มนต์สะกดของนักมายากลที่ชั่วร้าย ซอมบี้นี้เป็นเรื่องแปลกในยุคแรกๆ ในโลกภาพยนตร์ แต่การปรากฏตัวของพวกมันยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1930 ถึง 1960
ภาพยนตร์ปี 1964 เรื่อง The Last Man on Earth ดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง I Am Legend ของ Richard Matheson ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้รอดชีวิตคนเดียวที่ทำสงครามกับแวมไพร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อภาพยนตร์ทุนต่ำในปี 1968 เรื่อง Night of the Living Dead
Night of the Living Dead เป็นภาพยนตร์อเมริกันอินดี้แนวสยองขวัญปี 1968 ที่เขียน กำกับ ถ่ายภาพ และตัดต่อโดยจอร์จ เอ. โรเมโร ร่วมเขียนบทโดยจอห์น รุสโซ และนำแสดงโดยดวน โจนส์ และจูดิธ โอดี พล็อตเรื่องก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับคนเจ็ดคนที่ติดอยู่ในบ้านไร่ในชนบททางตะวันตกของเพนซิลเวเนีย ซึ่งถูกโจมตีโดยกลุ่มผีดิบกินเนื้อที่ค่อยๆเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีคำว่าซอมบี้ปรากฏเลยแม้แต่คำเดียว ในบทเรียกสิ่งนั้นว่า ghouls แปลไทยได้ว่า ผีปอปหรือผีดิบ แต่ผู้ชมต่างเรียกสิ่งนั้นในภายหลังว่า ซอมบี้ โรเมโรก็รับมาใช้ในภาพยนตร์ภาคต่อของเรื่องนี้
โรเมโรเป็นเด็กย่านบรองซ์ เกิดในปี 1940 พ่อของเขาเป็นศิลปินในวงการโฆษณา ปี 1958 เขาออกจากนิวยอร์กซิตี้เพื่อไปพิตต์สเบิร์กเข้าศึกษาศิลปะ การออกแบบ และการแสดงละครที่สถาบัน Carnegie Institute of Technology (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon University) หลังจากสร้างหนังสั้นสองสามเรื่องแล้ว โรเมโรก็ได้ร่วมกับเพื่อนๆ ในปี 1962 เพื่อก่อตั้ง Latent Image ซึ่งเป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์โฆษณาและตัดสินใจที่จะทำผลงานที่มันขายได้อย่างหนังสยองขวัญ งบประมาณเริ่มต้นคือ 6,000 ดอลลาร์กับสมาชิก 10 คนของบริษัท โดยลงทุนคนละ 600 ดอลลาร์และนำมาหารกำไรกัน จนในที่สุดก็สามารถระดมทุนได้ประมาณ 114,000 ดอลลาร์ (น่าจะเทียบเท่ากับ 848,000 ดอลลาร์ในปัจจุบัน)
หลังจากการฉายรอบปฐมทัศน์ในพิตต์สเบิร์กเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1968 Night of the Living Dead ทำรายได้ในประเทศไป 12 ล้านเหรียญสหรัฐและในต่างประเทศ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างรายได้มากกว่า 250 เท่าของงบประมาณและทำให้เป็นหนึ่งในผลงานภาพยนตร์ที่ทำกำไรได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในขณะนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายไม่นานก่อนที่จะมีการนำระบบการจัดเรตของสมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกามาใช้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากบทวิจารณ์เชิงลบในการเปิดตัวครั้งแรกเนื่องจากความรุนแรงและคราบเลือดอย่างโจ่งแจ้งที่สุดเท่าที่เคยมีมาในยุคสมัยนั้น แต่ในไม่ช้าก็ได้รับเสียงชื่นชมจากบรรดานักวิจารณ์ โดยเฉพาะประเด็นที่ภาพยนตร์สามารถฉายภาพของความรุนแรงของยุคหกศูนย์ได้อย่างชัดเจน
เริ่มเรื่องมาฉากแรกคุณก็จะเห็นภาพของรถวิ่งบนถนนในชนบทโดยมีธงชาติสหรัฐอยู่ทางด้านหน้า เป็นการสื่อถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้นั้นเกิดขึ้นในสหรัฐเอง ตัดมาที่ภาพความขัดข้องทางเทคนิคของสถานีวิทยุจนไม่สามารถรับฟังได้จากเครื่องเสียงติดรถยนต์สื่อถึงการสื่อสารของรัฐที่ล้มเหลว พี่น้องสองคน บาร์บราและจอห์นนี่มาที่สุสานเพื่อมาเคารพศพของพ่อ ในบทสนทนาเราจะเห็นการสื่อถึงความไม่เข้าใจกันระหว่างแม่ซึ่งแทนค่าถึงผู้อาวุโสกว่ากับสองพี่น้องหรือคนหนุ่มสาว
โดยไม่ทันคาดคิด ซอมบี้ตนหนึ่งก็โจมตีจอห์นนี่ จนบาร์บราต้องวิ่งหนีไปซ่อนในบ้านกลางทุ่ง ซึ่งในบ้านมีศพของเจ้าของบ้านที่ตายอยู่บนชั้นสองของบ้าน จู่ๆ เบ็น ชายหนุ่มผิวสีก็ขับรถหนีซอมบี้เข้ามาภายในบ้าน เขาจัดการซอมบี้ด้วยไฟและสำรวจตัวบ้านในทันที เบ็นจัดแจงทำให้บ้านหลังนั้นพร้อมที่จะรับมือกับซอมบี้ แต่บาร์บรานั้นกลับอยู่ในอาการช็อค นี่คือสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมยุคนั้นนั่นคือ ชายผิวสีที่ดูสุภาพ เรียบร้อย ดูมีสติมากกว่าหญิงผิวขาวที่ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้
ในบ้านไร้กลางทุ่งนั้นปรากฏว่ามีคนมาหลบอยู่ก่อนแล้วคือ ทอมกับจูดี้ คู่รักวัยหนุ่มสาว กับอีกหนึ่งครอบครัวในห้องใต้ดิน พ่อแฮร์รี่ แม่เฮเลน และลูกสาวแคเรนที่บาดเจ็บจากการถูกซอมบี้โจมตี เบ็น แนะนำว่าทุกคนควรอยู่บนบ้าน ทอมและจูดี้เห็นด้วย แต่แฮรี่ไม่เห็นด้วยถึงแม้เฮเลนเมียของเขาอยากจะอยู่ข้างบนก็ตาม เบ็นจัดการต่อทีวีจนสำเร็จ ทุกคนได้รับข่าวสารเป็นครั้งแรก มีข่าวของการเกิดอาชญากรรมไปทั่วโดยซอมบี้และมีแจ้งถึงสถานที่หลบภัยในจุดต่างๆ เบ็นจึงเสนอแผนที่จะเอารถออกไปเติมน้ำมัน ทอมยินดีช่วย จูดี้ก็ขอตามไปช่วยอีกแรง หลังจากแผนอพยพล้มเหลว ซอมบี้ก็ค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้นจนบุกเข้ามาในตัวบ้านได้ แฮรี่รีบเอาตัวรอดหลบอยู่ในห้องใต้ดินแต่ก็พบว่า แคเรนลูกสาวของตนกลายเป็นซอมบี้และกัดกินแม่ของตนเอง ซึ่งทั้งหมดเราจะเห็นว่าครอบครัวของแฮรี่ก็เป็นเหมือนภาพแทนของสังคมอเมริกันที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม ส่วนทอมและจูดี้ก็คือตัวแทนของคนหนุ่มสาวอเมริกันผิวขาวที่ช่วยเรียกร้องและยืนเคียงข้างคนแอฟริกัน-อเมริกัน ส่วนการกัดกินพ่อแม่ตนเองของแคเรน เราสามารถอนุมานได้ถึงความขบถทางความคิดของคนหนุ่มสาวที่มีต่อคนรุ่นก่อน
ในตอนท้ายของเรื่อง เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทางการเริ่มควบคุมได้และได้ส่งกองกำลังเข้าจัดการกับซอมบี้ กลุ่มชายติดอาวุธได้เข้าใกล้บ้านไร่กลางทุ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เบ็น ผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว ถูกเข้าใจผิดและถูกยิงตาย ในฉากนี้กลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธนั้นจะดูเหมือนกองกำลัง redneck (redneck คือลักษณะของคนอเมริกันผิวขาวในชนบททางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาที่หยาบคาย โดยที่มาของชื่อมาจากรอยไหม้ที่คอจากการทำงานในไร่กลางแจ้ง)
เราจะเห็นได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากจะสร้างสิ่งใหม่ให้กับโลกภาพยนตร์นั่นก็คือ ซอมบี้ และสร้างแนวภาพยนตร์สยองขวัญแบบเลือดสาดซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในยุคนั้น โดยเฉพาะฉากที่ลูกกินพ่อแม่ตนเอง Night of the Living Dead ยังสามารถจำลองความรุนแรงโหดร้ายของโลกแห่งความจริงมาไว้บนจอได้ มันจึงมีความพิเศษเป็นอย่างมาก
ตอนที่ Night of the Living Dead เข้าฉายครั้งแรก มันได้รับการยอมรับน้อยมาก คำวิจารณ์ที่ได้รับก็มีแต่ด้านลบ จนภาพยนตร์ลาจอไปอย่างเงียบๆ แต่ในกลางปี 1970 ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำกลับมาฉายซ้ำ ซึ่งในครั้งนี้เองที่ผู้คนที่เพิ่งผ่านยุคหกศูนย์มา เริ่มยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเห็นมันใน Night of the Living Dead ภาพสุสานที่พาให้นึกถึงความสูญเสียในสงครามเวียดนามที่มากขึ้นเรื่อยๆ หรือข่าวการฆาตกรรมหมู่ในภาพยนตร์ก็ทำให้นึกถึงคดีเทต/ลาเบียงกา (ชารอน เทต ภรรยาของโรมัน โปลันสกีที่กำลังตั้งท้องได้ 8 เดือนกับเพื่อนอีกสามคนเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1969 และสองสามีภรรยา เลโน กับโรสแมรี ลาเบียงกา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1969) ที่ถูกฆาตกรรมโดย ชาร์ล มิลเลส แมนสัน ภาพของหมู่บ้านไร่กลางทุ่งในชนบทที่มีการต่อสู้สังหารหมู่ในภาพยนตร์ก็ช่างชวนให้นึกถึงการสังหารหมู่ที่หมีลาย เป็นการสังหารหมู่พลเรือนที่ไม่มีอาวุธในสงครามเวียดนาม เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1968 มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 347 ถึง 504 ศพ ในเวียดนามใต้ โดยทหารอเมริกันสังกัดกองร้อย “ชาร์ลี” แห่งกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 20 กองพลน้อยที่ 11 แห่งกองพลทหารราบที่ 26 ในฉากจบแบบ sad ending ซึ่งถือว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่กล้าที่จะจบแบบนี้ ก็เหมือนกับการจำลองภาพการสังหาร มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และเฟรด แฮมป์ตัน บนที่นอนของเขาเอง
ในภาพยนตร์ทั้งเรื่อง ผีดิบ หรือ ซอมบี้ คือสิ่งที่น่ากลัวมากในยุคนั้นเพราะมันคือ พวกเราเอง ไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่มาจากโลกอื่น ในฉากความโกลาหลในบ้านไร่ จอห์นนี่ ที่กลายเป็นซอมบี้ได้บุกเข้ามาในบ้านไร่นั้นด้วย ทำให้บาร์บราที่ได้สติกลับมาจากอาการช็อคถึงกับหมดกำลังใจที่จะมีชีวิตต่อไป ความที่กระทบจิตใจผู้ชมชาวอเมริกันอีกอย่างก็คือ โศกนาฏกรรมที่เห็นทั้งหมดในภาพยนตร์ไม่ได้เกิดในเวียดนามแต่เกิดในเพนซิลเวเนีย ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ดังนั้น Night of the Living Dead ที่เป็นหนังสยองขวัญแต่ในอีกแนวทางหนึ่งมันก็เป็นภาพยนตร์ที่วิจารณ์การเมืองอเมริกาอีกด้วย ถึงแม้จะเป็นเรื่องบังเอิญที่โรเมโรเองก็ยอมรับ แต่เหตุการณ์ทางการเมืองมันกระทบต่อคนทุกคนทุกชนชั้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ซอมบี้ หรือ ผีดิบ ใน Night of the Living Dead ก็คือตัวแทนของคนอเมริกันผิวขาวชนชั้นกลางและนายทุนที่ตกเป็นทาสทุนนิยม พวกเขากินทุกอย่างที่ขวางหน้า พวกเขานั้นดูไร้ซึ่งสติสัมปชัญญะ ไร้จิตใจ มีเพียงความอยาก ความหิวที่เป็นสัญชาตญาณขั้นพื้นฐานที่ยังหลงเหลืออยู่และพวกเขาก็ไม่สนใจใครเลยแม้กระทั่งพวกเขากันเอง
บทความโดย Pariwat
อ่านเพิ่มเติม
https://en.m.wikipedia.org/wiki/1960s