LONGTRUK: Openlab #4
บทความเสพศิลป์บ่มีสม 02 โดย ผิว มีมาลัย
บรรณาธิการ: ภาอรุณ ชูประเสริฐ x สุพิชญา ขุนชำนิ
Chapter: IV
Black Mountain Poets: Charles Olson, Robert Creeley, Robert Duncan and Denise Levertov, Josef Albers, John Cage, M. C. Richards and Hilda Morley.
ส่วน Dorothea Rockburne (1932-) นักศึกษาจิตรกรรมอีกคน เธอเป็นคนสร้างความงุนงงแก่ FBI ด้วยเล่ห์กลหลายวิธี เช่นการแสดงความขบถต่อเจ้าหน้าที่
เธอเล่าว่า “พวก FBI เข้ามาทุกวัน ดูเหมือนอะไรบางอย่างที่คุณเคยเห็นในหนังเกรดบีหรือเกรดซี พวกนั้นจะสวมเสื้อชุดปฏิบัติการที่คุณสามารถมองเห็นได้จากระยะมากกว่าหนึ่งไมล์…. แน่นอนพวกเราทำการแสดงสดให้พวกเขาดู”
“พวกเรานัดกันไม่สวมรองเท้าเดินเปลือยตีน(สำนวนแบบรงค์)ในช่วงกลางฤดูหนาว และมักจะจุดไม้ขีดบนฝ่าตีนที่เปลือยเปล่าเพื่อจุดบุหรี่สูบต่อหน้าพวกเขา มันเป็นการยืนยันความรู้สึกนึกคิดของพวกเราถึงความเลวร้ายที่สุดที่มีต่อภาครัฐ “
“แน่นอนว่าพวกเราไม่เคยตอบคำถามพวก FBI สักคำถามเดียว เพราะการกระทำของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิทางการศึกษา รบกวนและทำลายบรรยากาศสร้างสรรค์อันสานติภายในแคมพัสอย่างสิ้นเชิง ฉันคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”
Rockburne อธิบายภาพเหตุการณ์ให้เราฟังเหมือนมันเพิ่งผ่านไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เธอคือนักศึกษาเพียงไม่กี่คนที่ได้ลงเรียนปรัชญาและประวัติศาตร์คณิตศาสตร์ ในวิชา Geometry for Artists กับ Max Dehn นักคณิตศาสตร์ นักเลขาคณิต และนักปริภูมิคณิตศาสตร์ทฤษฏี ที่ Black Mountain College
“มันเป็นวิชาคณิตศาสตร์ที่ไม่ได้สอนคณิตศาสตร์ แต่เป็นวิชาที่สอนให้ศิลปินคิดอย่างเป็นคณิตศาสตร์ “ Rockburne พูดถึงDehn ในฐานะ Turning point
Dorothea Rockburne, an installation view Dia: Beacon NY
Paul Radin (1883 – 1959) นักมานุษยวิทยาและผู้สอนที่สถาบัน เป็นผู้หนึ่งที่ถูก FBI ติดตามความเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษ รายงานฉบับนี้ระบุว่า Radin เป็นฝ่ายซ้ายด้วยสนับสนุนแนวคิดความเสมอภาคและภารดรภาพระหว่างผิวสี และถูกป้ายสีให้กลายเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อรัฐ
หลังจากที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน Paul Radin เดินทางหลบหนีไปอยู่ Switzerland ในปีค.ศ. 1952 และทำงานให้กับ Bollingen Foundation ร่วมกับ C. G. Jung ที่มูลนิธิเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยและงานหนังสือวารสารของมหาวิทยาลัย
Radin เดินทางกลับสหรัฐอเมริกาในปี 1956 โดยเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัย Brandeis และถือเป็นนักมานุษยวิทยารุ่นแรก ๆ ที่ทำการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาชนเผ่าอินเดียแดงตั้งแต่ปี 1908 เป็นต้นมา และเป็นผู้รวบรวมคำด่าในตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองในหลายทวีป
สื่อต่อต้าน Red Scare ภัยคุมคามคอมมิวนิสต์ในสหรัฐอเมริกา
ต่อมาในวันที่ 21 กฏาคม 1956 อัยการกลาง James M. Baley ได้เข้าพบพนักงาน FBI ซึ่งเกี่ยวข้องในการลงพื้นที่สืบสวนจากเมือง Charlotte และยืนยันการสืบสวนอย่างเป็นทางการว่าพยานหลักฐานที่จะเอาผิดทางกฏหมายต่อ Black Mountain College ยังไม่เพียงพอในการส่งฟ้องต่อศาล
เขาได้กล่าวในท้ายที่สุดว่าจะไม่มีการดำเนินการสืบสวนเพิ่มเติมอีกต่อไปและให้หยุดปฏิบัติการสืบสวนทันที FBI จึงยุติการปฏิบัติหน้าที่สืบค้นพยานหลักฐานภายใน Black Mountain College พวกเขาใช้เวลาประมาณพียงเดือนเศษ ภูเขาสีดำได้ถูกปกคลุมไปด้วยความสิ้นหวัง
การเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด และปิดตัวลงด้วยขาดทุนรอนสนับสนุนในการจัดการศึกษาจนอีกหลายทศวรรษ Black Mountain College ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในสถาบันทดลองด้านการศึกษาที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโลกเช่นเดียวกับสถาบันเบาเฮาส์ซึ่งถูกนาซีสั่งปิด
Chapter: V
หลังจากที่ John Andrew Rice (1888 – 1968) นักสังคมศาสตร์-นักการศึกษาหัวก้าวหน้า Theodors Dreier (-1997) วิศวกร-นักการศึกษา เพื่อน ๆ และนักศึกษาบางส่วนถูกขับไล่จาก Rollins College เมือง Winter Park รัฐฟลอริดา เนื่องจากพวกเขาประท้วงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา
Rice และ Dreier ร่วมกันก่อตั้ง Black Mountain College ขึ้นในปี ค.ศ. 1933 โดยได้ริเริ่มวางรากฐานแนวทางการศึกษาสหศาสตร์ด้วยดุลยภาพในความเป็นมนุษย์ การลงมือกระทำ และศิลปะในฐานะศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และเปิดเสรีการศึกษา
ภาพ: BMC Left: Studies Building, Designed in 1940 by A. Lawrence Kocher, the building was completed in 1941. An image in 2007
John Andrew Rice ได้ทะลายกำแพงชนชั้นระหว่างผู้สอนกับผู้ศึกษา และสร้างชุมชนการศึกษาหัวก้าวหน้าด้วยการทดลองต่าง ๆ ในเชิงสหวิทยาการตามหลักปรัชญาการศึกษาของ John Dewey ซึ่งเชื่อว่าการศึกษานั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการกระทำ (Learn by doing) และอาศัยมือของเราเองเป็นผู้สอน
หลักปรัชญาปฏิบัตินิยม (pragmatism) ตามทัศนะของ Dewey นั้นเชื่อว่าประสบการณ์ตรงตามที่เป็นจริงจากการลงมือปฏิบัติของมนุษย์จะนำไปสู่ความรู้และความจริง
แนวทางปฏิรูปการศึกษาของ Dewey ระบุว่าไม่เพียงนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นผู้เรียน แต่ความสำคัญของหลักการศึกษาแบบก้าวหน้าจำเป็นต้องอาศัยการมีประสบการณ์ร่วมกันของผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญ
โดยเน้นให้ผู้สอนทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลพื้นฐาน จากนั้นต้องส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่มซึ่งนั่นคือกลไกที่ทำให้นักศึกษาเกิดการปะทะสื่อสารพูดคุยหรือแม้แต่การโต้แย้งถกเถียง
Dewey มองว่านี่คือคุณค่าในความร่วมมือกันของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ผู้สอนจำเป็นต้องเฝ้าสังเกตต่อความสนใจและเป้าหมายของนักศึกษา และช่วยนักศึกษาพัฒนาแนวทางและทักษะในการแก้ปัญหา
แน่นอนว่าปรัชญาการศึกษาของ John Dewey (1859-1952) คือขั้วตรงข้ามกับปรัชญาแนวคิดของ Benedetto Croce (1866-1952) ซึ่งเชื่อในจิตนิยม และเชื่อว่าการสำแดงออกของอารมณ์ความรู้สึกนั้นคือเนื้อตัวของศิลปะมิใช่ความคิดเชิงเหตุผล
“ศิลปะเป็นมโนคติอันบริสุทธิ์ของศิลปิน” คำกล่าวของ Croce แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการเข้าถึงมโนทัศน์ของผู้สร้างผลงานศิลปะไม่มากก็น้อย ในกรณีนี้ปรัชญาสุนทรียศาสตร์ตามแนวคิดจิตนิยมสัมบูรณ์ของ Croce ได้ส่งผลให้ความจริงแท้กลายเป็นโลกภายในที่คู่ขนานไปกับปรากฏการณ์ของโลกภายนอก
การสำแดงอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกศิลปินจึงกลายเป็นช่องทางที่ทรงพลัง ในการเชื่อมโยงโลกความจริงทั้งสองด้านเข้าหากัน ศิลปะในทัศนะของ Croce จึงเป็นญาณทัศน์ที่นำพาศิลปินเข้าถึงโลกความจริงภายในตนเองซึ่งเป็นโลกที่ บริสุทธิ์กว่าโลกความจริงภายนอก
ญาณทัศน์หรือจินตภาพการหยั่งเห็นภายในใจนั้นเป็นสิ่งทางทฤษฏี มิใช่สิ่งที่เน้นไปในทางปฏิบัติเนื่อง จากศิลปะที่แท้จริงเป็นขบวนการที่สำเร็จเสร็จสิ้นสมบรูณ์ภายในหัวของศิลปิน
ในขณะที่ศูนย์กลางการเรียนรู้ตามแนวทางการศึกษาของ Dewey เชื่อว่าศิลปะเป็นเพียงเครื่องมือพื้นฐานในการสร้างประสบการณ์ทำให้มนุษย์เรียนรู้ความจริงตามที่มันเป็นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
The Essence of Aesthetics: Benedetto Croce / Art as Experience: John Dewey
แน่นอนว่าปรัชญาสุนทรียศาสตร์ของ Dewey ซึ่งมีความย้อนแย้งในตัวเองได้ถูกโจมตีโดย Croce เช่นกัน ถึงขนาดมีการกล่าวหาว่า Dewey ขโมยแนวคิดและผลงานของตนพร้อมข้อหักล้างที่ว่าแนวคิดของDewey นั้นมิได้วางอยู่บน รากฐานของปรัชญาแนวปฏิบัตินิยม
โดยเฉพาะหนังสือ Art as Experience นั้นถูกโจมตีว่าเป็นงานนิพนธ์ที่ใช้หลักปรัชญาของHegelไม่ต่างอะไรจากแนวคิดของ Croce ซึ่งประกาศตนว่าเป็นเฮเกลเลียนศึกษาและสนับสนุนความเป็นอภิมนุษย์ของศิลปิน
นิพาดา เทวกุล ระบุในงานวิจัยเรื่องความคิดทางสุนทรียศาสตร์ของ Croce เกี่ยวกับความหมายของศิลปะอธิบายว่า Croce มีทัศนคติต่อศิลปินว่าแตกต่างไปจากช่างไม้ช่างทอง ฯลฯ อย่างสิ้นเชิง เพราะใคร ๆ ก็เป็นช่างไม้ที่มีความสามารถได้เมื่อทำการฝึกฝนอย่างยาวนาน แต่ศิลปินที่แท้นั้นไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ ถึงแม้คนนั้นจะรู้วิธีลงสีหรือวิธีการแกะสลักก็ตาม เขาเชื่อว่าศิลปินที่แท้ไม่สามารถสร้างหรือฝึกหัดกันได้ ศิลปินจึงเป็นบุคคลพิเศษที่สามารถใช้ภาษาที่มิใช่ภาษาดังเดิมของมนุษย์ (Primitive languages)
มุมมองของ Croce ต่อศิลปินว่าคือผู้ที่สามารถมองเห็นความงามในสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายกว่าคนธรรมดา ๆ จึงหมายความว่า คนธรรมดาไม่มีญาณทัศน์ (Intuition) อย่างที่ศิลปินมี
ปัญหาเชิงทฤษฏีระหว่าง Croce และ Dewey ในความเห็นของผู้เขียนมองว่า หากพิจารณาปัญหาเชิงปรัชญาจะพบว่าทั้งสองชุดแชร์พื้นที่แนวคิดจิตนิยมของเฮเกลร่วมกัน ความแตกต่างที่สังเกตชัดระหว่างทั้งสองคือการที่ Dewey ผสานแนวคิดจิตนิยมเข้ากับแนวคิดวิวัฒนาการของดาร์วิน
ยังผลให้ปรัชญาแนวคิดของ Dewey ปฏิเสธความเป็นอภิมนุษย์ โดยตอกย้ำแนวคิดปฏิบัตินิยมที่ถือว่าความรู้ทุกชนิด เกิดจากประสบการณ์ตรงทางประสาทสัมผัส เช่น ตา หู จมูก ลิ้น ร่างกาย
เมื่อกล่าวถึงทัศนะแห่งความเป็นจริง ปฏิบัตินิยมจะเน้นผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ใช้สอยมากกว่าอภิปรัชญา และเป็นไปได้ว่าปรัชญาของ Dewey มีฐานความคิดเชิงประจักษ์นิยมแบบ Kant และจิตนิยมแบบเฮเกล แต่เขามิได้ปฏิเสธปรัชญาเหตุผลนิยม
รายละเอียดของประเด็นปัญหาอาจช่วยให้เราทำความเข้าใจถึงจุดแตกหักหรือความแตกต่างระหว่าง Croce และ Dewey ได้อย่างมีนัยสำคัญ
โปรดติดตามตอนต่อไป
เอกสารอ้างอิง
ส่วนหนึ่งจากบทความ: การสืบสวนสอบสวนของ FBI ที่วิทยาลัยศิลปะ Black Mountain โดย: Carmelo Pampillonio & Chava Krivchenia