Longtruk News 03: บทความโดย 01610084
- ภาพโดย : จันทร์เจ้า
- บรรณาธิการ : ภาอรุณ
กลุ่มศิลปิน WHISTLEBLOWER ผู้จัดนิทรรศการ “Sotus Objects มีวันนี้เพราะพี่ให้” เป็นกลุ่มศิลปินที่จบการศึกษา และกำลังศึกษาในสถาบันศิลปะรั้วศิลปากรและไม่เห็นด้วยกับระบบโซตัส[1] ได้บอกเล่าเหตุการณ์ในกิจกรรมการรับน้องของคณะจิตรกรรมฯ ตั้งแต่เริ่มต้นจนไปถึงจุดที่แสดงร่องรอยบางอย่างปรากฏทิ้งไว้ ผ่านการสะสมวัตถุและสร้างผลงานที่บรรจุความจริงจากการนำระบบโซตัสมาใช้ในสถาบันศิลปะแห่งนี้
“Sotus Objects มีวันนี้เพราะพี่ให้” Exhibition at EX SPACE,ART CENTRE Silpakorn University, Sanam Chandra, Nakorn Pathom
ในยุคสมัยที่การเมืองกำลังผลิบาน ผู้คนมีการตื่นรู้ทางการเมือง ทำให้ศิลปะได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารผ่านกระบวนการทางความคิด ตกผลึกจากประสบการณ์ที่ตกกระทบ และถ่ายทอดออกมาผ่านวิธีการที่ไม่จำกัด ขับเน้นถึงปัญหาสังคมและสะท้อนให้เกิดการตั้งคำถามถึงอำนาจซ่อนเร้นที่อาจกระทำต่อเราอยู่
ทว่าภายใต้เสรีทางความคิดยังถูกกดทับไว้ด้วยค่านิยมของสถาบันศิลปากร ซึ่งมีผลมาจากการทำงานรับใช้ ‘ระบบศักดินา’ และผูกพันกับชนชั้นนำที่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเมืองและศิลปะของประเทศไทยมาอย่างช้านาน ความแข็งแรงด้านมูลค่าของสถาบันนี้จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อศิลปิน ราคาผลงาน หรือใครเป็นผู้ครอบครองผลงานเท่านั้น หากรวมไปถึงการสร้างผลผลิตที่จะรักษาฐานความมั่นคงของสถาบันนี้ให้อยู่รอดต่อไปภายใต้วงการศิลปะที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดของประเทศไทย สถาบันศิลปากรจึงได้สร้างอัตลักษณ์ของ “ศิลปากรนิยม” ขึ้น ด้วยการนำเอาระบบโซตัสมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างความภักดีและแสดงความรักต่อสถาบันอย่างเข้มข้น โดยได้ถูกหล่อหลอมและส่งต่อมายังรุ่นสู่รุ่น
“Sotus Objects มีวันนี้เพราะพี่ให้” Exhibition at EX SPACE,ART CENTRE Silpakorn University, Sanam Chandra, Nakorn Pathom
เริ่มแรกเมื่อนักศึกษาปีหนึ่งย่างเท้าเข้ามาในรั้วสถาบัน พิธีกรรมการรับน้องในรูปแบบของระบบโซตัสก็เริ่มต้นขึ้น ภายใต้หลังคาสถาบันที่ใช้บทเพลง “ศิลปากรนิยม” ขับกล่อมนักศึกษาให้คำนึงถึงจรรยาบรรณของศิลปิน ให้สร้างงานศิลปะเพื่อมนุษยธรรม แต่ดูเหมือนว่าเนื้อหาของบทเพลงจะไม่สามารถทำให้ศิลปินในอนาคตทั้งหลายตระหนักได้ว่ากิจกรรมที่อ้างระบบพี่น้องนั้นเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์และละเมิดสิทธิเสรีภาพในร่างกายที่ทุกบุคคลควรจะพึงมี
ในมุมมองของนักศึกษาปีหนึ่งที่เข้ามาคงหวังว่าจะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น ร่วมสร้างความทรงจำสานมิตรภาพในช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และเลื่อนสถานะจากนักเรียนมาเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยอันเป็นแหล่งบ่มเพาะทางปัญญา ทั้งยังเป็นสถาบันอันทรงเกียรติที่ตนเองได้วาดฝันไว้ แต่ทว่ากิจกรรมรับน้องนั้นถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้อำนาจโดยผู้อาวุโสกว่า โดยใช้การกระทำผ่านการสร้างสถานการณ์จำลองเรื่องราวรันทดของชีวิต เร่งถักทอความผูกพันภายใต้แรงกดดันภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน เริ่มจากการลบตัวตนเก่า สร้างตัวตนใหม่ซึ่งถูกกำหนดโดยทัศนะของคนจำนวนหนึ่ง คือ การลบชื่อที่ติดตัวและเปลี่ยนมาใช้ชื่อใหม่
Exhibition view : “Sotus Objects มีวันนี้เพราะพี่ให้” at EX SPACE,ART CENTRE Silpakorn University, Sanam Chandra, Nakorn Pathom
ในผลงานที่มีวลี “ต่อไปนี้คุณชื่อ…” ถูกปักด้วยด้ายสีเขียว Veridian ลงบนเสื้อนักศึกษา บ่งบอกถึงการครอบครองอำนาจของรุ่นพี่ในจุดที่สามารถกำหนดชื่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ในบุคคลนั้นๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่ผูกติดไว้กับรุ่นน้องตลอดระยะเวลาหลังจากได้รับมอบชื่อใหม่ ชื่อที่ถูกตั้งใหม่อาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ เช่น การนำเอาสถานที่ภูมิลำเนาบ้านเกิดมาใช้เรียก หรือนำเอาลักษณะบุคลิกของบุคคลนั้นมาผสมเข้ากับตัวตนที่ถูกสร้างจากโลกอื่น (โฆษณา/ภาพยนต์/ละคร) ในเชิงขบขัน การพยายามเปลี่ยนและชำระสิ่งที่เป็นมาก่อน เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างสายธารอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปากร และอาจพูดได้ว่าวัฒนธรรมการล้อเลียนได้ฝังรากลึกจนกลายเป็นอุปนิสัยที่นิยมนำมาใช้สร้างความสนิทสนมของสถาบันแห่งนี้เสียแล้ว
“ต่อไปนี้คุณชื่อ…”
เนื่องจากต้องต่อสู้กับความกดดันอย่างหนักหน่วงเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้ที่มาก่อน นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งคงต้องยอมละทิ้งสิทธิในร่างกายเพื่อแลกกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันที่เฝ้าฝันไว้ให้ได้
ดังผลงานหนึ่งในนิทรรศการ นำเสนอภาพถ่ายที่ถูกนำมาขยายใหญ่ ปรากฏเป็นภาพชายคนหนึ่งสภาพเปลือยเปล่า ยืนตรง มองไปข้างหน้า ได้หยิบยกเหตุการณ์ถูกบังคับอาบน้ำรวมของนักศึกษาชายในช่วงการรับน้องมาแสดงไว้ในพื้นที่นี้ บ่งบอกสภาพความเป็นจริงที่เคยเกิดขึ้นว่า การจ่ายสิทธิในร่างกายมีราคาสูงถึงขนาดที่ยอมปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถสั่งให้ถอดเสื้อผ้าทุกชิ้น และก้าวเข้าไปอาบน้ำร่วมกับผู้อื่นจำนวนหลายสิบคนในห้องเดียวกัน ขณะที่อยู่ในสถานะนักศึกษา และเหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัย เสื้อผ้าสีดำที่เหล่านักศึกษาปีหนึ่งถอดกองไว้ปะปนกับของเพื่อนร่วมรุ่นก็ถูกนำมาจัดแสดงด้วย กองเสื้อผ้านี้เป็นสัญญะของการละลายตัวตนเข้าด้วยกัน จำต้องยอมรับกันและกันให้ได้ เพื่อพิสูจน์ให้รุ่นพี่เห็นและเชื่อฟังคำสั่งอย่างไม่ขัดข้องด้วยการใส่เสื้อผ้าที่สุ่มหยิบด้วยความเร่งรีบ อีกทั้งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าชุดชั้นในและเสื้อผ้าที่ใส่เป็นของเพื่อนคนใด
Exhibition view : “Sotus Objects มีวันนี้เพราะพี่ให้” at EX SPACE,ART CENTRE Silpakorn University, Sanam Chandra, Nakorn Pathom
บริเวณด้านบนทางซ้ายมือของกองชุดสีดำ เป็นภาพที่มีต้นแบบมาจากผลงาน “The Black Square” ของ Kazimir Malevich ถูกทำขึ้นมาใหม่ในชื่อ “The Black Square Room” นำบรรยากาศภายในห้องมืดมาไว้บนเฟรมผ้าใบ เมื่อกล่าวถึง “ห้องมืด” แล้ว การปิดตาด้วยบรรยากาศถูกนำมาใช้ในกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนปิดทึบบนอาคารของสถาบันศิลปะแห่งนี้ ได้ใช้เครื่องมือที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของระบบโซตัส คือ การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว มีเพียงเสียงตะโกนดังก้องทั่วพื้นที่สี่เหลี่ยมตลอดเวลา ไม่สามารถมองเห็นใบหน้าของผู้พูดได้ เพราะความมืดได้ปกปิดเนื้อหนังของบุคคลเหล่านั้นไว้หมดแล้ว
“ห้องมืด” เป็นอุบายชั้นดีที่จะนำมาใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแห่งการพิสูจน์ตนเอง ภายใต้สถานการณ์ที่กดดันอย่างเข้มข้น ยิ่งจะทำให้นักศึกษาปีหนึ่งเชื่อว่าจะต้องปฏิบัติตนตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดและจะไม่ตั้งคำถามต่อสิ่งที่ต้องแบกรับไว้ ด้วยชุดความคิดที่ถูกปลูกฝังมาว่า
“หากศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้นผ่านเหตุการณ์นี้มาแล้ว เราก็จะต้องผ่านไปให้ได้”
ความกดดันจะยิ่งไต่ระดับความรุนแรงตามวันที่ใกล้สิ้นสุดกิจกรรมรับน้อง จะเห็นได้ว่าบรรยากาศของห้องมืดมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมรุ่น ให้เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ผ่านวิกฤตชีวิตซึ่งถูกจำลองขึ้นมาโดยรุ่นพี่ หากพิจารณาแล้วภายในห้องสี่เหลี่ยมไร้แสงสว่างนั้นก็คือ พื้นที่ที่ถูกใช้ในการปลดปล่อยอำนาจของผู้อาวุโสอย่างไม่มีขีดจำกัด แม้กระทั่งกฏหมายและมนุษยธรรมที่ควรพึงมีเองก็ตาม
Exhibition view : “Sotus Objects มีวันนี้เพราะพี่ให้” at EX SPACE,ART CENTRE Silpakorn University, Sanam Chandra, Nakorn Pathom
การอยู่ในสถานะนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง ถือได้ว่าเป็นสถานะของผู้ด้อยอาวุสโส เปรียบเสมือนชนชั้นล่างสุดในระบบที่ให้ความสำคัญกับชั้นปีและอายุที่มากกว่า การสร้างสถานการณ์เพื่อกระตุ้นความกระหายให้ได้มาซึ่งการยอมรับของรุ่นน้อง เป็นประเพณีปฏิบัติที่ถูกกำหนดมาให้ใช้ระบบโซตัสสร้างมิตรภาพและความผูกพันภายใต้สถานการณ์กดดันที่แลกมาด้วยการถูกล่วงละเมิดและข่มขู่คุกคาม
การได้เป็นส่วนหนึ่งในสถาบันอันทรงเกียรติและได้เดินตามรอยเท้าของศิลปินต้นแบบ อาจมีราคาที่ต้องจ่ายด้วยปมบาดแผลด้านจิตใจที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในทางขัดแย้งของศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นนั้นได้สะท้อนคุณค่าขององค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ถูกสะสมมาอย่างยาวนาน ขณะที่ศิลปินและนักศึกษาอาวุโสได้ผลิตผลงานภายใต้สถาบันที่ยินยอมและเพิกเฉยต่อการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพเช่นนี้ ผลงานที่ผลิตออกมายังคงความบริสุทธิ์และศิลปินยังดำรงอยู่เพื่อมนุษยธรรมหรือไม่ และการรักษาความมั่นคงของสถาบันจำเป็นต้องนำระบบโซตัสที่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาใช้กับนักศึกษาหรือไม่ คำถามนี้อาจสะท้อนไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมของการกดขี่นี้ขึ้นมา
นอกจากผลงานที่กล่าวมาข้างต้น ผลงานชิ้นอื่นของกลุ่มศิลปิน WHISTLEBLOWER ในนิทรรศการ “Sotus Objects มีวันนี้เพราะพี่ให้” ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นวัตถุหลักฐานและเสียดสีระบบโซตัสที่เกิดขึ้นในกิจกรรมรับน้องของคณะจิตรกรรมฯ เพื่อระลึกและย้ำเตือนว่าความเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นไม่ควรถูกทำให้หายไปอย่างไร้ร่องรอย แต่ควรปรากฏให้เห็นอยู่ต่อไปเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของระบบที่สร้างบาดแผลต่อมนุษย์ไม่ว่าคนใดคนหนึ่ง และลดทอนระบบอุปถัมภ์ที่เอื้อให้เกิดอำนาจนิยมอันเต็มไปด้วยคติของการใช้อำนาจเหนือมนุษย์ด้วยกัน
Exhibition view : “Sotus Objects มีวันนี้เพราะพี่ให้” at EX SPACE,ART CENTRE Silpakorn University, Sanam Chandra, Nakorn Pathom
นิทรรศการ Sotus Objects มีวันนี้เพราะพี่ให้ จัดแสดงที่ EX SPACE (เป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร, ปรัชญา พิณทอง และ the Centre Pompidou ประเทศฝรั่งเศส มีการถ่ายทอดภาพจากกล้องวงจรปิดสู่พื้นที่ออนไลน์ เพื่อเป็นพื้นที่รองรับการสร้างสรรค์ในศาสตร์ต่างๆ กิจกรรมศิลปะและนิทรรศการตลอดปี)
ณ หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์
ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563
เอกสารอ้างอิง
[1] โซตัส (SOTUS) เป็นตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษของคำว่า “Seniority Order Tradition Unity Spirit” ถูกแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "อาวุโส ระเบียบ ประเพณี สามัคคีธรรม และจิตวิญญาณ" ต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนทหารที่ชื่อ Sandhurst ประเทศอังกฤษ