Technology now?

บทความโดย : Atsushi Bunmeewiset

บรรณาธิการ : ภาอรุณ

ลองนึกภาพตามกันดูว่าคุณกำลังเดินเข้าไป ณ สถานที่แห่งหนึ่งที่มืดสนิท จู่ ๆ ไฟข้างบนหัวก็กระพริบเปิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ นาทีนั้นคุณรู้สึกกลัวมากว่า มันคือพลังงานที่ ‘มองไม่เห็น’ ไปจนถึงอาจนึกได้ว่าเป็นผีหรือวิญญาณ แค่คิดก็ต้องพยายามเดินให้พ้นสถานที่นั้นโดยเร็วที่สุดแล้ว แต่สุดท้ายคุณก็มาทราบภายหลังว่า มันคือไฟที่เปิดอัตโนมัติโดยจับเซ็นเซอร์จากคนเดินผ่าน ทันใดนั้นคุณก็เลิกกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นฉับพลัน เพราะสรุปแล้วมันเป็นผลที่เกิดจากการทำงานของ ‘เทคโนโลยี’ นั่นเอง เรื่องที่ยกตัวอย่างมาอาจเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ดูไม่ค่อยมีผลกระทบกับตัวเรามากนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ การที่เทคโนโลยีทำให้สิ่งที่ดูไม่ปกติให้กลายเป็นเรื่องปกติไปได้ แท้จริงแล้วนั้น ‘พลังงานที่มองไม่เห็น’ กับ ‘สิ่งที่มองไม่เห็น’เช่นกันอย่างเทคโนโลยีนั้น สิ่งใดที่มีพลังอำนาจหรือความน่ากลัวมากกว่ากัน?

การทำงานในลักษณะอัตโนมัติพบเห็นในชีวิตประจำวันได้บ่อยมาก อาจเพียงแค่คุณเสิร์ชหาสินค้าที่ต้องการภายในแอพพลิเคชั่นหนึ่ง หลังจากนั้นแอพก็นำเสนอสินค้าที่คุณต้องการ หรือเกี่ยวข้องมาให้อย่างไม่หยุดเสียจนเลือกไม่ถูก หรือบางทีไม่ต้องเสิร์ชหา แค่คุณคุยกับเพื่อนในแชทส่วนตัวของบางแอพ สินค้าที่คุณต้องการก็เสนอขึ้นมาให้เลือกในหน้าฟีดของแอพอื่นได้ แม้แต่ช่วงนี้ที่ต้องสแกนแอพพลิเคชั่นหนึ่งเพื่อเข้าไปใช้บริการในห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีแค่โทรศัพท์เครื่องเดียว คุณก็สามารถเข้าไปใช้บริการในห้างพร้อมกับการได้ควบคุมโรคโควิด 19 ไปพร้อมกันได้ด้วย แล้วหลังจากนั้นมันจะไม่มีผลอะไรกับตัวเราเลยหรือ? คุณอาจนึกไม่ถึงว่าเบื้องหลังของความเป็นอัตโนมัติ หรืออำนาจของเทคโนโลยีที่แสนสะดวกสบายเหล่านี้จะมีผลต่อชีวิตเราอย่างไรบ้าง

ด้วยเทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่มีเป้าหมายในตนเองอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นเนื้อแท้อันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังนั้นเทคโนโลยีจึงไม่ได้เป็นอันตรายโดยตัวของมันเอง แต่เป็นการนำไปสู่สิ่งที่อันตราย นั่นคือ มุมมองของมนุษย์ที่เชื่อว่าตนเองสามารถ ‘ควบคุม’ และ ‘เข้าใจ’ ทุกสิ่งได้อย่างเบ็ดเสร็จนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายยิ่งกว่า! เพราะมันได้ปิดกั้นตัวตนของมนุษย์เองแยกออกและอยู่เหนือกว่าทุกสรรพสิ่ง แต่แท้จริงแล้วนั้น มนุษย์เองกำลังอยู่ภายใต้กรอบที่เทคโนโลยีกำลังค่อย ๆ วางไว้ให้อย่างไม่รู้ตัว และที่น่ากลัวไปกว่านั้นไม่เฉพาะการมองว่าวัตถุอื่นเป็นทรัพยากรเพื่อใช้ แต่เป็นการที่มนุษย์มองมนุษย์ผู้อื่นว่าเป็นทรัพยากรไปด้วย ซึ่งเทคโนโลยีจะไม่สามารถทำงานได้หากปราศจากคนออกคำสั่ง และหากเมื่อใดที่ผู้ใช้ ใช้งานอย่างไม่รู้เท่าทัน ก็จะกลายเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบได้ในทันที

หรือว่ามนุษย์เรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า ‘ยุคมืดใหม่’ (New Dark Age) กันอยู่ ?

_______________________________________________________

‘ยุคมืดใหม่’ เกิดขึ้นโดย James Bridle ผู้เสนอแนวคิดไว้ เกี่ยวกับการที่มนุษย์ได้รับผลโดยตรงจากเทคโนโลยี ตีแผ่ด้านที่มองไม่เห็นของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้พยายามอธิบายสภาวะที่โลกเต็มไปด้วยเทคโนโลยี หรือข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมาย จนไปถึงมีความซับซ้อนเกินจากความเข้าใจที่มนุษย์จะไปถึง มนุษย์จึงตกอยู่ท่ามกลางความไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับ สังคมของผู้คนในยุคกลาง (Middle Age) ซึ่งถือว่าเป็นยุคมืดในสังคมของมนุษย์ ในยุคมืดใหม่นี้เทคโนโลยีได้ป้อนข้อมูลจำนวนมากเข้ามาสู่การรับรู้ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ social media ไปจนถึงการทำความเข้าใจสังคม และวัฒนธรรมในแต่ละแพลทฟอร์มที่แตกต่างกัน จึงเกิดช่องว่างระหว่างคนที่รู้ และคนที่ไม่รู้ขึ้น แม้จะมีข้อมูลจำนวนมากมายเท่าไหร่ แต่การประมวลผลและความแม่นยำนั้นกลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้กำลังบอกให้เห็นถึงพลวัตรใหม่ที่เกิดขึ้นภายในยุคนี้ ซึ่งทำให้เห็นทิศทางในปัจจุบันที่นำไปสู่อนาคตอันมืดดำ

จากที่เทคโนโลยีเคยมอบทางเลือกให้กับมนุษย์แบบวงกว้างนั้นกำลังค่อย ๆ บีบ และทำให้มนุษย์เหลือทางเลือกที่น้อยลงเรื่อยๆ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการคุกคามอย่างต่อเนื่อง จนมนุษย์กำลังถูกทำให้เป็นข้อมูลจากอิทธิพลของเทคโนโลยีที่กำลังเข้าถึงข้อมูลของตน จนวันหนึ่งเราในฐานะ ‘ผู้ใช้’ อาจกลับกลายเป็น ‘สินค้า’ ในแบบที่แนบเนียนจนเราคาดไม่ถึง ขณะเดียวกันในยุคนี้ การทำงานในตัวแบบคณิตศาสตร์ (Algorithms) ก็ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเข้ามาควบคุมชีวิตประจำวัน จนกลายสภาพเป็น ‘ชีวอำนาจ’ ในรูปแบบหนึ่งตั้งแต่การเลือกเพลงในแอพลิเคชั่น การสมัครเรียน การประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงิน หรือแม้แต่การยอมรับการตั้งค่าเริ่มแรกของฟังก์ชั่นในโทรศัพท์มือถือที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดมาที่เราก็ยังใช้อยู่ในทุก ๆ วันโดย น้อยครั้งที่เราจะเปลี่ยนหรือหาทางเลือกใหม่ เพราะเราคิดว่า ‘มันเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว’ นั่นเอง

เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลนี้ (Digital Age) อาจเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหม่ และยิ่งใหญ่ของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งพัฒนาปรับตัวมีความซับซ้อนขึ้นตามยุคสมัย จนมีผลต่อความคิดความอ่านของคนในหลากหลายแง่มุม รวมไปถึงเป็นปัจจัยในการควบคุมเศรษฐกิจ การเมือง และการเป็นเครื่องมือในการควบคุมมนุษย์ด้วยกันเอง ดังนั้นจึงเป็นคำถามที่คนในยุคเราต้องขบคิดกันว่า การที่จะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างอันแข็งแรงของอำนาจอันไร้ตัวตนนี้ อาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพยายามหาหนทาง หากเรากำลังเป็นหนึ่งในผู้ที่กำลังรับรู้ถึงโครงสร้างอำนาจของสิ่งเหล่านี้ การแก้ปัญหาอาจต้องเริ่มจากการที่ตัวเราต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่าตรงไปตรงมา เพื่อตระหนักว่าใครกันแน่คือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากการใช้เทคโนโลยี จึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถสร้างความเข้าใจให้แก่ตัวเราและผู้อื่น โดยที่เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจควบคุมทั้งหลาย ไปจนถึงสามารถสร้างความปลอดภัย

และเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม

หากสนใจสามารถอ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ :

 หนังสือ New Dark Age : Technology and the End of the Future เขียนโดย James Bridle
 หนังสือ Radical Technologies : The Design of Everyday Life เขียนโดย Adam Greenfield
 หนังสือ Power Unbound - อำนาจไร้พรมแดน เขียนโดย ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร 

Leave a Comment