Longtruk Film #5 : บทความโดย Prague Doctor
ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) รัสเซียสนับสนุนจีนให้ยึดครองเกาหลี ญี่ปุ่นจึงหวาดวิตกการพยายามขยายอำนาจของรัสเซีย จึงเปิดการเจรจากับรัสเซียแต่รัสเซียไม่ตอบรับ
5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) ญี่ปุ่นประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการฑูต และอีกสามวันถัดมาก็เกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ซึ่งกินเวลา 1 ปี 6 เดือน สงครามครั้งนี้ทำให้กระแสความรักชาติก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนต่างร้องเพลง “God Save the Tsar” อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาไม่ถึงห้าเดือนนับแต่สงครามเกิดขึ้น รัสเซียก็เป็นฝ่ายปราชัยเป็นส่วนใหญ่
ในปลายปี ค.ศ. 1904 ญี่ปุ่นสามารถครองอำนาจทางทะเลได้เด็ดขาด ช่วงเวลาเดียวกันสมัชชาแรงงานรัสเซีย (Assembly of Russian Factory and Workshop Workers) ก็เคลื่อนไหวนัดหยุดงานทั่วไป มีกรรมกรและครอบครัวเข้าร่วมกว่า 200,000 คน ได้เดินขบวนไปยังพระราชวังฤดูหนาวเพื่อถวายฎีกาแก่ซาร์ นิโคลัสที่ 2 กองทหารองครักษ์คอสแซคพยายามแยกสลายขบวนมวลชนด้วยการยิงข่มขวัญและได้รับคำสั่งให้ยิงผู้เดินขบวนได้ การเดินขบวนอย่างสงบและสันติกลายเป็นการนองเลือดที่เรียกชื่อในเวลาต่อมาว่า “วันอาทิตย์นองเลือด” (Bloody Sunday)
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1905 การก่อจลาจลของทหารเรือและกลาสีเรือรบโปเทมกิน (Potemkin) ในทะเลดำที่ผู้บังคับการเรือและกลาสีเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ทำให้สถานการณ์ทางสังคมและการเมืองเลวร้ายลง อีกทั้ง ซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงมีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับฝ่ายกบฏและให้จับกุมผู้นำมาลงโทษหนัก รัฐบาลจึงประกาศกฎอัยการศึกและยื่นคำขาดให้ฝ่ายกบฏยอมจำนนทั้งเตรียมการกวาดล้างใหญ่ จนท้ายที่สุดกบฏโปเทมกิน (Potemkin Mutiny) ก็ยอมจำนนในกลางเดือนมิถุนายน¹
หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 (ล้มระบอบซาร์) พรรคบอลเชวิกก็พยายามวางกรอบนโยบายการดำเนินงานเพื่อโน้มน้าวประชาชนให้มีศรัทธาเชื่อมั่นในอำนาจใหม่และยอมรับอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนิน เลนินจึงเสนอให้เปิดแนวรบด้านวัฒนธรรม แนวคิดของเลนินจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างงานศิลปะและวัฒนธรรมโซเวียตซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่าสัจนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Realism) คำว่า “โซเวียต” มีนัยถึงการแตกหักจากอดีต การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนเพื่อวางรากฐานการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ใต้ร่มธงแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ ศิลปวัฒนธรรมโซเวียต จึงเป็นการเปิดศักราชใหม่ของศิลปวัฒนธรรมใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพที่สร้างและพัฒนาขึ้นโดยมีเงื่อนไขทางการเมืองเป็นตัวกำหนด²
ตามแนวคิดของสำนักมาร์กซิสม์ (Marxism) มองว่า ภาพยนตร์เป็น “การประกอบสร้างความเป็นจริง”(Constructionism) นั่นก็ขึ้นอยู่กับอำนาจความเป็นเจ้าของภาพยนตร์ในการกำหนดสิ่งที่เห็นในภาพยนตร์ตามแต่ผู้ที่มีอำนาจในภาพยนตร์ ภาพยนตร์ได้ซุกซ่อนโลกทัศน์ หรืออุดมการณ์บางอย่าง³
โปสเตอร์ภาพยนตร์ Battleship Potemkin (1925)
Battleship Potemkin เป็นภาพยนตร์เงียบของโซเวียตในปี ค.ศ. 1925 (พ. ศ. 2468) ที่กำกับโดย Sergei Eisenstein และอำนวยการสร้างโดย Mosfilm นำเสนอการก่อกบฏในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในปี 1905 เมื่อลูกเรือของเรือประจัญบาน Potemkin ของรัสเซียก่อกบฏ
ตอนที่ 1 : คนกับหนอน
ฉากเริ่มต้นด้วยลูกเรือสองคน Matyushenko และ Vakulinchuk คุยกันถึงความจำเป็นที่ลูกเรือของPotemkin จะสนับสนุนการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในรัสเซีย เรือ Potemkin จอดอยู่นอกเกาะ Tendra กะลาสีเรือนอกหน้าที่กำลังนอนหลับอยู่บนเตียง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบห้องพักได้ทุบตีกะลาสีเรือที่กำลังหลับใหล ความสับสนวุ่นวายทำให้ Vakulinchuk ตื่นขึ้น และเขาก็กล่าวกับเพื่อนกะลาสีว่า “สหาย! ถึงเวลาแล้วที่เราต้องพูดมันออกมาทำไมต้องรอ? รัสเซียทั้งหมดลุกขึ้นแล้ว! พวกเราจะเป็นคนสุดท้ายหรือไม่”
แล้วฉากก็ตัดไปที่ตอนเช้าเหนือดาดฟ้าเรือซึ่งลูกเรือกำลังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณภาพของเนื้อสัตว์สำหรับลูกเรือ เนื้อดูเหมือนจะเน่าและมีหนอนอยู่เต็มไปหมด ลูกเรือบอกว่า “แม้แต่หมาก็ไม่กินนี่!“
Smirnov แพทย์ประจำเรือถูกเรียกให้มาตรวจเนื้อ แทนที่เขาจะบอกว่าเป็นหนอน หมอกลับบอกว่าเป็นแมลงสามารถล้างออกได้ก่อนปรุงอาหาร นายทหาร Giliarovsky บังคับให้กะลาสีเรือออกจากพื้นที่และพ่อครัวก็เริ่มเตรียมอาหารแม้ว่าเขาจะยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของเนื้อก็ตาม
ลูกเรือปฏิเสธที่จะกินมันและเลือกขนมปังกับอาหารกระป๋องแทน ขณะทำความสะอาดจาน กะลาสีเรือคนหนึ่งเห็นจารึกบนจานซึ่งมีข้อความว่า “ให้ขนมปังประจำวันแก่เราในวันนี้” หลังจากพิจารณาความหมายของวลีนี้ กะลาสีเรือก็ทุบจานและฉากก็จบลง
ตอนที่ II :โศกนาฏกรรมบนดาดฟ้าเรือ
ทหารเรือทุกคนที่ปฏิเสธที่จะกินเนื้อสัตว์จะถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานไม่เชื่อฟัง และจะต้องถูกโทษตาย ทหารเรือต้องคุกเข่าและมีผ้าใบคลุมทับ ในขณะที่ทีมยิงเดินขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือ นายทหารออกคำสั่งให้ยิง แต่เพราะคำวิงวอนของ Vakulinchuk ลูกเรือในหน่วยยิงลดปืนลงและการจลาจลก็เริ่มขึ้น ลูกเรือนั้นมีจำนวนมากกว่านายทหารและสามารถเข้าควบคุมเรือไว้ได้ นายทหารถูกโยนลงนํ้า นักบวชประจำเรือถูกลากออกจากที่ซ่อน หมอก็ถูกโยนลงทะเลเพื่อเป็น ‘อาหารของหนอน’ การก่อการร้ายประสบความสำเร็จ แต่ Vakulinchuk ถูกสังหาร
ตอนที่ III : คนตายร้องเรียก
เรือรบ Potemkin มาถึงท่าเรือโอเดสซา ร่างของ Vakulinchuk ถูกนำขึ้นฝั่งและนำร่างไร้วิญญาณแสดงต่อสาธารณะในเต็นท์ โดยมีป้ายบนหน้าอกของเขาข้อความว่า “สำหรับซุปที่เต็มช้อน” ชาวเมืองโอเดสซารู้สึกเศร้าใจ ในไม่ช้าความเสียใจก็กลายเป็นความโกรธ ซาร์และรัฐบาลของเขาก็ถูกโจมตีอย่างบ้าคลั่ง มีชายคนหนึ่งพยายามทำให้ประชาชนโกรธแค้นชาวยิว แต่เขาถูกประชาชนปฏิเสธและทุบตี ชาวเรือรวมตัวกันเพื่ออำลาครั้งสุดท้ายและยกย่อง Vakulinchuk ในฐานะวีรบุรุษ ชาวโอเดสซายินดีต้อนรับลูกเรือ แต่ตำรวจก็เริ่มปฏิบัติการในขณะที่ประชาชนกำลังรวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาล
ตอนที่ IV : ขั้นบันไดแห่งโอเดสซา
นี่คือฉากสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดีของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นฉากของขั้นบันไดโอเดสซาซึ่งเชื่อมต่อริมนํ้ากับใจกลางเมือง พลเมืองของโอเดสซาขึ้นเรือและเรือของพวกเขาแล่นออกไปที่ Potemkin เพื่อแสดงการสนับสนุนลูกเรือและบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ในขณะที่คนอื่น ๆ มารวมตัวกันที่ขั้นบันไดโอเดสซาเพื่อเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นกำลังใจให้กับกลุ่มกบฏ
ทันใดนั้นกองทหารคอสแซคที่ด้านบนสุดของขั้นบันไดเริ่มออกเดินประจัญบานเหมือนเข้าสู่สนามรบไปยังกลุ่ม พลเรือนที่ไม่มีอาวุธรวมทั้งผู้หญิงและเด็กทหารเริ่มยิง และรุกด้วยดาบปลายปืน ทหารทุกคนเป็นดั่งเครื่องจักรสังหารที่ไม่สนใจต่อคำวิงวอนร้องขอชีวิต ในขณะเดียวกันทหารม้าของรัฐบาลก็โจมตีฝูงชนที่หลบหนีที่ด้านล่างของขั้นบันได เช่นกัน ฉากโศกนาฏกรรมนี้จะมีภาพของรถเข็นเด็กที่ตกบันไดลงมา ภาพผู้หญิงถูกยิงที่ใบหน้าจนแว่นตาแตกเพื่อช่วยชาวเมือง เรือรบ Potemkin ตัดสินใจใช้ปืนของเรือรบยิงไปที่โรงละครโอเปร่าของเมืองซึ่งผู้นำทางทหารของซาร์กำลังเรียกประชุม ในขณะเดียวกันมีข่าวว่าฝูงบินกำลังจะมาปราบการก่อจลาจลของ Potemkin
ตอนสุดท้าย : หนึ่งกับทั้งหมด
ลูกเรือของ Potemkin ตัดสินใจนำเรือประจัญบานออกจากท่าเรือโอเดสซาเพื่อเผชิญหน้ากับกองเรือของซาร์ เมื่อการสู้รบดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ทหารเรือของกองเรือซาร์ก็ปฏิเสธที่จะเปิดฉากยิง กลับกันต่างร้องตะโกนเพื่อแสดงความเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกันและปล่อยให้เรือ Potemkin โบกสะบัดธงสีแดงแล่นผ่านไป
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นมาโดยอิงจากเหตุการณ์จริงแต่มีการปรับแต่งเนื้อเรื่องเพื่อนำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคบอลเชวิคอย่างชัดเจนและถ้าอ่าน plot ทั้ง 5 ตอนที่บรรยายมาจะสามารถเข้าใจถึงสิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อความคิดทางการเมืองดังนี้
- ตอนที่ 1 แสดงให้เห็นการกดขี่ทางชนชั้นและความจำเป็นของการปฏิวัติ
- ตอนที่ 2 แสดงภาพการลงโทษที่เกินกว่าเหตุของผู้กดขี่ ความกล้าหาญและเสียสละของผู้นำการปฏิวัติรวมไปถึงการลบล้างความเชื่อของศาสนาที่ร่วมมือกับชนชั้นผู้กดขี่
- ตอนที่ 3 ย้ำเตือนความชอบธรรมของการปฏิวัติ
- ตอนที่ 4 ภาพของความโหดร้าย ป่าเถื่อนของระบอบซาร์และผู้สนับสนุนที่กระทำต่อประชาชนที่ไร้อาวุธไม่มีทางสู้
- ตอนที่ 5 ให้ประชาชนจงเชื่อมั่นและรวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ธงสีแดงของลัทธมาร์กซิสต์
Eisenstein ผู้กำกับสามารถใช้ภาษาของภาพในการสื่อสารได้อย่างประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นภาพยนตร์เงียบภาษาภาพจึงมีความสำคัญยิ่ง Eisenstein ได้พัฒนาทฤษฎี Montage ขึ้น
Montage จะเป็นการปะทะกันระหว่าง Cut ต่อ Cut ภาพจะให้ Contrast สูง ทั้ง แสง เงา ความ ยาว ส่วนสูง การตัดต่อแบบนี้ จะให้ภาพที่ก่อความรู้สึกที่รุนแรงต่ออารมณ์และความคิดของผู้ดู Montage สามารถใช้แทนความหมายของการตัดต่อได้⁴
การตัดต่อแบบนี้พัฒนาขึ้นได้เพราะความขาดแคลนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นักทำหนังจำเป็นต้องเอาฟิล์มหนังเท่าที่มีมาตัดและต่อกันใหม่จนเกิดเป็นแนวความคิดในการตัดต่อแบบใหม่ขึ้น
พื้นฐานของการตัตต่อแบบ Soviet Montage คือ ช็อต A + ช็อต B = ช็อต C หรือ ตัวละคร + เหตุการณ์ = ความรู้สึก/ความหมาย
- ตัวละครใบหน้าเรียบเฉย + ถ้วยซุป = หิว
- ตัวละครใบหน้าเรียบเฉย + ร่างของผู้หญิงในโลงศพ = เสียใจ
- ตัวละครใบหน้าเรียบเฉย + เด็กผู้หญิงกับตุ๊กตาหมี = ความสุข
Eisenstein ใช้ช็อต A + ช็อต B เท่ากับ ช็อต C หรือA+B= C นั่นเอง ไอเซนสไตน์ กล่าวว่า การตัดต่อควรมีเหตุผล มีความขัดแย้งของช็อต 2 ช็อตแล้วเกิด เป็นความหมายใหม่ขึ้นมา ดังเช่นการประสมอักษรของจีน 2 ตัว แล้วเกิดความหมายใหม่ขึ้น ซึ่งเขายกตัวอย่าง ดังนี้
- คำว่า “ประตู” + คำว่า “หู” หมายถึง แอบฟัง
- คำว่า “ปาก” + คำว่า “นก” หมายถึง ร้องเพลง
- คำว่า “มืด” + คำว่า “หัวใจ” หมายถึง เสียใจ
ตัวอย่างของทฤษฎีการตัดต่อแบบขัดแย้งปะทะกันรุนแรงของ Eisenstein ได้แสดงให้ประจักษ์ไว้ในฉาก The Odessa Steps โดย Eisenstein นำช็อตที่ต่างกันมาวางต่อกันดังนี้
- ช็อตสว่าง + ช็อตมืด
- ช็อตยาว + ช็อตสั้น
- ช็อตแนวตัง้ + ช็อตแนวนอน
- ช็อตภาพระยะใกล้ + ช็อตภาพระยะไกล
- ช็อตภาพนิ่ง + ช็อตภาพเคลื่อนไหว⁵
Battleship Potemkin (1925) หนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล เคยได้รับการจัดอันดับ 1 จาก Brussels World’s Fair เมื่อปี 1958 (ครั้งแรกของโลกที่มีการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) แสดงถึงอิทธิพลความสำคัญ แม้ปัจจุบันอาจแปรสภาพหลงเหลือเพียงประวัติศาสตร์ แต่ความยิ่งใหญ่ทรงพลังของหนังยังคงอยู่ (ถ้าสามารถดูเข้าใจ) ล่าสุดเมื่อปี 2012 ได้รับการจัดอันดับสูงถึงที่ 11 จากนิตยสาร Sight & Sound ชาร์ท Critic’s Poll และอันดับ 75 ของ Director’s Poll⁶
จะเห็นได้ว่าในการชมภาพยนตร์สักเรื่องอาจจะต้องศึกษาทั้งประวัติศาสตร์และทฤษฎีการเมือง ทฤษฎีภาพยนตร์ควบคู่กันไป แล้วจะทำให้ดูภาพยนตร์ได้อรรถรสที่เปลี่ยนไป แต่ถึงเราจะไม่ได้ศึกษาหรือเข้าใจทฤษฎีเหล่านั้นเลยอรรถรสที่เราได้ก็จะเป็นอีกแบบ
ส่วนภาพยนตร์เรื่องนี้มันได้ชี้ให้เราเห็นว่า ประวัติศาสตร์ของการกดขี่และการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยการกดขี่นั้นมีอยู่ทุกยุคสมัยและทั่วทุกมุมโลก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่กดขี่จะนำพามาเป็นบทเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง ความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งกับคนอื่นและต่อตนเองหรือไม่ พวกเขาจะได้ยินเสียงร้องที่กำลังกู่ก้องในสังคมไทยว่า
“ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”
หรือไม่นั้น เราทุกคนได้แต่ภาวนาให้เขาโปรดรับฟัง…
เอกสารและภาพอ้างอิง
¹สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ, นิโคลัสที่ 2 กับอวสานของราชวงศ์โรมานอฟ = Nicolas II and the Fall of the Romanovs , (กรุงเทพ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2555), 125-126. ²อนันต์ชัย เลาหะพันธุ และสัญชัย สุวังบุตร, รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม , (นนทบุรี: ศรีปั ญญา, 2557),381. ³ม.ล.อุสุมา สุขสวัสดิ์, "รัฐกับศักยภาพของภาพยนตร์," วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม 6, 1 (มกราคม - มิถุนายน 2561): 117. ⁴ รายงานผลการดำเนินโครงงานสหกิจศึกษาเรื่อง “การผลิตสื่อวีดิทัศน์ส่งเสริมการขายงานแสดงดนตรีสดโปเตโต้ไลฟ์ (POTATO LIVE) เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ , 18 สิงหาคม – 4 ธันวาคม 2558, 1. ⁵เรื่องเดียวกัน, 2-3. ⁶ณ คอน ลับแล, Battleship Potemkin (1925), (online), 29 มกราคม 2559. https:///raremeat.blog//battleship-potemkin