Longtruk Film #1: บทความโดย Prague Doctor
คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นช่วงเวลาที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทั่วไปอย่างความร่ำรวย การผลิตที่เปลี่ยนไปสู่ยุคเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม เศรษฐกิจเสรีที่พัฒนาไปทั่วโลก บริษัทข้ามชาติทางด้านอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ประเทศอย่าง ประเทศไทย มาเลเซีย เม็กซิโก เกาหลีใต้ ไต้หวัน ประเทศจีน (1)
- ในเดือน มีนาคม ปี 1985 มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต และประกาศนโยบาย กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา ปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศยุโรปตะวันออกและทั่วโลกในเวลาต่อมา
วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา เริ่มเกิดขึ้นกลางปี 2007 และเห็นผลกระทบที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2008 บางครั้งเรียกว่า วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาและส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลก บางครั้งเรียกว่า วิกฤตซับไพรม์หรือวิกฤตหนี้ด้อยคุณภาพ (Sub-Prime Crisis) (2) ผลกระทบในครั้งนี้ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลง
ปี พ.ศ. 2523 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีโดยมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยเข้าสู่ยุค ประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยรัฐบาลพลเอกเปรมปรับทิศทางอุตสาหกรรมไทยไปสู่การส่งออกมากขึ้น รวมไปถึงการส่งออกแรงงานเพื่อนำเงินเข้าประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการดึงเอาแรงงานส่วนเกินในภาคเกษตร เข้าสู่เมืองใหญ่ภาคการเกษตรมีความสำคัญลดลง ถึงอย่างไรก็ตาม แรงงานเหล่านี้ก็ไม่ได้อพยพออกจากชนบทอย่างถาวร ยังคงเชื่อมโยงอยู่กับสังคมชนบทภายใต้ระบบการอพยพหมุนเวียนไปมาระหว่างเมืองและชนบทนั่นเอง (3)
ปี พ.ศ. 2551 นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่ม พธม.เริ่มก่อการประท้วงที่เข้มขึ้นและรุนแรงขึ้น เดือนพฤษภาคมจึงมีการฟื้นฟู นปช. ขึ้นมาใหม่เพื่อต่อต้านกลุ่ม พธม. ในการชุมนุมประท้วงของทั้งสองฝ่าย การปะทะกันเล็กๆ น้อยๆ เกิดถี่ขึ้น ฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มที่ใส่เสื้อสีเหลืองและอ้างว่าพวกเขากำลังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกฝ่ายหนึ่งใส่เสื้อสีแดงและอ้างว่ากำลังปกป้องประชาธิปไตย (4)
- 9 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ สมัคร สุนทรเวช พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลุ่ม พธม. ชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภา เพื่อไม่ให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จนต้องมีการสั่งสลายผู้ชุมนุม
- 25 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้ายึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อกดดันให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในเดือนธันวาคมศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ยุบพรรคพลังประชาชน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงยุติการชุมนุมทุกแห่งหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษา
สวรรค์บ้านนา 2526
รูปประกอบจากภาพยนต์ ‘สวรรค์บ้านนา 2526’
- สวรรค์บ้านนา 2526
- ผู้กำกับการแสดง: สุรสีห์ ผาธรรม
- บทภาพยนตร์: อุรุพงศ์ รักษาสัตย์
- นักแสดง: ปิยะ ตระกูลราษฎร์-แสงเดือน ดารา-แสงดาว-ตะวัน-ดู๋-ดี๋-แอ๊ด คาราบาว-สุชาติ-อุดม-ชวลิต-ทองมี มาลัย-ดาวใต้ เมืองตรัง-เทพพร เพชรอุบล-สนธิ สมมาตร
- ผลิตสร้าง:รุ่งกิจฟิล์ม โปรดักชั่น
- ผู้อำนวยการสร้าง:กิตติภัทร์ รุ่งธนเกียรติ
‘สวรรค์บ้านนา2526’ ภาพยนตร์เพลงที่บอกเล่าเรื่องราวของคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ที่ได้จากบ้านในชนบท (ฉากในชนบทถ่ายทำที่ จังหวัดสุรินทร์ทั้งเรื่อง) มาทำงานในกรุงเทพ เมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าฝนก็พากันกลับบ้านที่ต่างจังหวัด โดยมีนักดนตรีหนุ่ม (แอ๊ด คาราบาว) ชื่อ ถึก ถูกชักชวนให้ไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆที่บ้านนอกด้วยกัน
ในภาพยนตร์เราจะเห็นภาพของการทำนาแบบดั้งเดิม การใช้ควายไถนา การปักดำ การเก็บเกี่ยว สลับไปกับประเพณีวัฒนธรรม ทั้งบุญบั้งไฟ การร้องหมอลำ การต้อนรับขับสู้ การกินอยู่แบบคนอีสาน โดยมีแกนของเรื่องคือ ความรักของปิยะกับแสงเดือน ปิยะคือหนุ่มที่ไปทำงานกรุงเทพกลับบ้านมาพบรักกับแสงเดือน ด้วยความเป็นหนังเพลง จึงมีเพลงสลับอยู่เป็นช่วง ๆ มีทั้งลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงลูกกรุง
สวรรค์บ้านนา agrarian utopia 2552
รูปประกอบจากภาพยนต์ ‘สวรรค์บ้านนา 2552’
- สวรรค์บ้านนา agrarian utopia 2552
- ผู้กำกับ: อุรุพงศ์ รักษาสัตย์
- บทภาพยนตร์: อุรุพงศ์ รักษาสัตย์
- นักแสดง: สาย จุ่มมา, ประหยัด จุ่มมา, นิกรณ์ มุงเมือง, สมพงษ์ จุ่มมา, สมนึก มุงเมือง
สวรรค์บ้านนา agrarian utopia 2552 เป็นภาพยนตร์กึ่งสารคดี ซึ่งก็คือ ตัวบทภาพยนตร์หรือเนื้อเรื่องที่เราเห็นในหนัง เป็นเรื่องที่ settings ขึ้นมา มีการเช่าที่นาโดย production house เพื่อสร้างเป็นฉากของเรื่อง ที่มาที่ไปของตัวละครถูกแต่งเติมขึ้น นักแสดงได้ ถูกจ้างมาจากนอกพื้นที่ไม่ใช่คนในพื้นที่จริง แต่การถ่ายทำทั้งหมด คือ การไปทำนากันจริงๆในพื้นที่จริง (จังหวัดเชียงราย) เนื้อเรื่องบอกเล่าถึงเรื่องราวของชาวนาสองครอบครัวซึ่งถูกยึดที่นา ได้ร่วมทำนาบนผืนดินเดียวกัน ครอบครัวแรก เป็นครอบครัวชาวนา ที่ได้รับการศึกษาน้อย มีหนี้สินจนถูกยึดที่นาจึงต้องมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพแต่ก็ต้องพบกับความวุ่นวาย การประท้วง ภาพความขัดแย้งของคนสองฝ่าย กับอีกครอบครัว ที่เป็นครูมาก่อน มีการศึกษาดี สามารถจัดการชีวิตได้ดีกว่า ทำนาและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
สวรรค์บ้านนา ปี2526 เราจะเห็นตัวละครที่เป็นเหมือนตัวแทนของยุคสมัย เช่นแรงงานเมืองที่ก็คือชาวนาในชนบท นักศึกษาที่พ่อแม่ส่งให้เรียนสูงๆ เพื่อนนักศึกษาที่มุ่งมั่นที่จะช่วยชนชั้นแรงงาน แรงงานซาอุ รวมไปถึงนักดนตรีเพื่อชีวิต ที่ยุคนั้นเริ่มจะมีชื่อเสียงขึ้นมา ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ผู้สร้าง ที่เป็นนายทุนจากต่างจังหวัดก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนั้น เรื่องราวและตัวละครก็สะท้อนสภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนแทบทุกกลุ่ม แม้แต่เพลงประกอบภาพยนตร์ก็สื่อให้เราได้เห็นถึงการเคลื่อนที่ของวัฒนธรรมเมืองและชนบท สัมพันธ์กับการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพราะในหนังมีเพลงหลากหลายแนว ทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง หมอลำ ปิดท้ายหนังด้วยเพลงเพื่อชีวิต เพลงเพื่อชีวิตที่เริ่มเข้ามาเป็นกระบอกเสียงของชนชั้นล่างและชาวนา
สวรรค์บ้านนา ปี2552 ผู้กำกับพาเราเดินทางเริ่มจากฉากของเมือง ใน shopping center ภาพของแสงนีออน ผู้คนที่เคลื่อนไปมา ก่อนที่จะพาเราเคลื่อนสู่ฉากของชนบท ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์กึ่งสารคดี แกนของเรื่อง หรือการผูกปมตามขนบของการเขียนบทภาพยนตร์จึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ เราจะเห็นเรื่องราวที่เรียบง่ายแต่น่าสงสัยว่า พวกเขาใช้ชีวิตในแต่ละวัน อย่างไร ภาพที่เห็นก็จะเป็นการทำนา การเก็บเกี่ยวข้าวและส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบ long shot การตั้งกล้องไว้นิ่งๆเป็นเวลานานๆ ถึงแม้จะมีฉากของการประท้วงของการชุมนุมทางการเมือง แต่ผู้กำกับไม่ได้ต้องการสื่อถึงว่าการเมืองจะมีผลต่อชนชั้นชาวนามากนัก
- สวรรค์บ้านนา สองยุค สองสมัย มีจุดเชื่อมโยง คือ ที่นา ชาวนา การทำนา การโหยหาทุ่งข้าว แสงแดด และกลิ่นโคลน แต่นอกจากนั้นกลับดูเป็นจักรวาลคู่ขนานกัน
สวรรค์บ้านนา ปี2526 นำเสนอความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยได้รับอิทธิพลจากการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนสวรรค์บ้านนา2552 นำเสนอชีวิตที่ตัดขาดหรือปฏิเสธการมีอยู่ของอิทธิพลทางการเมือง มุมมองของชนชั้นกลางในยุค 2552 (เนื่องจากผู้กำกับเคยอยู่ในวงการภาพยนตร์โฆษณาซึ่งเป็นชนชั้นกลาง) เหมือนไม่ยึดโยงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และดูจะมีอคติกับชนชั้นล่าง หรือชาวนา ผู้ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษามากนัก สังเกตได้จากโครงเรื่องที่ผูกขึ้น ทัศนคติต่อชนชั้นชาวนาหรือคนต่างจังหวัดในลักษณะนี้ เรามักจะพบได้บ่อยๆจากคนกรุงเทพ ถึงแม้คนคนนั้นจะมีพื้นเพมาจากต่างจังหวัดแล้วเข้ามาเรียน เข้ามาทำงานในเมืองหลวง หรือจะเกิดที่กรุงเทพก็ตาม ต่างก็มีทัศนคติลักษณะนี้คล้ายๆกัน ต่างกับ สวรรค์บ้านนา ปี2526 ที่ดูจะเข้าอกเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจชาวนา แรงงาน ที่ต้องจากบ้านมาทำงานในเมืองใหญ่มากกว่า
ผู้อ่านอาจจะเห็นแย้งในใจดังๆต่อผู้เขียนว่า หนังหรือภาพยนตร์ก็เป็นแต่เพียงเรื่องแต่ง ผู้สร้างอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยึดโยงกับความจริงมากนักก็ได้ แต่ถ้าเราลองสังเกตดูที่แนวของภาพยนตร์ สวรรค์บ้านนา ปี 2526 เป็นภาพยนตร์เพลง ซึ่งปกติจะสามารถใส่จินตนาการ เติมแต่งสีสันให้ห่างไกลความเป็นจริงได้มากกว่า กลับกัน ภาพยนตร์กึ่งสารคดีอย่าง สวรรค์บ้านนา ปี 2552 เรื่องราวทั้งหมด ดูจะห่างไกลและเหมือนจะตัดขาดกับยุคสมัยนั้นๆ เราจะรับรู้ได้เพียงภาพการประท้วงที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ก็เป็นภาพประกอบที่แสดงทัศนะของผู้กำกับที่มองว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะเป็นอย่างไร ความลำบากของชาวนาก็จะยังคงเดิม มีเพียงการทำนาที่ดูใกล้ความเป็นจริงที่สุด
parallel universe จักรวาลคู่ขนาน vanishing point ของ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และศิลปะ ในปี1986(พ.ศ.2526) เศรษฐกิจการเมืองในระดับโลกส่งผลอย่างชัดเจนต่อประเทศไทย ผลกระทบดังกล่าวถูกแสดงถึงในภาพยนตร์อย่าง สวรรค์บ้านนา เป็นเหมือนจุดในภาพที่เส้นขนานบรรจบกัน เป็น vanishing point ของการเมือง เศรษฐกิจ และผลงานศิลปะ ส่วน สวรรค์บ้านนา ปี พ.ศ.2552(ค.ศ.2009) เป็น parallel universe ของการเมืองไทยกับผลงาน ศิลปะ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดในวงการศิลปะกระแสหลักบ้านเรา ที่นำเสนอเพียงแต่ความงาม ความดี ความจริง ที่ดูจะขนานกันไปกับสภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมืองร่วมสมัยกัน ศิลปินและคนทำงานศิลปะวัฒนธรรมในบ้านเรา เหมือนอยู่บนโลกคู่ขนานกับคนในชาติ ที่ถูกทำให้ถดถอยตั้งแต่ รัฐประหารในปี 2549 (ค.ศ.2006) มาจนถึง รัฐประหารปี 2557(2014) ดูได้จาก สยามเมืองยิ้ม หัวข้อการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 9 ปี 2563 หรือ สุข สะพรั่ง พลังอาร์ต หรือ Beyond Bliss หัวข้อของ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 Bangkok Art Biennale
หรือเราจะลืมไปกันแล้วว่า ศิลปินอยู่เพื่ออะไร….ยืนยงเพื่อจรรโลงสิ่งไหน แต่ศิลปินกลับภาคภูมิในใจ…ที่ได้สร้างเพื่อมนุษยธรรม
เอกสารและภาพอ้างอิง
https://m.museumsiam.org/da-detail2.php?MID=3&CID=177&CONID=2797&SCID=242 https://books.google.co.th/books/about/Art_and_Its_Objects.html?id=NBmYGQDjM6sC&printsec=frontcover&source=kp_read_button&redir_esc=y#v=onepage&q&f=false https://db.sac.or.th/anthropologist/anthropologist/34 https://prachatai.com/journal/2018/04/76515 https://www.facebook.com/1218915061455151/photos/a.1920374477975869/2324870750859571/?type=1&theater https://www.google.com/search?q=%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%97+%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%94&tbm=isch&hl=en&ved=2ahUKEwj62oiThe_oAhXDHysKHYtvDQoQrNwCKAB6BAgBEDM&biw=1583&bih=789#imgrc=6yJfISZIJ7q08M